เมื่อความรุนแรงทำร้ายเด็กๆ ชายแดนใต้...ระเบิดคร่าชีวิตกำลังพล"อาชาบำบัด"
ควันหลงจากเหตุระเบิดโจมตีทหารพรานที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันศุกร์ที่ 22 ก.ย.60 ไม่ได้มีแค่ความสูญเสียของกำลังพลถึง 4 นาย บาดเจ็บสาหัสอีกหลายนาย จนนำไปสู่การปิดล้อมตรวจค้นครั้งใหญ่เท่านั้น
แต่ความจริงที่ทำให้สลดหดหู่ยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ กำลังพลที่เสียชีวิตเป็นทหารพรานในชุด "อาชาบำบัด" หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ที่ใช้ "กิจกรรมขี่ม้า" ช่วยรักษาอาการป่วยให้กับเด็กพิการทางสมองในพื้นที่ชายแดนใต้
พล.ต.จตุพร กลัมพสุต ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ทหารพราน 44 ได้รับการยอมรับจากประชาชนสูงมาก และโครงการอาชาบำบัดก็ช่วยเด็กๆ ในพื้นที่มามากกว่า 200 คนแล้ว
"ทหารพราน 44 ทำงานเข้มแข็งมาก มีมวลชนร่วมมือจำนวนมาก ที่สำคัญคือมีโครงการอาชาบำบัด เป็นโครงการรักษาเด็กพิการทั้งร่างกายและสมอง ไม่มีใครทำตรงนี้ หน่วยนี้ทำมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว มีเด็กเข้ามารักษาร่วม 200 คน นอกจากนั้นเราต้องหารถขนม้าเอาไปรักษาคนป่วยที่อื่นอีก เช่น อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้หน่วยนี้ได้รับการยอมรับ เมื่อมีประชาชนรักมาก ก็เป็นธรรมดาที่ฝ่ายต่อสู้กับรัฐอาจจะเกิดความอิจฉา เลยมาสร้างเหตุการณ์"
ข้อมูลจากผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ที่ชี้ชัดว่า มีเด็กพิการจากชายแดนใต้เข้าร่วมโครงการ "อาชาบำบัด" มากถึง 200 คน สะท้อนปัญหาสุขภาวะและการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมานานกว่า 1 ทศวรรษ ส่งผลต่อสุขอนามัยของเด็กๆ และเยาวชนในพื้นที่อย่างมาก จนทำให้เด็กๆ ชายแดนใต้มีพัฒนาการทางด้านร่างกายและสมองติดกลุ่มต่ำที่สุดในประเทศ
ข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันตรงกันจาก รอฮานิ เจะอาแซ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระหว่างร่วมเวทีแถลงผลสำรวจเรื่องสถานการณ์เด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจัดโดยองค์การยูนิเซฟ ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งสะท้อนว่าความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทยที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 ทศวรรษ ไม่เพียงกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สภาพเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของคนในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และสตรี ทำให้สุขภาวะและพัฒนาการของเด็กๆ ชายแดนใต้ วิกฤติอย่างยิ่ง
รอฮานี บอกว่า จากการลงพื้นที่ทำงานวิจัยมานานหลายปี พบว่าปัญหาความรุนแรงส่งผลกระทบด้านการสาธารณสุขในเด็กอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงอายุ 0 ถึง 5 ปี มีภาวะขาดวัคซีนมากที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ
"ประเด็นหลักที่เจอเรื่องของวัคซีน คือเรื่องความรุนแรง จะเห็นว่าเด็กที่เติบโตมาในพื้นที่ที่มีความรุนแรงมาก โอกาสที่เขาจะได้รับวัคซีนครบจะน้อยมาก และยิ่งรุนแรงมากยิ่งได้รับไม่ครบ คงต้องไปดูระบบพื้นที่ว่ามีปัญหาอย่างไร เช่น บุคลากรไม่กล้า ทำให้การทำงานเชิงรุกอาจลดลงหรือไม่ ขณะเดียวกันมีเรื่องของความเชื่อบางอย่างที่ผสมเข้าไปด้วย" คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ระบุ
"ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่สีแดงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพบปัญหาแบบเดียวกับที่รอฮานีบอก โดยชาวบ้านในพื้นที่มีความเชื่อว่า เมื่อไปรับวัคซีนมาแล้วเด็กจะป่วย ทำให้ไม่นิยมพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีน ทั้งๆ ที่เป็นผลข้างเคียงปกติที่เกิดขึ้นกับเด็ก ขณะเดียวกันในพื้นที่ที่มีปัญหาความรุนแรง การให้บริการสาธารณสุขเชิงรุกทำได้ยาก เพราะเสี่ยงอันตราย การรับบริการสาธารณสุขจึงมักเป็นฝ่ายชาวบ้านที่ต้องเดินทางไปสถานีอนามัยเท่านั้น
แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ก็ส่งผลให้ผู้ปกครองไม่นิยมพาบุตรหลานไปรับวัคซีนมากขึ้นไปอีก ซึ่งประเด็นนี้ รอฮานี พบว่าเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น
"อีกประเด็นหนึ่งที่มีผลต่อการเข้ารับบริการทางสุขภาพ คือเรื่องของผู้ดูแลเด็กก็สำคัญ เพราะบริบทปัจจุบัน พ่อแม่ต้องทำงานนอกบ้านมากขึ้น เพราะฉะนั้นเด็กจะถูกปล่อยให้อยู่กับผู้สูงอายุ โดยลำพังผู้สูงอายุเองยังดูแลตัวเองไม่ไหวอยู่แล้ว และจะให้พาเด็กไปฉีดวัคซีนคงค่อนข้างยาก"
จากการสำรวจของยูนิเฟซ ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตราเด็กที่ประสบภาวะทุพโภชนาการ หรือเรียกง่ายๆ ว่า "ขาดสารอาหาร" มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ นอกจากการขาดวัคซีนแล้ว เด็กยังมีมีภาวะเตี้ย แคระแกร็น ซึ่งปัญหานี้พบทั่วโลกในประเทศที่มีความรุนแรงยืดเยื้อยาวนาน แต่ในพื้นที่ชายแดนใต้ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี บอกว่า ปัจจัยความรุนแรงยังไม่ใช่สาเหตุหลักโดยตรง แต่เป็นการบริโภคอย่างไม่ถูกหลักโภชนาการมากกว่าที่ทำให้เกิดปัญหา
"สาเหตุหลักๆ ที่ศึกษาทั่วโลก พบว่าเรื่องของการขาดสารอาหารจะเจอในทุกประเทศที่มีความรุนแรง แต่สาเหตุปลีกย่อยต่างกัน เพราะฉะนั้นประเทศที่เกิดการจลาจลนานๆ ส่วนใหญ่เกิดภาวะขาดสารอาหาร แต่ในพื้นที่บ้านเรายังไม่ใช่ เพราะคนบ้านเรามีกิน แต่กินไม่ถูก ส่วนใหญ่ปัญหาเกิดจากพ่อแม่ขาดความรู้และขาดคนดูแลเป็นเรื่องหลัก เช่น เด็กกินเกลือมากกว่าที่แนะนำ 3 เท่า เพราะฉะนั้นเราทำนายว่าเด็กที่เติบโตมาในอนาคตข้างหน้าอาจเป็นความดันโลหิตสูง"
ผลสำรวจของยูนิเซฟและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ชัดว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีใน จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และสงขลา มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ทั้งยังมีภาวะผอมแห้งหรือ "ทุพโภชนาการเฉียบพลัน" สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศด้วยเช่นกัน
บทสรุปจากองค์กรยูนิเซฟ ที่ทำงานช่วยเหลือเด็กทั่วโลก ระบุว่า เด็กที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยยังต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการเติบโต หน่วยงานที่รับผิดชอบและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต้องเร่งหาทางออก ก่อนที่จะเกิดปัญหาตามมามากกว่านี้ในอนาคต
------------------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : นาซือเราะ เจะฮะ (อิศรา), เนื้อแพร พงษ์สุวรรณ (ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี)
บรรยายภาพ :
1 โครงการ "อาชาบำบัด" ของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 (ภาพจากเฟซบุ๊ค "อาชาบำบัด")
2 พล.ต.จตุพร กลัมพสุต ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี
3 รอฮานี เจะอาแซ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี
อ่านประกอบ :
ดักบึ้มทหารพรานที่สายบุรี ดับ 4 เจ็บ 6
แฉคนร้ายใช้ระเบิดถังแก๊ส น้ำหนัก 80 กก.บึ้มทหารพรานสายบุรี
ปิดเมืองสายบุรีล่ามือบึ้มทหารพราน รวบคนงานก่อสร้าง-สงสัยชี้เป้า