สปสช.หนุนพัฒนา “ต้นแบบ รพ.แพทย์แผนไทย” ตาม รธน. ปี 60
สปสช.จัดประชุมเตรียมความพร้อม “33 หน่วยบริการ ต้นแบบบริการการแพทย์แผนไทย” จัดสรรงบสนับสนุนครั้งแรก ปี 61 กว่า 56 ล้านบาท มุ่งพัฒนาระบบบริการการแพทย์แผนไทยและสร้างเครือข่ายหน่วยบริการ ส่งเสริมพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของประเทศตาม รธน.ปี 2560
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นพ.พินิจ หิรัญโชติ ประธานคณะทำงานพัฒนาประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงและเตรียมความพร้อมหน่วยบริการต้นแบบการบริการการแพทย์แผนไทย ปีงบประมาณ 2561 โดยมีผู้แทนจากหน่วยบริการ เป้าหมาย จำนวน 33 แห่งจากทั่วประเทศ รวมทั้งในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้แทนกรมการแพทย์แผนไทย และ คณะทำงานฯ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง
นพ.พินิจ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในมาตรา 55 ระบุให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด และในวรรค 2 ยังกำหนดบริการสาธารณสุขครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และป้องกันโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสุขภาพ และในวรรค 3 กำหนดให้รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่มาของการยกระดับการบริการแพทย์แผนไทยเพื่อให้มีคุณภาพและมาตรฐานเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ในปีงบประมาณ 2561 สปสช.ได้จัดสรรงบค่าบริการแพทย์แพทย์แผนไทย จำนวน 566,533,170 บาท หรือ 11.61 บาทต่อประชากร ซึ่งนอกจากจัดสรรตามหลักเกณฑ์ศักยภาพ อาทิ หน่วยบริการที่มีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไทยจำนวน 226,613,268 บาท หรือร้อยละ 40 และ หลักเกณฑ์ผลงาน อาทิ การวินิจฉัยโรคแผนไทย กรรมวิธีแผนไทย เช่น นวด อบ ประคบ และยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวน 283,266,585 บาท หรือร้อยละ 50 เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาแล้ว ในปี 2561 ยังได้แยกจัดสรรงบประมาณจำนวน 56,653,317 บาท หรือร้อยละ 10 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานหน่วยบริการต้นแบบหรือโรงพยาบาล (รพ.) ในระดับต่างๆ การบริการแพทย์แผนไทย โดยการสร้างเครือข่ายหน่วยบริการการแพทย์แผนไทย ให้เป็นทางเลือกบริการสุขภาพให้กับประชาชน ได้อย่างแท้จริง พร้อมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงด้านภูมิปัญญาไทยและเศรษฐกิจประเทศ อย่างยั่งยืน
“นับเป็นครั้งแรกภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้มีการแยกงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดหน่วยบริการต้นแบบด้านการแพทย์แผนไทย เบื้องต้นมีหน่วยบริการที่ได้รับการคัดเลือกและสมัครใจเข้าร่วม 33 แห่ง เพื่อนำร่องการจัดบริการการแพทย์แผนไทยอย่างเป็นระบบ และในการประชุมชี้แจงและเตรียมความพร้อมหน่วยบริการต้นแบบการบริการแพทย์แผนไทยในวันนี้ ยังนับเป็นความร่วมมือที่สำคัญเพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่าย ร่วมคิดร่วมทำ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการแพทย์แผนไทยของประเทศไทยต่อไป”
พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สปสช. กล่าวว่า หน่วยบริการต้นแบบบริการการแพทย์แผนไทยที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เป็นหน่วยบริการที่มุ่งมั่นจะยกระดับศักยภาพการบริการแพทย์แผนไทย ทั้งในด้านโครงสร้างบริการจัดการ แม่ข่าย-ลูกข่าย, มีบุคลากรแพทย์แผนไทย, ด้านระบบการจัดการ, มีผลงานเด่นหรือนวตกรรมด้านการแพทย์แผนไทย และมีการจัดทำแผนพัฒนาการจัดบริการ ให้ครอบคลุมอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง ในปี 2561 นี้
ซึ่งหน่วยบริการที่เข้าร่วมต้องดำเนินการตามเกณฑ์ที่กำหนด 5 ข้อ คือ 1.ผ่านเกณฑ์บริการด้านการแพทย์แผนไทย หรือหน่วยบริการร่วมให้บริการด้านแพทย์แผนไทย 2.การจัดระบบบริการแพทย์แผนไทย อาทิ การมีบุคลากรที่ได้รับใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย/แพทย์แผนไทยประยุกต์ ซึ่งทำงานร่วมกันเป็นทีมกับสหสาขาวิชาชีพ, มีบริการครอบคลุมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รักษาพยาบาลและฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ตามมาตรฐานวิชาชีพ และมีการจัดบริการทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และบริการที่บ้านหรือในชุน 3.ระบบบริหารจัดการ โดยมีการแยกโครงสร้างการบริหารจัดการที่ชัดเจน มีการจัดทำแนวทางการประสานงานในทีมสหวิชาชีพและผู้เกี่ยวข้อง, มีการจัดการเป็นเครือข่ายหน่วยบริการที่มีแนวทางสนับสนุนการจัดบริการและจัดสรรทรัพยากรร่วมกัน
และ 4.ระบบวิชาการและสนับสนุน มีการจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติ มีระบบให้คำปรึกษาในทีมแพทย์แผนไทย/แผนไทยประยุกต์ และระหว่างสาขาวิชาชีพ ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ร่วมกันให้บริการ, มีระบบการบันทึกเวชระเบียนและบันทึก/ส่งข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาระบบบริการ