“สภาองค์กรชุมชนตำบลตำนาน” คืนชีวิตให้นา คืนปลาให้น้ำ สืบสานข้าวสังหยดพัทลุง”
“ตำบลตำนาน” ไม่เพียงเป็นหนึ่งในแหล่งปลูก “ข้าวสังข์หยด” เลื่องชื่อของเมืองพัทลุง แต่ชาวบ้านซึ่งรวมตัวกันเป็นสภาองค์กรชุมชนตำบล ทำกิจกรรม “คืนชีวิตให้นา คืนปลาให้น้ำ สืบสานอาหารพื้นบ้าน”
ตำบลตำนาน อยู่ห่างจากตัวเมืองพัทลุงประมาณ 2.5 กิโลเมตร ประกอบด้วย 15 หมู่บ้าน ประชากร 2,448 ครอบครัว ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกผัก ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง “สังข์หยด” ซึ่งเลื่องชื่อเสียงของพัทลุง
ตำบลตำนานเริ่มทำแผนชุมชนตั้งแต่ปี 2548 ต่อมาได้มีการจัดตั้งเป็น “เครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการภาคประชาชนตำบลตำนาน” เมื่อมีพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนในปี 2551 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือพอช. ได้สนับสนุนให้ 33 กลุ่มและองค์กรต่างๆในตำบล ร่วมกันจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลตำนานขึ้นในปีเดียวกัน เมื่อมีสภาองค์กรชุมชนขึ้นมาแล้ว แกนนำพัฒนาในตำบล สมาชิกสภาองค์กรชุมชน และชาวบ้านได้นำกิจกรรมและปัญหาต่างๆมาพูดคุยกันในสภาฯ โดยเฉพาะเศรษฐกิจและปากท้อง การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ปัญหาสุขภาพ สารเคมีการเกษตร การฟื้นฟูและอนุรักษ์ลำคลอง ฯลฯ
ขบวนองค์กรชุมชน ดำเนินงานพัฒนาอย่างครบวงจร เพื่อคืนชีวิตให้นา คืนปลาให้น้ำ และสืบสานอาหารพื้นบ้าน ตัวอย่างงานพัฒนาสำคัญคือการคือการฟื้นฟูนาข้าว พร้อมกับการจัดตั้งกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ทำนาอินทรีย์ และตั้งโรงสีชุมชน เพื่อผลิตข้าวซ้อมมือและข้าวกล้องบรรจุถุงจำหน่าย โดยเฉพาะข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียง เช่น ข้าวสังข์หยดและข้าวเล็บนก
ทวี เกื้อเส้ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 เล่าว่า ก่อนที่จะมีการรณรงค์ให้ทำนาแบบอินทรีย์ ชาวบ้านในตำบลส่วนใหญ่ทำนาโดยใช้สารเคมีทั้งปุ๋ยและยาฆ่าแมลงเกือบ 100 % แต่เมื่อได้รับความรู้และเห็นโทษภัยจากสารเคมีแล้ว จึงค่อยๆลดสารเคมีลง ปัจจุบันมีการทำนาแบบอินทรีย์ในเนื้อที่รวมกันประมาณ 200 ไร่ มีการรวมกลุ่มกันทำปุ๋ยอินทรีย์ มีสมาชิก 35 ราย โดยใช้ขี้หมู แกลบ รำ กากน้ำตาล และสารเร่ง พด. มาคลุกเคล้าผสมให้เข้ากันแล้วหมักเอาไว้ประมาณ 1 เดือนจึงนำเอาไปใช้ได้
“ตอนแรกๆ ที่เริ่มทำนาอินทรีย์อาจจะยังไม่เห็นผล ข้าวจะขึ้นไม่ดี แต่เมื่อดินเริ่มฟื้นตัว หรือประมาณ 2 ปีขึ้นไปจึงจะเริ่มเห็นผล ข้าวจะเจริญเติบโตดีขึ้น เมล็ดเต็ม น้ำหนักดี เมื่อก่อนที่ใช้ปุ๋ยเคมีจะได้ข้าวประมาณ 450 กิโลกรัมต่อไร่ แต่เมื่อใช้ปุ๋ยจากขี้หมูตอนนี้ได้ข้าวประมาณ 600 กิโลกรัมต่อไร่ แถมต้นทุนยังลดลงอีก เพราะไม่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยและสารเคมี” ผู้ใหญ่ทวี กล่าว
