9 ปิดตา เปิดใจ นิทรรศการภาพถ่ายจากฝีมือคนตาบอด บอกเล่าศักยภาพที่มากว่าคุณคิด
“งานช่วยผู้พิการนี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าผู้พิการไม่ได้เป็นผู้อยากจะพิการและอยากช่วยตัวเอง ถ้าเราไม่ช่วยเขาให้สามารถที่จะปฏิบัติงานอะไรเพื่อชีวิต และมีเศรษฐกิจของครอบครัว จะทำให้เกิดสิ่งที่หน้าในครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้นนโยบายที่จะทำก็คือ ช่วยเขาให้ช่วยตัวเองได้เพื่อจะให้สามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9
คุณคิดว่าคนตาบอดทำอาชีพอะไรได้บ้าง
เชื่อเหลือเกินว่าถ้าเราเจอคำถามนี้ แน่นอนอาชีพแรกที่แว็บเข้ามาให้หัวของเราคือ คนขายล็อตเตอรี่ อันดับสองคือ วณิพก
แล้วถ้าหากบอกว่า พวกเขาถ่ายรูปเป็น และกำลังมีนิทรรศการอยู่ในกลางสยาม มีใครบ้างจะเชื่อ และคงเกินจินตนาการของเราอีกเช่นกัน หากบอกว่า พวกเขาสามารถออกแบบผ้ามัดย้อมได้ด้วย
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือสิ่งที่ "นพดล ปัญญาวุฒิไกร" ประธานกลุ่มถ่ายภาพเพื่อการแบ่งปัน PICT4ALL.com และผู้ดูเเลโครงการหัวใจถ่ายภาพ ได้เล่าให้เราฟังถึงโครงการที่ดำเนินมาเข้าปีที่ 7 แล้ว
นพดล อธิบายว่า นิทรรศการครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองต่อเนื่องจากปี 2558 ที่คอนเซ็ปต์ในตอนนั้นคือ รูปที่มีทุกบ้าน และสำหรับรอบนี้กลับมาอีกครั้ง พร้อมข่าวร้ายของคนไทยทั้งประเทศ จึงเป็นที่มาของนิทรรศการว่า ยิ้มสู้ พอเพียงมีสุข เป็นการถอดรหัสหลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จจากไปแล้ว พวกเราควรจะตอบคำถามตัวเองยังไง ในส่วนของครูอาสา หัวใจถ่ายภาพ เราก็มีตกผลึกกันว่า สิ่งที่เราทำมาตลอด 7 ปี เราเดินตามพระราชดำรัสของพระองค์ที่ว่า “ทำอย่างไรให้คนพิการช่วยตัวเองได้ ไม่เป็นภาระหนักของสังคม” ตอนปี 2555 ที่ท่านมีพระราชดำรัสกับทางองคมนตรี ตอนที่ท่านประชวรหนักที่รพ.ศิริราช ท่านทรงเป็นห่วงการศึกษาของเยาวชน เราเอาสองอย่างมารวมกัน คิดว่าต้องเน้นการศึกษา และทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตในอนาคต เลยเป็นที่มาของธีมในปีนี้
นับหนึ่งให้ถึงร้อย
นพดล เล่าถึงไอเดียในการทำงานสำหรับโปรเจ็คนี้ว่า ทำอย่างไรให้เขาสู้ ช่วยตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของสังคม และต้องกลับมาตอบแทนสังคมประเทศชาติด้วย ที่สำคัญต้องรู้จักความพอเพียง เพราะว่าในกระแสสังคมปัจจุบันที่เป็นกระแสบริโภค เขาจะฝ่ากระแสนี้ไปอย่างไร ขณะที่มีความสุขอยู่
ตอนปี 2559 ถือเป็นปีที่ทดลอง ที่นพดล บอกว่ามีไว้เพื่อเตรียมตัวให้เกิดความพร้อมในกระบวนการสอน พอปี 2560 ก็เริ่มกระบวนการเต็มรูปแบบ และเลือกโรงเรียนต้นแบบ โดยครั้งนี้ทางทีมงานเลือกโรงเรียนมาสามแห่งคนละภาคอย่างโรงเรียนสอนคนตาบอด สันติจินตนา อ.เด่นชัย จ.แพร่ อาศัยว่าโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเล็กๆ ซึ่งการสนับสนุนจะน้อยกว่าโรงเรียนสอนคนตาบอดอื่นๆ อีกโรงเรียนหนึ่ง คือ โรงเรียนธรรมิกวิทยาอ. เขาย้อย จ.เพชรบุรี ที่สมเด็จพระเทพฯ มีพระราชดำริว่า จะให้สอนวิทยาศาสตร์เด็กตาบอด และอีกโรงเรียนคือ ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน สามแห่งนี้คือโมเดลในการทำกระบวนการตรงนี้ขึ้นมา
หนึ่ง สอง สาม ช้ตเตอร์ ปลุกความใฝ่รู้
นพดล เล่าให้ฟังถึงตอนเริ่มต้นของโครงการ เขาบอกว่าตอนนั้นที่ใช้กระบวนการถ่ายภาพ เด็กตาบอดก็ได้เห็นคุณค่าของตัวเอง แต่ว่าไม่จบแค่นั้น เรามองว่าสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าเราบอกว่าเรามีความสุขเพราะกล้องถ่ายภาพ เราก็อยู่ใต้มัน ทำอย่างไร ให้เราอยู่เหนือกล้องถ่ายภาพ ก็คือการเอามาใช้เป็นเครื่องมือ กิจกรรมถ่ายภาพเป็นเพียงเครื่องมือที่กระตุ้นให้พวกเขาอยากเรียนรู้ และใช้การถ่ายภาพเป็นบันทึกการเรียนรู้ของเขา
เช่นกรณีภาพนิทรรศการที่แสดงในปีนี้ เป็นฝีมือเด็กอายุ 8-10ปี
"พอถ่ายรูปเป็น ก็พาออกไปเจอชุมชน ไปเรียนรู้ว่าทำไมสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงสำคัญของคนไทย ทำไมทุกคนรักในหลวง ให้พวกเราเรียนรู้ จากประสบการณ์ชีวิตจริง ทำให้เขาได้มีโอกาสเข้าสังคม ฝึกจับใจความ เพื่อนำมาเขียนเรียงความของตัวเอง เขาจะฝึกการทบทวน การสรุป และหัดเขียน ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้"
ส่วนการทำผ้ามัดย้อม นพดลอธิบายว่า ได้มีการแยกเป็นสองระดับ ในโรงเรียนของธรรมิกวิทยาและสันติจินตนา จะอาศัยศิลปะทำให้เกิดความสนุก เพราะเด็กจะเรียนรู้ได้ดีต้องมีความสุขมาเกี่ยวข้อง การเรียนผ้ามัดย้อม เป็นการพัฒนากล้ามมือเด็ก ผ่านการมัด การจับ และเรียนรู้รูปทรงเลขาคณิต
ส่วนศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน สอนเพื่อให้เกิดอาชีพใหม่ เพราะหากถอดพระราชดำรัสที่ว่าไม่ให้เป็นภาระของสังคม ดังนั้นพวกเขาต้องมีอาชีพ
“ตอนนี้เวลาพูดถึงคนตาบอดเรามักนึกถึง ขายลอตเตอรี่ ร้องเพลง วณิพก มีอยู่แค่นี้ ไม่ได้มีความหลากหลาย ที่สังคมจะเห็นความสามารถของพวกเขา เราเลือกมัดย้อมให้กับที่สามพราน เวลาเราสอนถ่ายภาพ สังคมก็ทึ่งว่าทำได้ยังไง เพราะทักษะถ่ายภาพต้องมองเห็น แต่พอเป็นมัดย้อมเขาไปไกลถึงออกแบบลายผ้าเอง ไม่ใช่มามัดมั่วๆ เขาคิดธีม หัวข้อ ว่าจะออกแบบลวดลายยังไง
ยกตัวอย่างเช่น ลายที่ตบแต่งนิทรรศการ เรากำหนดว่าเป็นความสุข ของลายความสุข เขาก็จินตนาการว่าตัวแทนของความสุข คืออะไร ดวงอาทิตย์ ดอกไม้ ท้องฟ้า นก เขาก็มัดให้ออกมา นอกจากนี้มีองค์ประกอบ ถ้าผ้าเป็นผืนภาพ จะจัดวางยังไง นี่คือจินตนาการของพวกเขา” นพดลเล่าด้วยรอยยิ้ม
ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ
ใช่แล้ว ทุกอย่างเป็นไปได้ ถ้ามีกระบวนการที่เหมาะสมและเปิดพื้นที่ให้กับเขา และยอมรับเขา นี่คือสิ่งที่นพดลย้ำเสมอ
