สั่งห้าม!เฟซบุ๊กไลฟ์งานพระราชพิธีฯ
สั่งห้าม! เฟซบุ๊กไลฟ์งานพระราชพิธีฯ หวั่นควบคุมคุณภาพไม่ได้ พร้อมเปิด 5 เส้นทางเดินเท้าถึงสนามหลวง คาด 4 หมื่นคนได้เห็นริ้วขบวนบริเวณมณฑลพิธี
ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.สรรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วย พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสนเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย แถลงภายหลังการประชุมกองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (กอร.พระราชพิธีฯ)
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า การเตรียมการของคณะกรรมการทุกฝ่ายมีความพร้อมสมบูรณ์ 98-99% เหลืองเพียง 1-2% คือบางจุดที่ยังไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์บางอย่างได้ เพราะยังมีระยะเวลาเหลือประมาณ 2 สัปดาห์ ดังนั้นการติดตั้งอุปกรณ์บางส่วนก่อนอาจทำให้สี หรือความสวยงามลดลงได้
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ได้สรุปสาระสำคัญ 6 ประเด็นคือ
1.ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการเข้าปฏิบัติงาน ซึ่งจากผลการดำเนินการซักซ้อมริ้วขบวนในวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ถือว่ามีความพร้อมสมบูรณ์ ซึ่งจะมีการซักซ้อมริ้วขบวนอีกครั้งในวันที่ 15 ต.ค. การซ้อมใหญ่ในวันที่ 21 ต.ค. และวันงานพระราชพิธีจริงในวันที่ 26 ต.ค. โดยขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาระดับความพร้อมไว้จนถึงวันงานพระราชพิธีฯ
2.สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนดูแลรักษาความปลอดภัย โดยทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้กำหนดจุดเส้นทางต่างๆ ทั้งเส้นทางริ้วขบวน เส้นทางของประชาชนและเส้นทางขบวนเสด็จที่ต้องกำหนดจุดให้ชัดเจน
3.ข้อควรปฏิบัติของประชาชนและข้อแนะนำทั้งประชาชนและสื่อมวลชน ให้กรมประชาสัมพันธ์ประสานงานกับทุกภาคส่วนสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะการเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ตามพื้นที่ที่ตนเองอยู่ ซึ่งบรรยากาศในพื้นที่ต่างจังหวัดและกทม.จะเหมือนกัน หากใครจะเดินทางเข้ามาในกทม.ต้องรับทราบข้อมูลการเตรียมตัวในเรื่องการเดินทางและจุดจอดรถ
4.ในวันที่ 13 ต.ค. ให้ทุกส่วนราชการเตรียมความพร้อมจัดกิจกรรม เพราะเป็นวันคล้ายวันสวรรคต
5.ระบบการติดต่อสื่อสารทั้งในวันที่ 15 ต.ค. 21ต.ค. และวันที่ 26 ต.ค.นั้นจะมีหน่วยงานที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ท้องสนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ขอให้ทุกหน่วยช่วยตรวจสอบระบบการสื่อสารเพื่อให้บูรณาการการทำงานร่วมกัน มีความต่อเนื่องและสอดคล้องไม่เกิดอุปสรรค พร้อมทั้งต้องเตรียมแผนสำรองกรณีฉุกเฉินด้วย และ
6.ให้ทุกฝ่ายตั้งใจปฏิบัติภารกิจเพื่อถวายในหลวงร.9 และ ร.10 อย่างเต็มกำลังความสามารถ
