กาง กม.-ชนักติดหลังคนสกุล‘ชินวัตร’ เดิมพันสุดท้าย‘ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ’สู้ต่อ-หนีตลอดชีวิต?
“…นี่จึงเป็นอีกสถานการณ์ลำบากอย่างหนักของคนสกุล ‘ชินวัตร’ จากผู้มากบารมีปี 2544-48 จนถึงจุดเสื่อมศรัทธาช่วงปี 2549 แต่กลับเกิดการรัฐประหารจนเกิดต่อต้าน-ปลุกมวลชนกลับมาอีกครั้ง พรรคพลังประชาชนครองอำนาจปี 2551-2552 ก่อนจะเปลี่ยนขั้วเป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กระแสยาวจนถึงปี 2554 กระทั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้นั่งเก้าอี้นายกฯหญิงคนแรกของประเทศ แต่กราฟการเมืองดิ่งลงอีกครั้งเมื่อเกิดรัฐประหารปี 2557 ที่ไม่มีใครอยากเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอีก ส่งผลให้ชะตาชีวิตต้องดิ้นรนหลบหนีอยู่ต่างประเทศตอนนี้…”
พลันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวเนื่องจากปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นั้น (อ่านประกอบ : จำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา ศาลฎีกาฯ พิพากษา 'ยิ่งลักษณ์' คดีจำนำข้าว, บรรทัดสุดท้ายคดีจำนำข้าว!ล้วงเหตุผลสำคัญไฉนศาลสั่งคุก5ปี‘ยิ่งลักษณ์’ละเลยปัญหาทุจริต?)
ทุกองคาพยพในสังคมโฟกัสไปที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้มากบารมี และอื้อฉาวที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พี่ชาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยในทันทีว่า อนาคตทางการเมืองของสกุล ‘ชินวัตร’ จะเดินหน้าต่ออย่างไร ?
กลยุทธ์วางหมากให้ ‘นารีขี่ม้าขาว’ ขอลี้ภัยอยู่ที่อังกฤษ ก็ไม่รู้ว่าจะราบรื่นไปได้ด้วยดีหรือไม่ เพราะแม้แต่ ‘ทักษิณ’ เอง ก็ไม่สามารถขอลี้ภัยทางการเมืองที่อังกฤษ เมื่อครั้งสมัยถูกทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 ได้ ขณะเดียวกันทางการไทยพยายามอธิบายกับนานาชาติว่า คดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่คดีทางการเมือง แต่เป็นคดีเกี่ยวกับการปล่อยให้เกิดการทุจริต จนชาติเสียหายหลายแสนล้านบาท
มวลชนคนเสื้อแดง รวมถึงพลพรรคที่สนับสนุน ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-พรรคเพื่อไทย’ ต่างจับตารอดูว่า ผู้นำสูงสุดของฝ่ายเสื้อแดงจะกลับมายังประเทศไทยได้อีกครั้งหรือไม่ เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ประกาศใช้แล้ว มาตรา 61 ระบุชัดเจน หากจำเลยต้องการอุทธรณ์ผลคำพิพากษาต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จะต้องเดินทางมาด้วยตัวเอง
พร้อมกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 มาตรา 74/1 บัญญัติว่า ในการดำเนินคดีอาญาตามหมวดนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 98 มาใช้บังคับ
อธิบายให้ง่าย คดีนี้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถ้าเป็นคดีอาญาทั่วไป ต้องนับอายุความตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 98 จำคุกไม่เกิน 7 ปี อายุความไม่เกิน 10 ปี แต่กรณีนีี้เป็นคดีตามกฎหมาย ป.ป.ช. หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลบหนี ต้องหนีไปตลอดชีวิต เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2558 ได้หยุดอายุความไว้ และไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ผลคำพิพากษาต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ เพราะตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดให้จำเลยต้องมายื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเอง
ไม่ว่าท้ายสุดแล้ว ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ รวมถึงคนสกุล ‘ชินวัตร’ จะเดินหมากสู้กระดานการเมืองขณะนี้อย่างไร ?