ป้าพิณ ทวีตา อายุ 63 ปี อยู่หมู่ที่ 13 เล่าว่าเมื่อมีกระแสการบริโภคข้าวเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะข้าวพันธุ์สังข์หยดที่กำลังได้รับความนิยม ทำให้ตลาดมีความต้องการสูง ขณะเดียวกันจังหวัดพัทลุงได้มีการส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวพันธ์สังข์หยดอินทรีย์กันมากขึ้น มีการขึ้นทะเบียนรับรองผู้ปลูก หากผ่านขั้นตอนการปลูกข้าวได้ตามมาตรฐานที่กำหนดเอาไว้ ก็จะทำให้ชาวนาขายข้าวสังข์หยดได้ไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 20,000 บาท ขณะที่ข้าวทั่วไปที่ชาวบ้านปลูกมีราคาไม่เกินเกวียนละ10,000 บาท ชาวบ้านในตำบลตำนานจึงหันมาปลูกข้าวสังข์หยดอินทรีย์มากขึ้น และมีการจัดตั้งโรงสีชุมชนที่บ้านโตระขึ้นมาเพื่อผลิตข้าวกล้องสังข์หยด
ปัจจุบันกลุ่มโรงสีชุมชนบ้านโตระ มีสมาชิก 27 คน สมาชิกที่มีเวลาว่างก็จะมาช่วยกันสีข้าว โดยใช้เครื่องจักรแบบง่ายๆ เมื่อสีข้าวเสร็จแล้วก็จะต้องนำข้าวมาคัดเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์หรือสิ่งเจือปนออกไป เป็นการคัดข้าวด้วยมือ แล้วนำข้าวมาบรรจุลงถุงทีละถุง ชั่งกิโลให้ได้ตามน้ำหนัก จากนั้นจึงใช้เครื่องซีลปิดปากถุงแม้จะต้องใช้เวลาไปไม่น้อยสำหรับการผลิตข้าวแต่ละถุง และผลกำไรตอบแทนที่ไม่ได้สูงมากนัก แต่สมาชิกกลุ่มโรงสีชุมชนบ้านโตระต่างก็ภูมิใจที่ได้ผลิตข้าวพันธุ์ดี ปลอดจากสารเคมีออกมาให้คนอื่นได้กิน นอกจากนี้คนปลูกก็ไม่ต้องสัมผัสหรือกินข้าวที่ปนเปื้อนสารเคมีอีกด้วย
“ข้าวสังข์หยด” เป็นข้าวพันธุ์ท้องถิ่นที่ชาวบ้านปลูกกินกันมานานนับร้อยปี ปลูกได้ผลดีในพัทลุงเท่านั้น ปี 2543 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถมีพระราชดำริให้โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง และศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง นำพันธุ์มาปลูกและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดีเอาไว้ ต่อมาในปี 2546 พระองค์เสด็จมายังจังหวัดพัทลุงและได้เสวยข้าวสังข์หยด ทรงรับสั่งว่าอร่อยและโปรดให้ปลูกเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มเติม และนำเมล็ดพันธุ์ไปส่งเสริมให้ชาวบ้านในจังหวัดพัทลุงปลูก ต่อมาจึงได้มีการนำข้าวสังข์หยดไปเผยแพร่ตามงานต่างๆ เช่น งานศูนย์ศิลปาชีพ งานแสดงสินค้า เพื่อให้ประชาชนรู้จักและขยายตลาดออกไป
ปี 2549 ข้าวสังข์หยดได้รับการประกาศรับรองให้เป็น “สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือข้าว GI (Geographical Indications) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 เพื่อแสดงถึงที่มาและแหล่งผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ โดยใช้ชื่อว่า “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” ถือเป็นข้าว GI พันธุ์แรกของประเทศไทย และเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ที่ประชาชนในตำบลตำนานภาคภูมิใจ