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า มีพื้นที่ทั้งหมด 150,000 ตาราเมตร สามารถบรรจุคนได้กว่า 200,000 คน โดยจะมีประชาชนเพียง 40,000 คน ที่อยู่ในพื้นที่รอบในได้เห็นริ้วขบวนเพียงเล็กน้อย แบ่งเป็น พื้นที่ทางเท้าฝั่งตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ด้านถนนมหาราช ตั้งแต่แยกท่าช้างถึงท่าเตียนจุคนได้ประมาณ 6,500 คน พื้นที่ทางเท้าบริเวณถนนมหาราช ตั้งแต่แยกท่าเตียนถึงสามแยกเชตุพน ประมาณ 2,500 คน พื้นที่ทางเท้า ถนนราชดำเนินในฝั่งศาลฎีกา ตั้งแต่แยกหลักเมือง ถึงแยกสะพานผ่านพิภพ จุคนได้ประมาณ 15,500 คน พื้นที่ทางเท้า ถนนหน้าพระธาตุตั้งแต่แยกพระจันทร์ถึงหน้าโรงละครแห่งชาติประมาณ 6,000 คน ส่วนประชาชนที่เหลือได้ชมเพียงบรรยากาศรอบนอก
"ในเวลา 04.00 น. วันที่ 24 ต.ค.นี้ จะมีการเคลียร์ให้ประชาชนออกจากพื้นที่ เป็นการรักษาความปลอดภัยตามหลักสากล ส่วนวันที่ 25 ต.ค. เวลา 05.00 น.จะมีการเปิดให้คนเข้ามา ใครมาก่อนก็ให้เข้าก่อน และสามารถนั่งกับพื้นประจำจุดได้ถึงวันที่ 26 ต.ค. และจำไม่มีกางเต้นท์ ปูเสื่อนอน หากใครออกก่อนก็จะเสียสิทธิ์ ดังนั้น ขอให้ประชาชนเตรียมตัวให้พร้อม ทั้ง อาหาร เครื่องดื่ม ยาดม ยาหม่อง ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่แจ้งข้อมูลว่ามีประชาชนเข้ามาเท่าใดแล้ว และสามารถเติมประชาชนเข้าไปได้อีกเท่าไหร่ เพื่อประชาชนที่เฝ้าดูประมาณการณ์ว่าจะเดินทางมาหรือไปที่พระเมรุมาศจำลองที่เตรียมไว้" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
สำหรับข้อสงสัยกรณีที่สื่อสามารถถ่ายทอดริ้วขบวนพิธีทางเฟซบุ๊กไลฟ์ได้หรือไม่นั้น ถ้าเป็นประชาชนที่เฝ้ารับเสด็จฯ สามารถทำได้ รวมถึงถ่ายภาพนิ่งหรือถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ แต่ประชาชนก็คงทำได้ลำบาก เพราะบางพื้นที่มีการตัดสัญญาณโทรศัพท์เพื่อความปลอดภัย แต่ถ้าเป็นสื่อมวลชนที่อยู่บนอัฒจันทร์ ไม่สามารถเฟซบุ๊กไลฟ์ได้ โดยทำได้แค่ถ่ายภาพนิ่ง และถ่ายภาพเคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่แจ้งไว้ ถ้าต้องการภาพปัจจุบันที่เป็นเหตุการณ์สดสามารถทำได้วิธีเดียวคือการเกี่ยวสัญญาณของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเท่านั้น กรณีที่มีประชาชนเฟซบุ๊กไลฟ์แล้วสำนักข่าวต่างๆ ไปแชร์เฟซบุ๊กไลฟ์นั้นก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะการที่ต้องถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เนื่องจากไม่ต้องการให้ต่างคนต่างถ่าย ซึ่งจะควบคุมคุณภาพไม่ได้
ทั้งนี้จะไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนที่ไปทำหน้าที่อยู่นอกอัฒจันทร์ โดยสื่อมวลชนจะอยู่ได้แค่ 2 แห่งคืออัฒจันทร์ และศูนย์ประชุมม.ธรรมศาสตร์ ทั้งวันซักซ้อมวันที่ 15 ต.ค. ซ้อมใหญ่เสมือนจริงวันที่ 21 ต.ค. รวมถึงวันที่ 25-30 ต.ค.สื่อมวลชนต้องอยู่บนอัฒจันทร์ทั้งหมด อย่างไรก็ตามช่วงนี้ได้มีการปิดพื้นที่เพื่อทำความสะอาดและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ ส่วนจะมีการเปิดให้ประชาชนเข้ามาซึมซับบรรยากาศก่อนวันจริงได้หรือไม่นั้น ทาง กอร.พระราชพิธีฯ จะมีการหารือกันอีกครั้ง
ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ ชี้แจงถึงเส้นทางทางที่ประชาชนสามารถเดินทางมาเข้าร่วมในพระราชพิธีฯ ว่า บริเวณโดยรอบพระราชพิธีฯ จะมีการปิดการจราจร ตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. เวลา 05.00 น. ตั้งแต่ถนนราชดำเนินนอก ราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินใน โดยทิศเหนือ จะปิดการจราจรตั้งแต่ แยกลานพระราชวังดุสิต ทิศใต้ตั้งแต่แยกปากคลองตลาด หน้าสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง ทิศตะวันออกตั้งแต่แยกสะพานขาว ถนนหลานหลวง และทิศตะวันตกตั้งแต่แยะอรุณอมรินทร์ ถนนบรมราชชนนี บริเวณทั้งหมดนี้จะไม่อนุญาตให้ประชาชนนำรถเข้ามา ยกเว้นขบวนเสด็จ ขบวนอาคันตุกะ ขบวนเจ้าหน้าที่เส้นทางฉุกเฉิน
ทั้งนี้ประชาชนสามารถเดินเท้าเข้ามาในพื้นที่ได้ 3 ช่องทาง 1.ประชาชนที่เดินทางมาโดยรถยนต์ส่วนตัว สามารถนำไปจอดในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ 13 แห่ง รอบกรุงเทพมหานคร ทิศเหนือ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, เมืองทองธานี , ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ สนามธูปเตมีย์ สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี ทิศใต้ เซ็นทรัล ศาลายา เซ็นทรัล พระราม 2 ทิศตะวันออก เมกาบางนา ไบเทค บางนา และอิเกียร์ บางนา และทิศตะวันตก เซ็นทรัล เวสเกต บางบัวทอง ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถรองรับรถยนต์กว่า 3 หมื่นคัน และจะมีรถชัทเติลบัส ของ ขสมก. มารอรับที่จุดดังกล่าว นำเข้าไปในพื้นที่ ที่ปิดการจราจรที่กำหนดไว้ทั้ง 5 จุด 1. สนามม้านางเลิ้ง 2.บ้านมนังศิลา 3.สน.พระราชวัง4.แยกอรุณอัมรินทร์ และ 5.แยกวิสุทธิกษัตริย์ จากนั้นประชาชนจะต้องเดินเท้าเข้ามาในพื้นที่พระราชพิธีฯ
สำหรับประชาชนที่เดินทางมาเป็นหมู่คณะด้วยรถตู้ หรือรถบัส สามารถนำประชาชนมาส่งได้ที่ 5 จุดพื้นที่ที่ปิดการจราจรได้เช่นกัน และ นำรถของท่านไปจอดย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งเราได้จัดพื้นที่จอดรถไว้ 7 แห่ง ประกอบด้วย พุทธมณฑล สาย 1- สาย 4 ,ถนนกาญจนาภิเษก ,ถนนแยกไฟฉาย ตัด กาญจนาภิเษก สามารถรองรับรถบัสได้ 3,400 คน
พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า เส้นทางที่ 2 ประชาชนที่เดินทางมาโดยรถไฟ ทางทิศเหนือ สถานีรถไฟอยุธยา ,ทิศตะวันออก สถานีรถไฟฉะเชิงเทรา โดยจะมาลงที่สถานี ยมราช ก่อนเดินเท้าเข้ามาในงานพระราชพิธีฯส่วนทิศใต้ สถานีรถไฟนครปฐม จะมาลงที่สถานีรถไฟธนบุรี โดยประชาชนสามารถเดินเท้าข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า หรือนั่งเรือข้ามฝาก เข้ามาในพื้นที่พระราชพิธีฯ ทั้งนี้ทางการรถไฟจะจัดที่จอดรถให้กับประชาชน ที่นำรถส่วนตัวมาจอดที่สถานีก่อนขึ้นรถไฟเข้ามาในกทม. ส่วนประชาชนที่เดินทางมาทางรถไฟฟ้า