กางปฏิทินส่ง 3 กม.ลูกให้สนช.
กรธ.วางปฏิทินทยอยส่งร่างกม.ลูกที่เหลือ 3 ฉบับ ให้สนช. ชงเซ็ตซีโร่ ป.ป.ช.
วันที่ 4 ต.ค. 2560 นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่ากรธ.เตรียมส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 21 พ.ย.นี้ และคาดว่า สนช.จะบรรจุระเบียบวาระเพื่อลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ในวันที่ 23 พ.ย. จากนั้น จะส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้กับสนช.ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ และสนช.จะนัดประชุมรับหลักการในวาระที่ 1 วันที่ 30 พ.ย.นี้ ซึ่งกำหนดการเหล่านี้ กรธ.ได้ประสานงานกับ สนช.ไว้เบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว
ส่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) นั้นกรธ.ได้พิจารณาเรียงรายมาตราเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีจำนวน 188 มาตรา แบ่งออกเป็น 11 หมวด และบทเฉพาะกาล ซึ่งจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปยัง ป.ป.ช.ภายในวันที่ 5 ต.ค. เพื่อให้พิจารณาในรายละเอียด และส่งความเห็นกลับมายัง กรธ.ภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนที่ กรธ.จะส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวให้ สนช. ภายในวันที่ 24 ต.ค.ต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว คือ การมุ่งเน้นให้ป.ป.ช.ทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามเป็นหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ส่วนคดีในลักษณะประพฤติมิชอบ เช่น การกระทำผิดวินัยหรือจริยธรรม ป.ป.ช.จะไม่เข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบเอง โดยหากป.ป.ช.พบข้อเท็จจริงก็สามารถส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบต่อไปได้ ทั้งนี้ เพื่อลดจำนวนคดีที่ค้างอยู่ในระบบของป.ป.ช.ให้มีจำนวนน้อยลง นอกจากนี้ กรธ.ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานป.ป.ช.ภาค ไม่เกิน 12 ภาคทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแล ป.ป.ช.จังหวัด รวมไปถึงการทำหน้าที่ไต่สวนที่ได้รับมอบหมายจากป.ป.ช.ส่วนกลาง
ขณะที่การดำรงอยู่ของกรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันนั้น กรธ.ได้วางหลักว่า จะพิจารณาคุณสมบัติเป็นหลัก หากกรรมการป.ป.ช.คนใดมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ แต่หากใครมีคุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จะต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยกระบวนการในการพิจารณากรณีดังกล่าวจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสรรหา ภายใน 20 วัน จากนั้น คณะกรรมการสรรหาจะทำหน้าที่ในการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้เสร็จภายใน 15 วัน