นายกฯ ช่วยน้ำท่วมเบื้องต้นครัวละ 5 พัน ชาวนาสาหัสเพราะเลื่อนปลูกหนีแล้ง
นายกฯสั่งช่วยเบื้องต้นน้ำท่วมครัวละ 5 พัน 1 ล้านครัว งบ 5 พันล้าน แจงไม่รวมความช่วยเหลือการเกษตรและมาตรการอื่น ยอมรับข้าวเสียหายหนักเพราะรัฐให้เลื่อนทำนาหนีแล้ง เร่งทบทวนระบายข้าวจากสต็อค ประชุม ครม.เศรษฐกิจ 2 พ.ย. ออกมาตรการช่วยเหลือชัดเจน เตือนสถานการณ์ยังวางใจไม่ได้
วันที่ 26 ต.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแถลงถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า เบื้องต้นกำหนดให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท ซึ่งเป็นการช่วยเหลือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัยของประชาชนโดยใช้เกณฑ์ว่าน้ำท่วมขัง 7 วันหรือน้ำท่วมขังฉับพลันไม่สามารถขนย้ายทรัพย์สินออกได้ทัน พื้นที่ตรงนี้จะมีการสำรวจครัวเรือนทั้งหมด และจะให้การช่วยเหลือทุกครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้เร็วที่สุด แต่ทั้งนี้เป็นคนละกรณีกับมาตรการช่วยเหลือด้านการเกษตร
นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยได้ทั้งหมด และมีหลายพื้นที่ที่พยายามกู้กันอยู่ ทั้งนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจวันจันทร์ที่ 1 พ.ย.นี้ จะพิจารณาประเด็นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำท่วม รวมทั้งที่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรไปพิจารณารายละเอียดและปรับอัตราการชดเชยขึ้นจากเดิมไร่ละ 600 กว่าบาท และนำเสนอเข้ามา ขณะเดียวกันจะมีมาตรการพักหนี้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กองทุนหมู่บ้าน และมอบหมาย ธ.ก.ส.พิจารณาวงเงินให้สินเชื่อในอัตราผ่อนปรน
ผู้สื่อข่าวถามว่าระเบียบเดิมการช่วยเหลือตามความเป็นจริงจะได้รับครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท แต่ครั้งนี้จ่ายเพียง 5,000 บาทชาวบ้านจะรับได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าระเบียบเดิมก็ยังมีอยู่คือที่จ่ายตามความเป็นจริงเป็นค่าซ่อมบ้านและไม่เกิน 20,000 บาท รวมทั้งต้องมีการสำรวจ ซึ่งที่ผ่านมาก็จะได้รับกันน้อย ส่วนครั้งนี้ได้รับครัวเรือนละ 5,000 บาทก่อน แล้วจะได้เพิ่มเติมอีกหรือไม่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างอาชีพการเกษตรจะไปดูระเบียบใหม่ทั้งหมด แม้แต่อาคารพาณิชย์ที่ได้รับความเสียหายซึ่งเดิมไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ครั้งนี้จะได้รับการช่วยเหลือ
ผู้สื่อข่าวถามว่าการช่วยเหลือลักษณะเหมาจ่ายจะเพียงพอต่อคนที่ได้รับความสูญเสียจำนวนมากหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ากำลังจะไปดูรายละเอียด เพราะเลือกทุกอย่างไม่ได้ ถ้าพยายามจะทำให้ละเอียด ช้าแน่นอน เพราะต้องไปสำรวจและมีปัญหาเรื่องหลักฐาน เพราะชาวบ้านบางส่วนก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะถ่ายรูปไว้ได้ การช่วยเหลือจะมากน้อยแค่ไหนจะมีการดูกันต่อ แต่ก็ต้องเริ่มต้นก่อนและต้องระมัดระวังและดูกำลังเงินของรัฐด้วย เงินช่วยเหลือเบื้องต้นนี้ยังไม่รวมการช่วยเหลือเรื่องของการเกษตรและ มาตรการสำหรับผู้ประกอบการ
ผู้สื่อข่าวถามว่าเงินเพียง 5,000 บาทจะเพียงพอต่อความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับหรือ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าต้องดูคร่าวๆก่อน เพราะประมาณการณ์ในขณะนี้จำนวนครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนอาจจะสูงถึง 1 ล้านครัวเรือน ก็น่าจะใช้เงินถึง 5,000 ล้านบาทแล้ว และจะต้องมีเรื่องการฟื้นฟูถนน โรงเรียน โรงพยาบาล สถานีอนามัย การเกษตรต่างๆ ซึ่งจะต้องเจาะลึกลงไปเพิ่มเติมกรณีที่จำเป็น และคิดว่าเงินช่วยเหลือดังกล่าวอย่างช้าที่สุดจะถึงมือชาวบ้านไม่เกิน 1 เดือน เพราะในการสอบทานก็จะใช้ตัวพื้นที่กับทะเบียนบ้าน โดยใช้การขีดวงพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย อาจไม่จำเป็นต้องดูรายละอียดหลักฐานและรูปถ่าย ต่างๆ และคิดว่าจะไม่เกิดการจ่ายเงินซ้ำซ้อน
