โปร่งใส-ทั่วถึง-ชาวบ้านต้องการจริง! เปิดสารพัดความเห็นหน่วยงาน-ก่อน9101โดนร้องเรียนเพียบ
"...เห็นชอบในหลักการการดำเนินงานโครงการนี้ เนื่องจากเป็นโครงการที่สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ที่ให้ชุมชน เข้ามามีส่วนรวมในการพัฒนาและดำเนินโครงการ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ควรดำเนินการให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส่ เป็นธรรมและทั่วถึง รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง... ต้องไม่ลืมว่า ที่มาและวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานโครงการนี้ แค่ชื่อก็บอกแล้วว่า มีความสำคัญกับคนไทยมากถึงมากที่สุด ไม่ใช่โครงการธรรมดาทั่วไป ที่เราจะปล่อยให้กลุ่มบุคคลใดเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องโดยมิชอบได้..."
ดูเหมือนว่า "โครงการ9101ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน" ที่อยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบ ของกระทรวงเกษตรและสหรกณ์ นับวันจะยิ่งถูกจับตามองมากขึ้น เมื่อการดำเนินงานโครงการในพื้นที่ต่างๆ ปรากฎข้อร้องเรียนเพิ่มขึ้นอย่างแต่เนื่อง
ข้อร้องเรียน 6 เรื่อง ที่ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสงขลา และจังหวัดแม่ฮ่องสอน กระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า ตรวจสอบแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่และไม่พบมูลความจริงที่กล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำความผิด
ส่วนอีก 8 เรื่อง อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบโดยละเอียดของคณะกรรมการ คือ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาฯ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสตูล จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง และจังหวัดแพร่ ยังไม่มีสรุปผลการตรวจสอบออกมาเป็นทางการ (อ่านประกอบ : เปิดครบผลสอบโครงการ9101ฉบับก.เกษตรฯไม่พบทุจริต6เรื่อง-ชาวบ้านแห่ร้องเพจต้องแฉต่อเนื่อง)
แต่ล่าสุด เพจต้องแฉ ออกมาระบุว่า ได้รับการร้องเรียนข้อมูลเข้ามาเพิ่มเติม ว่า โครงการ 9101 ที่ชุมชนแห่งหนึ่ง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ทำโครงการปุ๋ยหมัก ปรากฎพฤติการณ์กรรมการจัดชื้อจัดจ้าง ส่อพฤติกรรมไม่โปร่งใสเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง โดยเฉพาะการจ้างเอาแต่พวกพ้องและกรรมการทำงานในโครงการ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีรายได้ต่อครัวประมาณ 12000 - 24000 บาท อีกทั้งชาวบ้านไม่เคยรับรู้ถึงโครงการนี้เลย เพราะไม่ได้มีการนำเข้าที่ประชุมหมู่บ้าน แม้แต่ประชาคมหมู่บ้านก็ไม่มี มารู้ตอนใกล้จะเสร็จแล้ว (ดูข้อมูลประกอบ: https://www.facebook.com/mustshareofficial/?ref=br_rs)
"หลังจากที่ทางเพจต้องแฉได้ประกาศเปิดรับข้อมูลปัญหาการดำเนินงานโครงการ 9101 ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ มีชาวบ้านติดต่อแจ้งข้อมูลเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่ทางเพจฯ ได้แจ้งขอข้อมูลเพิ่มเติมไป ทั้งในส่วนรายละเอียดการดำเนินงาน หลักฐานภาพถ่าย เพราะเราไม่สามารถลงข้อมูลร้องเรียนลอยๆ ที่ไม่มีเอกสารหลักฐานยืนยันชัดเจนได้ ซึ่งชาวบ้านหลายคน ก็รับว่าจะไปดำเนินการรวบรวมข้อมูลมาให้ภายหลัง ตอนนี้กำลังรอดูข้อมูลอยู่" แอดมิน เพจต้องแฉระบุ
อย่างไรก็ตาม มีคำถามที่น่าสนใจเกิดขึ้น คือ ก่อนหน้าที่จะเริ่มต้นโครงการนี้ รัฐบาล รวมถึงกระทรวงเกษตรฯ ได้คำนึงถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ และเตรียมการรับมือแก้ไขปัญหาไว้บ้างหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พบว่า ในการนำเสนอเรื่องเพื่อขออนุมัติโครงการ 9101 ต่อที่ประชุม ครม. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายแห่ง ได้เสนอความเห็นประกอบการดำเนินงานโครงการไว้อย่างแน่สนใจในหลายประเด็น อาทิ การควบคุมการบริหารการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้สามารถกระจายงบประมาณสู่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง โดยนำประสบการณ์การดำเนินโครงการในระดับพื้นที่ที่ผ่านมาใช้เป็นบทเรียนในการทำงาน รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี รวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เป็นต้นแบบ เพื่อรองรับการพิจารณาจัดทำแผนงานโครงการของแต่ละชุมชนหรือเป็นทางเลือกให้กับชุมชนประกอบการตัดสินใจ โดยใช้ประโยชน์ได้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล และศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น เกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer และ Young Smart Farmer ที่สามารถให้ความรู้และเทคโนโลยีในการพัฒนาด้านการเกษตร ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไปด้วย
ขณะที่ สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า เห็นชอบในหลักการการดำเนินงานโครงการนี้ เนื่องจากเป็นโครงการที่สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ที่ให้ชุมชน เข้ามามีส่วนรวมในการพัฒนาและดำเนินโครงการ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ควรดำเนินการให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส่ เป็นธรรมและทั่วถึง รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง (http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2560/9932491922.pdf)
เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทย ที่เน้นย้ำเหมือนกันว่า การดำเนินการควรเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส่ เป็นธรรม และทั่วถึง รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2560/9932589920.pdf
กระทรวงการคลัง ระบุว่า เห็นสมควรให้กระทรวงเกษตรฯ ติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และงบประมาณที่ได้รับจัดสรรตามขั้นตอนกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ และมติครม.อย่างเคร่งครัด http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2560/9932589918.pdf
ส่วนกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การใช้จ่ายเงินต้องไม่มีความซ้ำซ้อนกับมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยตามแผนงานโครงการของหน่วยงานอื่นๆ
ขณะที่ในช่วงเดือนส.ค.2560 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการ 9101 ให้ครม. รับทราบ โดยระบุว่า
1. ชุมชนเข้าร่วมโครงการ 9,101 ชุมชน จำนวนโครงการที่เสนอจากชุมชนและได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการโครงการฯ ระดับอำเภอ และผ่านความเห็นชอบแผนปฏิบัติงานและแผนการเบิกจ่ายงบประมาณ จากกองทุนจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ สำนักงบประมาณ จำนวน 24,168 โครงการ วงเงิน 19,867.20 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87.32 ของวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ สำหรับประเภทของโครงการที่เสนอจากชุมชน ได้แก่ (1) การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ (2) การผลิตพืชและพันธุ์พืช (3) การปศุสัตว์ และ (4) การผลิตอาหาร การแปรรูปผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดเริ่มโอนเงินให้คณะกรรมการโครงการฯ ระดับชุมชน ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ครบถ้วนแล้ว 24,168 โครงการ วงเงิน 19,867.20 ล้านบาท และกลุ่มสมาชิกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่ายได้รับการสนับสนุนงบประมาณเริ่มดำเนินโครงการ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2560
2. ปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินการ ได้แก่ (1) ระยะเวลาการดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณค่อนข้างสั้น (2) ข้อปฏิบัติของกรมสรรพากรที่ให้กลุ่มสมาชิกของชุมชน ศพก. และ/หรือเครือข่ายที่เสนอโครงการ ต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ทำให้เกิดข้อกังวลในขั้นตอนที่ไม่คุ้นเคย (3) การจัดทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมีข้อจำกัดเรื่องเวลาทำการ และ (4) เหตุการณ์พายุโซนร้อน “เซินกา” ส่งผลให้ฝนตกหนัก ทำให้บางพื้นที่ไม่สามารถปฏิบัติงานตามแผนได้ และมีวัสดุการเกษตรเสียหายเนื่องจากอุทกภัย (ดูเอกสารประกอบ http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2560/993252596.pdf)
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในเรื่องปัญหา/อุปสรรคการดำเนินการของโครงการฯ ที่มีการรายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบดังกล่าว ไม่ได้มีการระบุถึงปัญหาข้อร้องเรียนของชาวบ้าน เกี่ยวกับปัญหาความไม่โปร่งใส ในเรื่องการจัดซื้อเครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงกรณีที่มีเอกชนเข้าไปติดต่อขายสินค้าให้กับชาวบ้านแต่อย่างใด
กรณีอาจพิจารณาได้ 2 ประเด็นหลัก คือ 1. ปัญหาลักษณะนี้เพิ่งเกิดขึ้น 2. ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาลักษณะนี้ ถูกปกปิดไว้ให้อยู่แค่ในระดับพื้นที่ ไม่ได้ถูกแจ้งเข้ามาให้ส่วนกลางรับทราบ เพราะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปร่วมมือหรือเกี่ยวข้องด้วย
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ปัจจุบัน ปัญหาลักษณะนี้ปรากฎขึ้นให้เห็นเป็นทางการแล้ว และเป็นหน้าที่สำคัญที่ กระทรวงเกษตรฯ จะต้องเร่งรัดเข้าไปติดตามแก้ไขปัญหาโดยด่วน เพื่อให้การดำเนินงานโครงการนี้ โปร่งใส่ เป็นธรรม ทั่วถึง และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ตามความเห็นของหลายหน่วยงาน
เพราะต้องไม่ลืมว่า ที่มาและวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานโครงการนี้ แค่ชื่อก็บอกแล้วว่า มีความสำคัญกับคนไทยมากถึงมากที่สุด ไม่ใช่โครงการธรรมดาทั่วไป ที่จะปล่อยให้กลุ่มบุคคลใดเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องโดยมิชอบได้เด็ดขาด
ลำพังการอ้างแค่ว่า ไม่ค่อยเชื่อว่าโครงการนี้ จะมีการทุจริตเกิดขึ้น แล้วนั่งรอรับฟังรายงานข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อย่างเดียว โดยไม่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบไปฟังข้อมูลจากชาวบ้านด้วยตนเอง น่าจะไม่ใช่วิธีการปฏิบัติที่ดีของ 'ผู้นำ' ในยุคการปฏิรูปประเทศในขณะนี้
เมื่อท่านพูดคนจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำคนจะเชื่อถือ?