บีทีเอส จะมีรถชัทเติลบัส มารับสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ สถานีรถไฟฟ้าบางว้า สถานีรถไฟฟ้าบางใหญ่ และนำมาส่งในพื้นที่ที่ปิดการจราจร 5 จุดเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ประชาชนที่เดินทางมาทางเรือ ทางแม่น้ำเจ้าพระยา จะต้องลงท่าเรือปิ่นเกล้า และท่าเรือ ยอดพิมาน เท่านั้น ก่อนเดินเท้าเข้ามาในงานพระราชพิธีฯ ส่วนประชาชนที่เดินทางผ่านคลองแสนแสบ ขึ้นที่ท่าเรือผ่านฟ้า และคลองผดุงกรุงเกษม ขึ้นที่ท่าเรือมัฆวาน และท่าเรือเทเวศร์ ก่อนจะเดินเท้าเข้ามาเช่นกัน ภายในบริเวณพิธีฯ ที่ปิดการจราจร มีการจัดแบ่งพื้นที่ไว้เป็นระเบียบเพื่อป้องกันการสับสน โดย เส้นทางเสด็จ เส้นทางเดินของประชาชน และเส้นทางฉุกเฉิน
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของเส้นทางสายสำคัญ ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่ลานพระราชวังดุสิต ถนนสายกลาง จะเป็นถนนสำหรับขบวนเสด็จ ถนนคู่ขนานฝั่งขาวมือ ที่ติดกับกระทรวงศึกษาเป็นถนนของประชาชนที่ใช้เดิน ถนนคู่ขนานฝั่งซ้ายมือ ที่ติดกับทำเนียบรัฐบาล เป็นเส้นทางส่งกลับกรณีฉุกเฉิน จะเป็นเช่นนี้ไปถึง สะพานแยกผ่านฟ้า และจากแยกสะพานผ่านฟ้าจนถึงแยกผ่านพิภพ ถนนจะแบ่งออกเป็น 3 ลำดับ ตามความเร่งด่วนเช่นกัน แต่ช่องการจราจร ที่อยู่ฝั่งซ้ายมือ จะเป็นเส้นทางขบวนเสด็จ ส่วนทางขวามือแบ่งเป็น 2 เลน คือ เลนขวาสุดเป็นช่องทางของประชาชน เลนซ้าย เป็นเส้นทางส่งกลับฉุกเฉิน จึงขอให้ประชาชนใช้ช่องทางตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ
พล.ต.อ.เดชณรงค์ กล่าวต่อว่า ทางพล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ทางประทรวงคมนาคม ไปจัดทำป้ายบอกทิศทาง จาก 5 จุดที่ต้องลงเดิน จนถึงที่หมาย โดยตลอดเส้นทางจะมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
ขณะที่ นายนิสิต กล่าวว่า เราได้มีการนำแนวนโยบายของกองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด อำนวยความสะดวกประชาชนที่จะมาร่วมงานพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้ ในเรื่องความปลอดภัย จุดจอดรถ อาหาร และน้ำดื่ม โดยสถานที่ถวายดอกไม้จันทน์ทั่วทุกภูมิภาคมีทั้งหมด 878 จุด แบ่งเป็น พระเมรุมาศจำลอง 76 แห่ง ดำเนินการแล้ว 95% คาดว่าจะแล้วเสร็จทั่วประเทศ 15 ตุลาคม ขณะที่ซุ้มวางดอกไม้จันทน์ 802 จุด โดยทุกจุดจะมีการติดตั้งจอแอลอีดีขนาดใหญ่เพื่อให้เห็นภาพประวัติศาสตร์เหมือนเหตุการณ์จริง ทั้งนี้ ทางกระทรวงมหาดไทยได้เปิดให้จังหวัดต่างๆ ทำดอกไม้จันทน์ รวมทุกจังหวัด จำนวน 61 ล้านดอก
นอกจากนี้ ได้มีปรับภูมิทัศน์ปลูกดอกดาวเรืองในสถานที่สำคัญของทางราชการ และโดยรอบพระเมรุมาศจำลอง โดยแต่ละจังหวัดได้เตรียมการเก็บภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเพื่อทำสมุดภาพประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ภาพรวมการเตรียมการในแต่ละจังหวัดไม่พบปัญหาใด