สกธ.เผยผลสำรวจปชช. 82.20 % ยังเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม
สกธ. เผยผลสำรวจประชาชน 5,000 คน พบ 82.20 % ยังคงเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม ต่อการปฏิรูปตำรวจ สอดรับผลประเมิน รร.นรต. หลังร่วมโครงการ “สถานีตำรวจล้ำสมัย” พึงพอใจสูงขึ้น
วันที่ 28 ก.ย. ที่ห้องประชุมเตมียาเวส โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม จัดสัมมนานำเสนอผลงาน “สถานีตำรวจล้ำสมัย” บูรณาการ “กระบวนการยุติธรรม” พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 รองรับประชาคมอาเซียน เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงาน 3 สถานีตำรวจต้นแบบและสรุปผลการประเมินโครงการสถานีตำรวจล้ำสมัย และทิศทางการขับเคลื่อนโครงการสถานีตำรวจล้ำสมัยต่อไป
พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สถานีตำรวจถือเป็น “จุดยุทธศาสตร์สำคัญ” ในกระบวนการยุติธรรม ภารกิจของสถานีตำรวจ ถือเป็นภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในทุกด้าน ความสำเร็จ ความเชื่อมั่นศรัทธา และความล้มเหลวในภารกิจของตำรวจที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม จะอยู่ที่ผลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในระดับสถานีตำรวจ ซึ่งเป็นต้นธารของการบังคับใช้กฎหมายและการให้บริการเบื้องต้นที่จะต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น หากสถานีตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย อำนวยความยุติธรรม อำนวยความสะดวกและบริการประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนองความต้องการของประชาชนได้อย่างครบถ้วน เป็นธรรม มีมาตรฐาน ตามหลักธรรมาภิบาลจักส่งผลให้ประชาชนมีความพึงพอใจ และกระบวนการยุติธรรมของประเทศ จะพัฒนาไปได้อย่างเต็มภาคภูมิ
“โครงการสถานีตำรวจล้ำสมัย เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการปฏิรูปสถานีตำรวจยุค 4.0 เน้นการทำงานเชิงรุก การดำเนินงานหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ประชาชนที่มาใช้บริการ ได้รับความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น และได้รับบริการอย่างเท่าเทียมกัน จึงนับว่าเป็นสิ่งน่ายินดีอย่างยิ่งที่ 3 สถานีตำรวจนำร่อง ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรบางแก้ว สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ และสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา ได้เข้าร่วมโครงการสถานีตำรวจล้ำสมัย ฯ โดยดำเนินการปรับปรุงสถานีตำรวจให้มีระบบการทำงานที่ทันสมัย ตามมาตรฐานสากล รองรับประชาคมอาเซียน ส่งผลให้ประชาชนมีช่องทางในการรับบริการและเข้าถึงการให้บริการของสถานีตำรวจได้อย่างรวดเร็ว และเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตการทำงานให้แก่ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานสถานีตำรวจให้สามารถทำหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ กล่าว
ด้านพลตำรวจโท ปิยะ อุทาโย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวว่า โครงการสถานีตำรวจล้ำสมัย ฯ เป็นโครงการที่ถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2558-2561 รองรับประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาประสิทธิภาพระบบการให้บริการประชาชน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อนุมัติในหลักการให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินโครงการ โดยมีแนวทางการดำเนินงานคือกำหนดขั้นตอนการทำงานของสถานีตำรวจให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน ขยาย พัฒนาและปรับปรุงสถานที่ให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างเป็นมาตรฐานสากล และสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ทั่วถึง และลดภาระค่าใช้จ่ายของหน่วยงานยุติธรรมและภาคประชาชน โดยโรงเรียนนายร้อยตำรวจหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลที่ได้จากการสัมมนา จะเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพของสถานีตำรวจทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการประชาชนต่อไป
“ความล้ำสมัยของสถานีตำรวจ จะต้องทำให้ประชาชนมาใช้บริการที่สถานีตำรวจให้น้อยที่สุด โดยจะเน้นเทคโนโลยี สารสนเทศ ตามหลักการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เนื่องจากปัจจุบันเราอยู่ในสังคม Smart Enterprises ประชาชนส่วนใหญ่จะใช้สมาร์ทโฟน สถานีตำรวจล้ำสมัยจึงได้พัฒนาการรับเรื่องร้องเรียน แจ้งเหตุ ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ซึ่งจะทำให้สามารถแจ้งเหตุร้ายถึงตำรวจได้เร็วขึ้น และได้ข้อมูลครบถ้วน ไม่ต้องเสียเวลามาที่สถานีตำรวจอีกต่อไป” พลตำรวจโท ปิยะ กล่าว
ด้านนายชาตรี จันทร์เพ็ญ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า สกธ. ได้ดำเนินการประเมินผลตัวชี้วัดระดับเป้าหมายของแผนงานบูรณาการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โดยการจัดจ้างคณะที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งการสำรวจข้อมูลมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 5,000 คน แบ่งเป็น 1) กลุ่มประชาชนที่เข้ามาติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 4,450 คน (ร้อยละ 90) และ 2)ประชาชนทั่วไป จำนวน 550 คน (ร้อยละ 10) กำหนดพื้นที่ดำเนินการสำรวจใน 9 ภาค 19 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมที่ใช้บริการสถานีตำรวจนำร่อง 3 แห่งของโครงการสถานีตำรวจล้ำสมัยรวมอยู่ด้วย
" จากผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ประชาชนร้อยละ 82.20 มีความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานและการทำงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ค่าเฉลี่ย 4.11 โดยประชาชนมีความเชื่อมั่นสงสุดในด้านการมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในการบังคับใช้กฎหมาย และด้านการมีความปลอดภัยของข้อมูลเป็นความลับ ค่าเฉลี่ย 4.14 รองลงมาคือการไม่รับอามิสสินจ้างเพื่ออำนวยความสะดวก ค่าเฉลี่ย 4.13 และมีความเชื่อมั่นน้อยที่สุดในด้านการให้บริการแบบเสร็จภายในที่เดียว (One Stop Service) ค่าเฉลี่ย 4.04 (จากคะแนนเต็ม 5) จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของโครงการสถานีตำรวจล้ำสมัยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศต่อการลงทุนในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศไทย"
ศ.พล.ต.ต.วีรพล กุลบุตร คณะผู้วิจัยโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวถึงผลการประเมินโดยทีมวิจัยของ รร.นรต. ซึ่งได้วัดความพึงพอใจของประชาชน ก่อนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 5,748 คน หลังเข้าร่วมโครงการ จำนวน 5,940 คน โดยภาพรวมมีความพึงพอใจเพิ่มมากขึ้นหลังจากมีการดำเนินโครงการแล้ว ได้แก่
1.ด้านกระบวนการและขั้นตอนการให้บริการ ดังนี้ สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ 74.30 % ( ก่อน 71.41 %) สถานีตำรวจภูธรบางแก้ว 82.84% (ก่อน 72.32 %) และสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา 76.49 (ก่อน 61.87%)
2.ด้านเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ดังนี้ สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ 76.68 % (ก่อน 72.94%) สถานีตำรวจภูธรบางแก้ว 84.12 % (ก่อน 72.34 %) และสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา 77.17% (ก่อน 62.13 % )
3.ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ดังนี้ สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ 71.33 % (ก่อน 63.47 %) สถานีตำรวจภูธรบางแก้ว 82.71% (ก่อน 71.09 %) และสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา 72.08 % (ก่อน 60.36 % )
ภาพประกอบ:พลตำรวจโท ปิยะ อุทาโย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