เขาบอกว่าในส่วนของเด็ก เราคิดว่าเรามาถูกทางมากขึ้น เพราะว่าเรายึดเด็กจากพระราขดำรัสที่ให้ไว้ ท่านบอกทำอย่างไร ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู เพราะฉะนั้นเรายึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เราจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็ก อย่างที่เด่นชัย เราจะลงวิชาการมากไม่ได้ เพราะทักษะการเรียนรู้พื้นฐานน้อยมาก เพราะฉะนั้น เราก็ลงเป็นวิทยาศาสตร์เบื้องหลังความอร่อย สอนวิทยาศาสตร์ผ่านการทำอาหาร หมายความว่าเขาจะได้เรียนรู้เรื่องเลข ต้องไปจ่ายตลาดเอง คำนวนว่าต้องซื้อผักเท่าไหร่ น้ำหนักเท่าไร จ่ายเงินยังไง และมาลงมือทำเอง กลายเป็นว่า มีทักษะประกอบอาหาร
“เด็กก็ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขารัก เขาชอบ และกระบวนการเราใส่เนื้อหาที่เหมาะสม ตอนนี้ทักษะและแนวทางของเด็กชัดเจนเเล้ว” นพดล กล่าว
ในส่วนของครอบครัว เขา มองว่าสิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือที่สามพราน เมื่อบ่มเพาะทักษะมัดย้อมจนชำนาญก็หมายความว่า เขาสามารถแบ่งเบาภาระของครอบครัวไปได้ จากงาน ถ้าเราสามารถจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ได้ รายได้ส่วนหนึ่งกลับไปที่ศูนย์ และอีกส่วนไปที่เด็ก อีกส่วนตั้งเป็นทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป ระยะยาวส่วนตัวเด็กมีความสุขมาก ลงไปมอบหมายงาน แป๊บเดียวทำเสร็จหมด รับผิดชอบ ตั้งใจขนาดที่ว่าไม่ให้เราแทรกแซง นั่งเงียบขนาดที่ว่า เราถามจะให้ช่วยไหม เขาบอก ครูขอหนูคิดก่อน พอคิดได้ เขาลงมือรวดเดียว จบ
ทางต่อไป หลังเสียงชัตเตอร์
นพดล เล่าถึงเป้าหมายต่อไปในการพัฒนาศักยภาพของเด็กตาบอด เขามองว่าในส่วนกรณีเด็กสายสามัญที่ เพชรบุรี กับที่เด่นชัย หวังว่าในกระบวนที่เราสอนวิทยาศาสตร์แม้เด็กจะไม่ได้เรียนต่อ หนึ่งสิ่งที่เขาได้คือทักษะกระบวนการคิด กระบวนการการตัดสินใจจากข้อเท็จจริง ไม่ใช่ฟังมาเเล้วเชื่อ มีการหาหลักฐานในการสนับสนุนข้อพิสูจน์ เป็นคุณค่าที่มหาศาลมาก เราสอดแทรกเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ควบคู่กับคุณธรรม เราคิดว่ากระบวนการนี้เรามาถูกทาง
ในกรณีสามพรานเหมือนกัน เราใส่ คุณธรรมเข้าไป การที่เขาลงมือลงเเรงทำ รายได้ส่วนหนึ่งต้องมาสนับสนุน ศูนย์ที่ให้พวกเขาได้เรียน กินอยู่ เพื่อลดค่าใช้จ่าย และอีกอย่างเขาต้องมุ่งมั่นที่จะกลับไปช่วยเหลือครอบครัว
คงจริงอย่างที่ใครหลายคนบอกไว้ว่า เอาเข้าจริงเเล้วคนที่บกพร่องทางร่างกายพวกเขาไม่ได้พิการหรอก หากแต่พวกเราต่างหากที่ทำให้เขาพิการ และคงจะดีกว่าได้ปลุกและดึงศักยภาพที่พวกเขามี ออกมา อย่างที่นพดลบอกว่า สิ่งสำคัญคือต้องทำให้พวกเขาอยู่ได้ มีความสุขและไม่เป็นภาระสังคม สังคมก็ต้องช่วยกัน
นิทรรศการ 9 ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส ยิ้มสู้ พอเพียงมีสุข จะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม ที่ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร