“ยิ่งลักษณ์” ย้ำ เม.ย.ผู้ป่วยฉุกเฉินใช้บัตร ปชช.เข้าได้ทุก รพ.- 3กองทุนนิยาม “ฉุกเฉิน”
“ยิ่งลักษณ์” ย้ำบริการแพทย์ฉุกเฉินทุก รพ.เมษานี้ พร้อมรับข้อเสนอพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3 กองทุนออกเคลียร์นิยาม “ผู้ป่วยฉุกเฉิน”
วันที่ 21-22 มี.ค. 55 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรภาคีต่างๆ จัดประชุมวิชาการ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทศวรรษที่สอง” มีการนำเสนอรายงานประเมินผลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยในช่วงทศวรรษแรก (พ.ศ. 2544-2553) จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศร่วมกับคณะวิจัยไทย พบว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นและครอบคลุมคนไทย 47 ล้านคน ช่วยลดภาระรายจ่ายด้านสุขภาพคนจนได้มากถึง 76,667 ครัวเรือน
และมีการนำเสนอ 8 แนวทางพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทศวรรษใหม่ให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดย นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) กล่าวว่าได้แก่ 1.พัฒนาความเข้มแข็งกลไกอภิบาลระบบ เน้นการมีส่วนร่วมภาคส่วนต่างๆ 2.พัฒนาให้เกิดพันธมิตรการทำงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) 3.แก้ไขปัญหาการกระจายบุคลากร 4.พัฒนาความเข้มแข็งกลไกซื้อบริการระดับพื้นที่ 5.พัฒนาความเข้มแข็งเครือข่ายระบบบริการสาธารณสุขระดับอำเภอ 6.ปรับปรุงประสิทธิภาพสารสนเทศกำกับติดตามผลการงานตามระบบ 7.ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนประกันสุขภาพ โดยกำหนดชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐานระบบข้อมูลและการจ่ายเงินมาตรฐานเดียวกัน 8.พัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคปฐมภูมิโดยเฉพาะโรคเรื้อรัง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังรับมอบข้อเสนอว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน คือการพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ต่อเนื่องครอบคลุมประชาชนมากขึ้น โดยจะเริ่มดำเนินการในบริการการแพทย์ฉุกเฉินก่อนภายใน เม.ย.55 นี้ ซึ่งประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับริการได้ทุกโรงพยาบาล โดยไม่มีการถามสิทธิ และไม่ต้องสำรองจ่าย ตลอดจนขยายขอบเขตการดูแลค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยโรคไตและผู้ติดเชื้อเอชไอวี เด็กแรกเกิด คนชรา ผู้พิการ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น
“ยังมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงถึง 271,000 ล้านบาท/ปี เช่น กำหนดราคากลาง จัดซื้อยารวม พัฒนาระบบการสร้างสุขภาพ โดยให้ สสส. สปสช. และ สธ.ร่วมกำหนดเป้าหมายและบูรณาการทำงานร่วมกัน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดบริการสร้างสุขภาพร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับอำเภอ ส่งเสริมให้คนไทยทุกคนมีหมอประจำครอบครัวมียาดีเพียงพอ ไม่ต้องรอรักษานาน มีการจัดการโรคเรื้อรังโดยการป้องกันและดูแลต่อเนื่อง ทั้งนี้รัฐบาลจะเร่งรัดให้เกิดผลโดยเร็ว”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การใช้สิทธิ์เจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งเป็นหนึ่งในมติลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสุขภาพ(กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ) ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 เม.ย.นี้ ได้นิยามคำว่า “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” คือ “เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ โรค หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ สมอง ทางเดินหายใจ ซึ่งต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที”
สำหรับอาการฉุกเฉิน ได้แก่ 1.หอบหืดขั้นรุนแรง 2.มีอาการเขียวคล้ำของปาก เล็บมือ ไม่รู้สึกตัว 3.มีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลมทั้งหมด 4.อุบัติเหตุรุนแรงบริเวณใบหน้า ลำคอ 5.มีเลือดออกมาก 6.ภาวะช็อคจากการเสียเลือดหรือขาดน้ำรุนแรง 7.แขน ขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด 8.ภาวะหัวใจหยุดเต้น 9.ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว 10.มีไข้สูงกว่า 40องศาเซลเซียส 11.ถูกสารพิษหรือสัตว์มีพิษกัด 12.ได้รับยามากเกินขนาด 13.สุนัขกัดบริเวณใบหน้าหรือลำคอ .
ที่มาภาพ : http://www.disaster.go.th/dpm/index.php?option=com_content&task=view&id=7424&Itemid=257