บิ๊กตู่พบนักธุรกิจสหรัฐ ยันคนไทย90%ไม่เดือดร้อนรัฐประหาร
“บิ๊กตู่” พบนักธุรกิจสหรัฐอเมริกา เผยไทยพร้อมร่วมมือทางเศรษฐกิจกับหุ้นส่วนต่างชาติ ย้ำประกาศวันเลือกตั้งปีหน้า ยันคนไทย90%ไม่เดือดร้อนรัฐประหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 3 ต.ค. 2560 ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางเยือนสหรัฐฯระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 60 ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงในอาหารค่ำ ซึ่งสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน(USABC) และสภาหอการค้าสหรัฐอเมริกา(U.S. Chamber of Commerce) เป็นเจ้าภาพ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความมั่นคงและเสถียรภาพของไทยมีผลต่อพัฒนาการและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองในภาพรวมของประเทศ ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญกับการผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับหุ้นส่วนต่างชาติ รวมทั้งมีนโยบายและแนวทางเพื่อวางพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง และเตรียมความพร้อมของไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำความสัมพันธ์ยาวนานระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีอย่างรอบด้าน โดยความสัมพันธ์ทางธุรกิจการค้า การลงทุนระหว่างสองประเทศ มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจระหว่างกันทั้งในเชิงภาพรวมและระดับประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และความกินดีอยู่ดีของชาวอเมริกัน รวมถึงการสร้างงาน
นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงการหารือกับประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งได้เน้นย้ำความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนระหว่างสองประเทศ และจะส่งเสริมความร่วมมือกันในอนาคตต่อไป ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง ซึ่งเป็นเสาหลักที่ค้ำชูความเป็นพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค ในประเด็นเศรษฐกิจ ไทยและสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ประธานาธิบดีทรัมป์เห็นพ้องว่า ประเด็นเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน เพราะทั้งสองประเทศต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน
ในปัจจุบันมีนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในสหรัฐฯ กว่า 20 บริษัท มูลค่ารวมราว 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างงานกว่า 68,000 ตำแหน่ง ในขณะเดียวกันธุรกิจสหรัฐฯ กว่า 100 บริษัทก็เข้ามาลงทุนในไทย มูลค่ากว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าประเทศไทยได้เปรียบในเชิงที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ความพร้อมในเชิงโลจิสติกส์ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งไทยประสบความสำเร็จในการยกระดับการพัฒนา และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV ตลาดอาเซียน รวมทั้งภูมิภาคเอเชีย นโยบายประเทศไทย+1 ไม่ได้ให้ความสำคัญแต่เพียงระดับทวิภาคี แต่ยังต่อยอดไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ
นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งแก่ภาคเอกชนสหรัฐฯ เกี่ยวกับนโยบายในการปฏิรูปเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะประเทศไทย 4.0 และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นประตูแห่งโอกาสที่เปิดกว้าง และพร้อมต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในการเข้ามาทำหน้าที่ ครั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหา แก้ความขัดแย้ง แตกแยกเท่านั้น ไม่ได้ใช้อำนาจเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือทำให้ ธุรกิจเสียหายมั่นใจ คนไทยร้อยละ 90 ไม่เดือดร้อนกับการเข้ามาของตนเอง มีเพียงส่วนน้อย ที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะเป็นพวกที่ทำผิดกฎหมายเท่านั้น ส่วนสิ่งที่หลายคนอยากเห็นคือเรื่องประชาธิปไตย ยืนยัน จะยังคงเดินหน้าตามโรดแมป และจะประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในปีหน้าแน่นอน