รบ.เพิ่มงบชดเชยเกษตร 5 เท่า สปสช.สั่ง รพ.ทุกแห่งรับบัตรทองชาวบ้านน้ำท่วม
(ข่าว) “สาทิตย์” แจงทุ่มเงินช่วยเหลือหลายทาง ตายได้ร่วมแสน พท.เกษตรเสียหาย 60 ล้านไร่ รบ.ตั้งงบ 1.2 หมื่นล้านชดเชยเกษตรทวีคูณ 4-5 เท่า ให้ ธกส.ส่งตรงถึงชาวบ้าน ด้าน สปสช.สั่ง รพ.ทั้งรัฐ-เอกชน ทุกแห่งรับบัตรทองผู้ประสบภัยเข้าใช้บริการใกล้บ้านได้ทุกแห่ง
‘สาทิตย์’ เผยขยายวงเงินชดเชยเกษตรกร 4-5 เท่า
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) และประธานกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธาณภัย สำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัยรัฐบาลมีหลายรูปแบบไม่ใช่เงิน 5,000 บาท นอกจากนี้ กรมป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ของกระทรวงมหาดไทย ยังมีระเบียบในการจ่าย กรณีมีผู้เสียชีวิตหากเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้เงินชดเชย 25,000 บาท และยังมีเงินช่วยเหลือครอบครัวอีก 25,000 บาท หากกรณีสมาชิกครอบครัวเสียชีวิตได้รับเงินชดเชย 25,000 บาท
“แต่ในส่วนของกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้นจ่ายเพิ่มให้อีกศพละ 50,000 บาท เมื่อรวมกับเงินเดิมที่ ปภ.มอบให้หัวหน้าครอบครัวที่เสียชีวิตจะได้ 1 แสนบาท ขณะที่สมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชย 75,000บาท ที่ จ.ลพบุรี เป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ดังนั้นในวันที่ 29 ตุลาคม จะเดินทางไป จ.ลพบุรี เพื่อมอบเงินช่วยเหลือให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต” นายสาทิตย์กล่าว และว่าขณะที่กระทรวงเกษตรฯ จะมีการชดเชยเยียวยาทรัพย์สินที่เสียหายไป เดิมได้ไร่ละประมาณ 600 บาท จะมีการเพิ่มกว่าเดิมถึง 4-5 เท่า และมาตรการนี้จะประกาศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
เผย 8 ขั้นตอนช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ผู้สื่อข่าว “มติชน” รายงานว่า จากการตรวจสอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของกระทรวงเกษตรกร และสหกรณ์ ที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.) พิจารณาในวันที่ 1 พฤศจิกายน พบว่ามีสาระสำคัญ 4 เรื่อง คือ 1.การกำหนดอัตราการช่วยเหลือด้านพืช ช่วยเหลือร้อยละ 55 ของต้นทุนการผลิตรวม แยกเป็นข้าว ไร่ละ 2,098 บาท พืชไร่ ไร่ละ 2,921 บาท และพืชสวนและอื่น ๆ ไร่ละ 4,904 บาท ส่วนด้านประมงและปศุสัตว์ ช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2552 ส่วนที่เกินจะช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปีกย่อย ช่วยเหลือครึ่งหนึ่งของความเสียหายจากเกณฑ์ปกติ ส่วนกรอบวงเงินช่วยเหลือรวมตั้งไว้ที่ 12,357.23 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านพืช 11,803.54 ล้านบาท ประมง 218.66 ล้านบาท ปศุสัตว์ 335.03 ล้านบาท
2.ช่วงเวลาการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัย จะนับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2553 เป็นต้นมา 3.กำหนดวิธีการขอรับการช่วยเหลือของเกษตรกรไว้ดังนี้ 3.1) เกษตรกรแจ้งขอรับการช่วยเหลือตามแบบยื่นความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (แบบ กษ 01) โดยให้จังหวัดประกาศระยะเวลายื่นแบบ กษ 01 3.2) ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน หรือประธาน อบต. ประจำท้องที่ลงชื่อรับรองความเสียหายในแบบ กษ. 01 เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริง 3.3) เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานประมงจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย ตรวจสอบกับทะเบียนการเกษตรของแต่ละหน่วยงาน
3.4) ประมวลผลตามแบบ กษ 02 และนำไปปิดประกาศในสถานที่ราชการ อบต. ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ไม่น้อยกว่า 3 วัน 3.5) เกษตรอำเภอ นำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ 3.6) เกษตรจังหวัด ประมงจังหวัด และปศุสัตว์จังหวัด นำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.อ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ 3.7) เกษตรจังหวัด ประมงจังหวัดและปศุสัตว์จังหวัด รวบรวมเอกสารหลักฐาน ส่งกรมต้นสังกัด และ 3.8) กรมต้นสังกัดขออนุมัติเงินงวดจากสำนักงบประมาณ กรณีที่ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินช่วยเหลือแล้ว หากได้รับอนุมัติงวดจะโอนเงินเข้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อโอนเข้าบัญชีเกษตรกร และ 4.ด้านหนี้สิน จะมีการพักชำระหนี้ให้แก่สมาชิกสถาบันเกษตรกร ตามแนวทางเดียวกับ ธ.ก.ส.
สปสช. ให้เหยื่อน้ำท่วม ใช้บัตรทอง รพ.ใกล้บ้านได้ทุกแห่ง
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สำหรับประชาชนผู้ประสบอุทกภัยที่ใช้สิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) สามารถรับบริการด้านสาธารณสุขจากหน่วยบริการในเครือข่ายที่อยู่ใกล้บ้านทุกแห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จากนั้นให้หน่วยบริการที่ให้บริการประชาชนที่ประสบอุทกภัยแล้วไปเรียกเก็บค่าบริการตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายกรณีอุบัติเหตุและเจ็บป่วยฉุกเฉิน จาก สปสช. ส่วนโรงพยาบาลนอกสังกัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่นโรงพยาบาลเอกชน หากมีประชาชนที่ประสบอุทกภัยและเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าไปใช้บริการด้วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขอให้ดำเนินการรักษาตามกระบวนการและส่งเรื่องเบิกจ่าย ไปที่ สปสช.
“สำหรับพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมนั้น ได้สั่งการไปยัง สปสช. เขต 4 สระบุรี และเขต 9 นครราชสีมา ซึ่งได้ร่วมกับโรงพยาบาลตั้งจุดประสานงานช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยบน้ำท่วมในเขตพื้นที่ และประสานงานทั้งโรงพยาบาลในและนอกสังกัดเตรียมพร้อมรับผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพในภาวะน้ำท่วมโดยเฉพาะที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ประสานโรงพยาบาลโคราชเมโมเรียล รพ.โกลเดนเกท รพ.นครราชสีมา รพ.ค่าสุรนารี และ รพ.กรุงเทพ-นครราชสีมา เตรียมพร้อมรับผู้ป่วยทุกกรณี โดยเฉพาะผู้ป่วยหนักที่จำเป็นต้องส่งต่อ รพ.มหาราชนครราชสีมา ให้นำส่งไปยังโรงพยาบาลที่ สปสช. ได้ประสานงานไว้แทน” นพ.วินัย กล่าว
ภาพประกอบ จาก http://www.thairath.co.th