ใช้น้ำยางผสม18ตันต่อกม.!อบจ.ตรัง ดันนวัตกรรมถนนใหม่ จี้รบ.คำนวนราคากลางระดับปท.
ผลประชุมคกก.เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ชู 'ตรังโมเดล' ทางสว่างอนาคตต้นแบบถนนยางพารา 'อบจ.ตรัง' เสนอนวัตกรรมใหม่ 'พารารับเบอร์โพลีเมอร์ซอยซีเมนต์' ใช้น้ำยางผสมมาก 18 ตัน ต่อกิโลเมตร เรียกร้องรบ.คำนวนราคากลางเพื่อใช้ในระดับปท.
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 กันยายน 2560 ที่โรงแรมธรรมรินทร์ธนา จังหวัดตรัง มีการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ระดับประเทศ ครั้งที่ 10/2560 โดยนายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย บุคคลใกล้ชิดนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม มีคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ระดับประเทศเข้าร่วมจากทั่วประเทศ เป็นการสรุปภาพรวมการลงพื้นที่ศึกษาดูงานการนำยางพาราธรรมชาติมาใช้ภายในประเทศ การแปรรูป อาทิ ทำถนนยางพารา หมอน ที่นอน รองเท้าบู๊ท เป็นต้น โดยมีการนำ “ตรังโมเดล” ต้นแบบของการทำถนนจากยางพาราไปขยายผลใช้ในระดับประเทศตามนโยบายรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้นโยบาย โดยรัฐบาลได้อนุมัติกรอบงบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบ้าน ในการนำยางพารามาใช้ภายในประเทศโดยหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยยังไม่ตอบรับ โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม ที่ยังไม่ชัดเจนในการกำหนดทีโออาร์และราคากลางในการทำถนนจากยางพารา แต่ก็ได้พยายามดำเนินการในส่วนที่ทำได้ไปก่อนบางส่วน อาทิ ตั้งงบประมาณ 450 ล้านบาท สำหรับทำหลักเสาทางโค้งถนน เป็นต้น
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้ให้ความสนใจกรณีการทำถนนจากยางพาราของจังหวัดตรัง โดยนายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง(อบจ.ตรัง) นางสาวเรวดี รองเดช และนายสุชนะ สรรพจักร วิศวกรโยธา องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ร่วมนำเสนอโครงการถนนยางพารา ตามนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศของรัฐบาล ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เป็นท้องถิ่นแรกในประเทศไทยที่นำถนนยางพารามาดำเนินงานจริง โดยตั้งงบประมาณต่อเนื่อง ก่อสร้างถนนด้วยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมทบงบประมาณกับท้องถิ่นอื่นในพื้นที่อัตรา 60 ต่อ 40 ตั้งแต่ปี 2558-2560 รวมทั้งสิ้น กว่า 120 สายทาง ใช้งบประมาณเกือบ 400 ล้านบาท และสามารถใช้น้ำยางพาราได้มากกว่า 200,000 กิโลกรัม เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำยางสดในจังหวัด และเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคายางพาราตกต่ำ
นายกิจกล่าวต่อที่ประชุมว่า ตรังยังเดินหน้าต่อในการหาวิธีนำยางพารามาเป็นส่วนผสมทำถนนให้ได้ปริมาณน้ำยางสดจากชาวสวนมาใช้ให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ ศึกษาวิจัยโดย ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงดันดี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายความร่วมมือฝ่ายอุตสาหกรรม อาจารย์และนักวิจัยหลักสูตรวิศวกรรมวัสดุและการผลิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เรียกว่า พารารับเบอร์โพลีเมอร์ซอยซีเมนต์ ซึ่งนวัตกรรมตัวนี้ความยาวถนน 1 กิโลเมตร ความกว้างถนน 6 เมตร สามารถนำน้ำยางไปใช้ได้ถึง 18 ตัน หรือ 18,000 กิโลกรัม จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้จำนวนมากขึ้น และอบจ.ตรังขานรับ จับมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีกำหนดก่อสร้างถนนต้นแบบใช้น้ำยางพาราผสมวัสดุและน้ำยาพอลิเมอร์(พารารับเบอร์โพลีเมอร์ซอยซีเมนต์ ) โดยนวัตกรรมตัวนี้ผ่านการศึกษาวิเคราะห์แล้ว แต่ติดขัดเรื่องยังไม่มีการรับรองมาตรฐานคำนวณราคากลางจากหน่วยงานใด ซึ่งนักวิชาการที่ศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้ต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลนำนวัตกรรมตัวนี้มาทดลองใช้และรับรองมาตรฐานให้เร็วขึ้น เพื่อเป็นช่องทางระบายน้ำยางสดให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง
ด้านนายธีระชัย กล่าวชื่นชมแนวคิด และความกล้าหาญของอบจ.ตรัง ที่ได้ตั้งงบประมาณ และดำเนินการก่อสร้างถนนผสมยางพารามาอย่างต่อเนื่อง 3 ปี เห็นถึงความจริงใจในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดยางพาราของประเทศไทย และที่ประชุมได้คลายข้อสงสัยเรื่องแบบมาตรฐาน การคำนวณราคากลางถนนผสมยางพาราชนิด 5% ซึ่งมีกำหนดอยู่ที่กรมทางหลวงชนบทแล้ว เพียงแต่หลายท้องถิ่น หลายหน่วยงานยังไม่ทราบรายละเอียดนี้ และไม่กล้าดำเนินการ กลัวผิดระเบียบ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เหมือนเปิดแสงสว่างให้กับเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ที่จะไปพูดคุยกับท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความเป็นไปได้ที่จะตั้งงบประมาณ สนับสนุนให้ก่อสร้างถนนผสมยางพาราในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับที่อบจ.ตรังได้ทำไว้ และเห็นด้วยที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันการทำถนนผสมยางพาราในทุกรูปแบบ โดยมีระเบียบ มาตรฐานที่ยอมรับ หน่วยงานต่างๆนำไปดำเนินการได้ ไม่ผิดระเบียบ