ขบวนชุมชนเตรียม 7 ประเด็นปฏิรูปที่ดินเสนอนายกฯ รับวันที่อยู่อาศัยโลก
ขบวนองค์กรชุมชนระดมข้อเสนอปฏิรูปที่ดิน-ที่อยู่อาศัย เตรียมยื่น 7 ประเด็นให้นายกฯ จี้รัฐแก้กฎหมายล้าสมัยไม่สอดคล้อง เป็นอุปสรรคออกโฉนดชุมชนไม่ได้ แนะตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหาคู่ขนานชุดสาทิตย์ พร้อมสมทบเงินกองทุนชุมชนเข้ากองทุนชาติ จัดการปัญหาคนจนไร้ที่อยู่
เมื่อวันที่ 21ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดงาน “ปฏิรูปที่ดินและที่อยู่อาศัย โดยขบวนองค์กรชุมชนและท้องถิ่น” เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก โดย นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผอ.พอช. กล่าวว่า ความไม่มั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทุกพื้นยิ่งจึงจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งและจัดการปัญหาต่างๆด้วยตัวเองให้ได้ ในส่วนของโครงการบ้านมั่นคงเมือง ที่ พอช.สนับสนุน ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 300 แห่งทั่วประเทศ 564 ชุมชน ครอบคลุมเกือบ 100,000 ครัวเรือน และเตรียมที่จะขยายลงระดับชนบทต่อไป
ทั้งนี้มีการประมวลข้อเสนอจากทั้ง 5 ภูมิภาคเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยประเด็นการจัดการที่ดินร่วม โดยชุมชนอย่างยั่งยืน เบื้องต้นเสนอดังนี้ 1.เรื่องโฉนดชุมชน ให้รัฐแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการบังคับใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโฉนดชุมชนให้มีผลในทางปฏิบัติ, จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาโฉนดชุมชนระดับจังหวัด ทำงานคู่ขนานไปกับคณะกรรมการระดับชาติที่มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธาน, รัฐต้องกำหนดระยะเวลาการทำงานให้แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้
2.กรณีที่ดินรัฐที่ยังมีข้อขัดข้องในการดำเนินการ เช่น ที่ดินอุทยานแห่งชาติ, ที่ป่าไม้, ที่สาธารณะ ที่ดินการรถไฟ, ที่ดินสัมปทานที่หมดสัญญา ให้สำนักนายกฯ เป็นตัวกลางในการประสานนำที่ดินมาจัดสรรให้คนจน, ขอให้แก้ไขกติกาประชาคมจาก หากมีผู้คัดค้าน เป็นใช้มติเสียงส่วนมากตัดสินให้ชาวบ้านเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะ 3. จัดตั้งธนาคารที่ดินทั้งในระดับท้องถิ่นหรือตำบล 4.จัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า โดยให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บและสมทบร้อยละ 2 เข้ากองทุนธนาคารที่ดิน
5.ผลักดันกฎหมายคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นรูปธรรม 6.ออกกฎหมายการกระจายถือครองที่ดิน โดยระบุตัวเลขการถือครองต่อครอบครัวให้ชัดเจน และข้อเสนอเร่งด่วนให้รัฐชะลอการจับกุมและระงับคดีกับชาวบ้าน จนกว่าจะทำรังวัดที่ดินทั่วประเทศเสร็จ รวมถึงเร่งรัดมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการผ่อนปรนกฎหมายที่ควบคุมอาคารให้มีผลบังคับโดยเร็ว
สำหรับข้อเสนอต่อขบวนชุมชน 1.ให้สร้างพื้นที่รูปธรรมการจัดการที่ดินร่วมโดยชุมชน 3 ระดับ คือพื้นที่ตำบลที่พร้อมดำเนินการเมื่อรัฐบาลประกาศโฉนดชุมชน ให้มีข้อมูลพื้นที่ที่จะจัดระบบในเรื่องต่างๆ เช่น การรับรองผู้เดือดร้อน, จัดระบบที่ดิน, มีการวางแผนการใช้ประโยชน์ การแก้ปัญหา กองทุนชุมชนและการบริหารกองทุน การถือครองที่ดินร่วมโดยชุมชน เป็นต้น, ขยายการทำงานครอบคลุมเต็มพื้นที่ตำบล ภูมินิเวศน์ และ 3.พื้นที่มีปัญหาความเดือดร้อนและยังไม่ดำเนินการ ให้ตั้งทีมเฉพาะกิจรังวัดที่ดินทั่วประเทศ โดยให้แต่ละชุมชนดำเนินการ รัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ 2.สร้างระบบการเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อสร้างการเรียนรู้ ช่วยพัฒนาและประกันคุณภาพการจัดการของชุมชน โดยให้นายอำเภอออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินระดับตำบลที่ประกอบด้วยชาวบ้านและหน่วยราชการ และ 3.วางแผนการทำงานด้านการสื่อสารกับสังคม