ผู้สื่อข่าวถามว่าจำนวนเงินในการช่วยเหลือและมาตรการฟื้นฟูต่างๆจะต้องใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้ารวมถึงเรื่องการฟื้นฟู ลงทุนเรื่องการเกษตรก็น่าจะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท สำหรับการจ่ายเงินและมาตรการเยียวยานั้นจะมีกระบวนการที่จะเสนอเข้ามาอีกครั้งในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ สามารถตรงไปที่ธนาคาร เช่น ธ.ก.ส. ได้เลย ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ส่วนประธานที่จะแต่งตั้งเข้ามาดูแลกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย และแก้ไขปัญหานั้นจะแต่งตั้งให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยจะไม่ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ซึ่งความจริงรัฐบาลอยากจะโอนเงินให้เลยเพราะจะตัดปัญหาได้หลายอย่าง ซึ่งขณะนี้ทั้ง ธ.ก.ส. และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อยู่ในฐานะที่จะจ่ายเงินไปก่อนได้ .
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่าจนถึงวันนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่คาดการณ์ไว้ คือต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมาก ๆ เพราะเมื่อคืนวันที่ 25 ต.ค.ยังมีฝนตก และระดับน้ำก็ยังสูงอยู่ห่างจากตลิ่งหรือคันกั้นน้ำไม่มากที่จะวางใจได้ โดยเฉพาะพื้นที่ตลอดแนวแม่น้ำ เช่นเดียวกับจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีการ ติดตามสถานการณ์น้ำที่มาจากทั้งลำน้ำมูล ลำน้ำชี ซึ่งมีการแจ้งตลอดว่าน้ำก้อนใหญ่จะมาถึงเมื่อไหร่ แต่ จากการคำนวณแล้วปริมาณน้ำจะมาไม่ถึงพร้อมกันก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งต้องดูระดับน้ำในแม่น้ำ โขงด้วย มีการสั่งการให้เฝ้าระวังอยู่และสั่งการให้รายงานระดับน้ำเป็นระยะ และแจ้งประชาชนในพื้นที่ทราบ
นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ครม.มีคำสั่งทบทวนการระบายข้าวว่า เป็นเพราะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม แต่ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องของบริษัทเอ็มทีเซนเตอร์เทรด เพราะเดิมก่อนที่จะมีปัญหาน้ำท่วม หลักคือพยายามระบายข้าวออกเพื่อไม่ให้ข้าวในสต๊อกเป็นปัญหาการบริหารจัดการในอนาคต เพราะสังเกตว่าราคาพืชผลทางการเกษตรทั้งมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ปีนี้ดีหมด แต่ข้าวจะเป็นปัญหาตลอดเวลาที่มีการเก็บสต๊อกไว้ เพราะจะมีการเก็งว่าจะมีการระบายออกมาเมื่อไหร่ราคาข้าวก็จะลง แต่เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมผลความเสียหายที่เกิดต่อผลผลิตซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่ามีมากพอสมควร และข้าวก็ได้รับความเสียหายมาก เพราะส่วนหนึ่งในหลายพื้นที่มีการปลูกข้าวช้าเพราะได้รับการขอร้องในขณะนั้นว่ายังไม่มีน้ำ จึงเริ่มปลูกช้า เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมผลผลิตก็ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวจึงเกิดความเสียหาย ขณะนี้กำลังเข้าสู่เดือน พ.ย.หลายพื้นที่จึงถือว่าสายเกินไปที่จะเริ่มต้นใหม่ ความเสียหายจึงมีมาก ความจำเป็นต้องระบายข้าวออกมาและสิ่งที่ต้องคิดถึงคือการเก็บข้าวไว้ในสต๊อก เพื่อให้เกิดความมั่นใจจึงต้องเปลี่ยนไป จึงมีการแจ้งต่อที่ประชุม ครม.
ภาพประกอบจาก : http://www.krobkruakao.com/kkn