สมาคมโรคไตเดินหน้าวิจัย อัตรารอดชีวิต ความคุ้มค่า ‘ฟอกเลือด-ล้างไตช่องท้อง’
สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย จับมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตระดับประเทศ เดินหน้า “โครงการศึกษาเปรียบเทียบผลลัพธ์การรอดชีพและการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ระหว่างการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตผ่านช่องท้อง” จัดทำข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ หนุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รุกนโยบายบำบัดดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายทั่วประเทศอย่างเหมาะสม
รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากกรณีการวิพากษ์วิจารณ์แนวทางที่เหมาะสมในการบำบัดทดแทนไตให้กับผู้ป่วย ระหว่างการฟอกเลือดด้วยด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis: HD) และการล้างไตผ่านช่องท้อง (Peritoneal dialysis: PD) โดยเฉพาะกรณีที่มีการเปรียบเทียบอัตราการรอดชีพหลังรับการบำบัด ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ป่วย รวมถึงการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายของประเทศ แต่ด้วยปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิชาการ จึงทำให้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้
รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในการประชุมปรึกษาหารือในระดับผู้บริหารเชิงนโยบายของประเทศร่วมกับสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ต่างเห็นควรให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพื่อทำให้เกิดความชัดเจน จึงได้มอบให้สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรกลางด้านวิชาการ ดำเนินโครงการศึกษาเปรียบเทียบผลลัพธ์การรอดชีพและการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ระหว่างการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตผ่านช่องท้อง และได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบทางคลินิกและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์การให้บริการด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตผ่านช่องท้อง ภายใต้คณะกรรมการวิจัยของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการโครงการนี้
ทั้งนี้คณะอนุกรรมการศึกษาวิจัยฯ ชุดนี้ประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาโรคไต และภาควิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน กลุ่มสาขาวิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ และอนุกรรมการลงทะเบียนศึกษาทดแทนไต เป็นต้น
“วัตถุประสงค์สำคัญของโครงการนี้คือการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบอัตรารอดชีพ หลังการรักษาด้วยวิธีการฟอกไตผ่านเครื่องไตเทียมกับการล้างไตผ่านช่องท้องในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายของประเทศไทย การศึกษาเปรียบเทียบความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการบำบัดผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้ง 2 วิธี และการศึกษาวิเคราะห์ระบบดูแลสุขภาพในการเข้าถึงและระบบการให้บริการด้วยวิธีการฟอกไตผ่านเครื่องไตเทียมและการล้างไตผ่านช่องท้อง” รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากโครงการลงทะเบียนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายรับการบำบัดทดแทนไตของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและข้อมูลลงทะเบียนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายรับการบำบัดทดแทนไตของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รับการบำบัดยังศูนย์บริการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเกือบทั่วประเทศ ได้มีการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยที่น่าเชื่อถือในผู้ป่วยทุกสิทธิรักษาพยาบาล จะเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยโครงการนี้ได้
รศ.ดร.พญ.อติพร อิงค์สาธิต สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ และกลุ่มสาขาวิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ระหว่างการฟอกเลือดด้วยด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตผ่านช่องท้อง มีเพียงการศึกษาในปี 2550 ก่อนที่จะมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังบรรจุในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และวิจัยประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในปี 2556 ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลการศึกษาความคุ้มค่าระหว่างการฟอกเลือดด้วยด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตผ่านช่องท้องที่ครอบคลุมสถานการณ์หลังจากที่ได้มีการดำเนินโครงการดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาเกือบ10ปี
“การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย แม้ว่าการปลูกถ่ายไตจะเป็นวิธีที่เหมาะสมและให้ผลลัพธ์ทางคลินิกและคุณภาพชีวิตดีที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งจำนวนผู้บริจาคไตไม่เพียงพอและการเข้าถึงบริการ ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายต้องบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยด้วยเครื่องไตเทียมหรือการล้างไตผ่านช่องท้อง แม้ว่าจะเป็นวิธีมาตรฐานทางการแพทย์และได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย ทั้งให้เกิดการวางแผนการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายในอนาคตอย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยและติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบเพื่อตอบโจทย์นี้” รศ.พญ.อติพร กล่าว