ประเด็นข้อมูลคืนอำนาจชุมชนท้องถิ่นในการจัดการที่ดิน เสนอว่า รัฐต้องเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัย โดยคืนอำนาจหรือรับรองบทบาทในการอนุญาตใช้ที่ดิน ให้ชุมชนเป็นผู้เสนอความต้องการ, จัดให้มีกลไกจัดการที่ดินที่ทำกินและที่อยู่อาศัยระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีองค์ประกอบจากราชการ ท้องถิ่น และชาวบ้าน เพื่อหาข้อยุติการแก้ปัญหาที่ระดับจังหวัด และให้อำนาจชุมชนจัดการที่ดินทุกประเภท รวมถึงป่าชุมชนตามแนวเขตอุทยานฯ
ประเด็นที่ดินเพื่อการดำรงชีวิตและการผลิต ให้รัฐผลักดันแผนระดับชุมชนเป็นเป็นแผนระดับนโยบาย, มอบพื้นที่ที่เหมาะสมของหน่วยงานที่รัฐดูแล เข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาในระบบกรรมสิทธิ์ร่วม, เร่งรัดพิสูจน์สิทธิ์ให้พื้นที่ที่มีการทำข้อมูลกรณีถูกประกาศเป็นพื้นที่ทับซ้อน, ให้กระทรวงมหาดไทยส่งแนวทางการปฏิบัติงานของท้องถิ่นคืนให้ชุมชนจัดการปัญหาของตนเองอย่างเป็นระบบ และจัดตั้งกองทุนระดับชาติ พร้อมสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นการจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัยในพื้นที่เฉพาะ (ท่องเที่ยว, เมืองเก่า,กลุ่มคนเฉพาะถิ่นและคนไร้บ้าน) เสนอให้รัฐเร่งรัดมติ ครม.บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นรูปธรรม, สร้างพื้นที่ประชาธิปไตยจากฐานล่างและรัฐต้องสิทธิความเป็นพลเมือง ในการออกบัตรประชาชน สิทธิการเข้าถึงบริการของรัฐ, เก็บภาษีมรดก เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาการแก้ปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย, มีกองทุนที่ดินที่อยู่อาศัย โดยกระจายการจัดการลงสู้พื้นที่ระดับท้องถิ่น ท้องที่เพื่อประโยชน์ของคนชายขอบ,และประกาศนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่กินเป็นวาระแห่งชาติ
ประเด็นเปลี่ยนกองทุนชาติด้วยกองทุนเมือง เสนอให้สมทบเงินจากกองทุนชุมชนร้อยละ 50 ไปไว้ที่กองทุนชาติ โดยให้รัฐหนุนเสริมเรื่องความรู้และงบประมาณพร้อมยกระดับกองทุนไปสู่การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ผู้ด้อยโอกาส คนเร่ร่อน และเชื่อมโยงกองทุนเมืองและชนบทในเรื่องต่างๆ เช่น สวัสดิการ อาชีพ ที่อยู่อาศัย ฯลฯ รวมถึงออกกฎหมายรับรองกองทุนสวัสดิการทุกกองทุน และผลักดันให้เกิดกองทุนระดับเมืองทุกเมือง
สุดท้ายเป็นข้อเสนอในประเด็นคืนอำนาจชุมชนท้องถิ่นในการจัดการข้อมูลตนเอง มีข้อเสนอให้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลชุมชนตำบลละ 1 แห่ง เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ข้อมูลเป็นเครื่องต่อรองกับอำนาจ หรือการกล่าวอ้างโดยขบวนชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ และรัฐหนุนงบประมาณและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ร่วมทำข้อมูลกับชุมชนด้วย และประเด็นบทบาทสถาบันการศึกษาและเครือข่ายพลังสังคม เสนอให้ภาครัฐในฐานะผู้มีอำนาจการจัดการช่วยประสานความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานธุรกิจ สถาบันการศึกษา และเอ็นจีโอ ในการเชื่อมโยงเครือข่ายคนทำงาน ตลอดจนสร้างภาคีร่วมเพื่อแก้ปัญหาที่ชุมชนเป็นผู้สะท้อน.