แต่ต้องไม่ลืมว่า อย่างน้อยที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมถึงคนสกุล ‘ชินวัตร’ และอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย บางราย ยังมีคดีติดตัวอยู่หลายคดีด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มีชนักติดหลังอยู่ใน ป.ป.ช. ประมาณ 4-5 คดีสำคัญ เช่น การจัดทำ พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำฯที่ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทโดยมิชอบ คดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมิชอบ คดีละเว้นไม่ลงโทษนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย ที่เคยปราศรัยข่มขู่องค์กรอิสระ-แบ่งแยกประเทศ คดีประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯช่วงม็อบ กปปส. โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง
ส่วนคดีที่ดูแววว่าน่าจะมีความคืบหน้ามากที่สุดคือ คดีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 ที่กรรมการ ป.ป.ช. 9 รายเป็นองค์คณะไต่สวน แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 ผู้ถูกกล่าวหาคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรีรวม 34 ราย มารับทราบข้อกล่าวหา และบางส่วนมาชี้แจงไปแล้ว และอยู่ระหว่างรอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา
ที่เหลือ เช่น คดีบริหารจัดการน้ำผิดพลาดทำให้น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 หรือคดีไม่สั่งการให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างบนเว็บไซต์ เป็นต้น ได้ถูกตีตกไปแล้ว เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
นี่ยังไม่นับคดีที่เกี่ยวข้องกับอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล ‘นารีขี่ม้าขาว’ อีกหลายคดี เช่น คดีดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ที่มีการกล่าวหานายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.เพื่อไทย กับเพื่อน ส.ส.เพื่อไทยอีกหลายสิบราย ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คดีระบายข้าวจีทูจีปี 2556 (ล็อตสอง) มีการกล่าวหา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก คดีระบายมันสำปะหลัง (มันเส้น) จีทูจี มีการกล่าวหา นายบุญทรง กับพวกอีกเช่นกัน หรือแม้แต่คดีของนายทักษิณอีกหลายคดีในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ปัจจุบันถูกจำหน่ายชั่วคราวเนื่องจากไม่มีจำเลยมาศาล แต่ถ้ากลับมา ศาลสามารถรื้อคดีเหล่านั้นมาไต่สวนได้อีกครั้ง
ส่วนนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของนายทักษิณ ปัจจุบันถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สอบสวนข้อเท็จจริงคดีฟอกเงิน ที่สืบเนื่องมาจากคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อให้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริต ที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีเงินจากคนสกุล ‘กฤษดาธานนท์’ ไหลไปเข้าที่บัญชีของนายพานทองแท้ และคนใกล้ชิดสกุล ‘ชินวัตร’ หลายสิบล้านบาท
ขณะเดียวกันคดีในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขณะนี้ เมื่อปราศจาก 3 คดีใหญ่ (คดีสั่งสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ-ยกฟ้อง คดีระบายข้าวจีทูจี-จำคุกหนัก สั่งชดใช้เงิน 1.69 หมื่นล้านบาท คดีจำนำข้าว-จำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์) ก็ยังเหลือวิบากกรรมของอดีตรัฐมนตรีที่ปัจจุบัน ‘ไขก๊อก’ จากพรรคเพื่อไทยแล้ว อย่าง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ ถูกดำเนินคดีคืนพาสปอร์ตให้นายทักษิณ ชินวัตร โดยมิชอบ และคดียื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ ที่มีนายเกษม นิมมลรัตน์ คนสนิท ‘บิ๊กนักการเมืองชื่อดัง’ เป็นจำเลย เป็นต้น
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้นต่อให้กฎหมายเปิดช่องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มอบหมายทนายยื่นอุทธรณ์ หรือจะกลับมาต่อสู้คดีด้วยตัวเองโดยได้รับการประกันตัว ก็ยังไม่สามารถมีหลักอะไรค้ำยันได้ว่า คดีต่าง ๆ ที่เหลือนับเวลาถอยหลังถูก ‘เชือด’ เมื่อไหร่ ?
นี่จึงเป็นอีกสถานการณ์ลำบากอย่างหนักของคนสกุล ‘ชินวัตร’ จากผู้มากบารมีปี 2544-48 จนถึงจุดเสื่อมศรัทธาช่วงปี 2549 แต่กลับเกิดการรัฐประหารจนเกิดกระแสต่อต้าน-ปลุกมวลชนกลับมาอีกครั้ง พรรคพลังประชาชนครองอำนาจปี 2551-2552 ก่อนจะเปลี่ยนขั้วเป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ยาวจนถึงปี 2554 กระทั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้นั่งเก้าอี้นายกฯหญิงคนแรกของประเทศ แต่กราฟการเมืองดิ่งลงอีกครั้งเมื่อเกิดรัฐประหารปี 2557 ที่ไม่มีใครอยากเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอีก ส่งผลให้ชะตาชีวิตต้องดิ้นรนหลบหนีอยู่ต่างประเทศตอนนี้
การเดินพันครั้งสุดท้ายของ ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ จะมีบทสรุปอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
เปิดสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนสยาม-อังกฤษ ช่องนำ‘ปู'กลับไทยติดคุกคดีข้าว กรณีอยู่ลอนดอน?
‘ยิ่งลักษณ์’ล่องหนไม่มีผลคดีค้างในชั้น ป.ป.ช. ‘วัชรพล’ยันไต่สวนปกติ-ปัดเร่งรัด
ชนักติดหลัง‘ยิ่งลักษณ์’ รวยผิดปกติ-สารพัดข้อหาใน ป.ป.ช.-ไม่จบแค่คดีข้าว?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก sanook.com