จี้รบ.บิ๊กตู่ จัดงบหมื่นล.กระตุ้นใช้ยางในปท.-เพื่อนเนวินโปรยยาหอมชู'ตรังโมเดล'
'ธีระชัย' เพื่อนเนวิน นำเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย บุกเมืองตรัง โปรยยาหอมชู 'ตรังโมเดล' ชม 'อบจ.ตรัง' ทำถนนจากยางพารา คุย รัฐบาลจัดงบกว่าหมื่นล้านกระตุ้นหน่วยงานรัฐใช้ยางในประเทศ เผย โมเดลเครือข่ายสถาบันเกษตรกรฯทำหน้าที่เป็น 'ส.ส.ยาง' ส่วนบอร์ด 'กยท.' เป็น 'รมต.ยาง'
เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่สวนสาธารณะอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี(คอซิมบี๊ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ผู้นำยางพาราต้นแรกมาปลูกที่จังหวัดตรัง เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย นำโดย นาย ธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนใกล้ชิดนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย พร้อมเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ภาคใต้ เหนือ และอีสาน กว่า 100คน ร่วมสักการะพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ก่อนการร่วมประชุมคณะกรรมการเครือข่ายฯ นัดครั้งสุดท้ายในปีงบประมาณ 2560 ในวันที่ 27 กันยายนนี้ ซึ่งเป็นการทิ้งทวนยังจังหวัดตรัง เมืองกำเนิดต้นยางพารา
บรรยากาศการสักการะเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมี นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) นายสุนันท์ นวลพรมสกุล รองผู้ว่ากยท. นายประทบ สุขสนาน รองประธานเครือข่ายฯ นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาพิเศษประธานเครือข่ายฯ และแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง และจากทั่วประเทศเข้าร่วม ทั้งนี้หลังจากที่ทางเครือข่ายฯและกยท.เสร็จพิธีสักการะพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯเรียบร้อย ได้เดินทางลงพื้นที่ดูงานด้านยางพาราทั้งระบบของจังหวัดตรัง โดยเฉพาะการนำยางพารามาใช้ภายในประเทศ อาทิ การทำถนนยางพาราภายโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง(อบจ.)ตรัง มีนายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรังให้การต้อนรับ การผลิตรองเท้าบู๊ทจากยางพารา การทำหมอนยางพารา รวมทั้งการทำยางคอมปาวน์หรือยางแท่ง โดยชุมนุมสหกรณ์สวนยางจังหวัดตรัง จำกัด เป็นต้น
นายธีระชัย กล่าวว่า นโยบายตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย มีระเบียบที่สำคัญที่สุดซึ่งรัฐบาลได้รับปากกับเครือข่ายฯ คือการนำยางพารามาใช้ในประเทศให้มากที่สุด โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม และอีก 8 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะต้นแบบที่อบจ.ตรังดำเนินการ ที่จะชูเป็น ตรังโมเดลของนำยางพารามาใช้ทำถนน ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งนี้หากรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ( กนย.) ให้ความสำคัญกับการนำยางพารามาใช้ในประเทศเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันใช้อยู่เพียง 600,000 ตันต่อปี ให้เพิ่มเป็น 1,2000,000 ตันในปี2560นี้ ดังนั้น รัฐบาลควรให้หน่วยงานของรัฐทั้ง 8 กระทรวงแชร์การใช้ยางร่วมกัน ด้วยการให้แต่กระทรวงตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อน้ำยางพาราไปใช้ นอกจากนี้ในภาคธุรกิจยางในเชิงอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ ต้องเป็นนโยบายที่ปฏิบัติได้จริง อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นกระทรวงคมนาคมต้องนำน้ำยางพาราไปใช้ทำถนน ทำเสาหลักทางโค้ง แผงกั้นทางก่อน โดยล่าสุดกรมทางหลวงได้ตั้งงบประมาณดำเนินการไว้ 450 ล้านบาท ซึ่งทางเครือข่ายฯจะกระตุ้นในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
“การมาประชุมที่ตรังครั้งนี้เป็นการประชุมเคลื่อนที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนา เพราะตรังนำน้ำยางมาใช้ทำถนน รวมถึงผลิตภัณฑ์ เช่น ที่นอน หมอน รองเท้า และอื่นๆ เพื่อการนำไปสู่การพัฒนาและการเข้าถึงแหล่งทุน โดยรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับซื้อเครื่องจักร ขยายกิจการ ตอนนี้ราคายางหลังจากกยท.ได้ตังบรรษัทและผ่านครม.แล้ว ได้ทุนจากเอกชนผู้ส่งออกยาง หรือ ห้าเสือยาง 1 พันล้านบาท และกยท. อีก 200 ล้านบาท เพื่อนำมาซื้อยางในราคาชี้นำตลาด จนขณะนี้ราคายางอยู่ที่ประมาณ 50 กว่าบาทต่อกิโลกรัมแล้ว ต่อไปคงขึ้นอยู่ที่การบริหารจัดการทั้งตลาดในประเทศและตลาดนอกประเทศ ซึ่งภาพรวมในปี 2560 ดีกว่าปี 2559 ที่ผ่านมา ” นายธีระชัย กล่าว
และว่า “การกำเนิดของเครือข่ายฯ ถือว่าผ่านอุปสรรคมาอย่างยากลำบาก แต่ก็ด้วยความร่วมมือของพี่น้องเกษตรกร หลายคนปรามาสว่าเครือข่ายฯของเราเป็นเครือข่ายปลอม แต่วันนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว คนที่ว่าเราเป็นเครือข่ายฯปลอม สุดท้ายก็ไม่สามารถจดทะเบียนได้ เพราะเป็นเครือข่ายฯปลอมเสียเอง วันนี้เครือข่ายฯทั่วประเทศก็เหมือนกับส.ส. เป็นส.ส.ยาง ทั้งประเทศมี 20 กว่าคน ส่วนบอร์ดกยท.ก็เหมือนเป็นรัฐมนตรียาง และทั้งสองส่วนทำงานร่วมกันอย่างเหนียวแน่น และเป็นความหวังของพี่น้องชาวสวนยางได้แน่นอน การมาเมืองตรังครั้งนี้ผมดีใจ เพราะได้มาสักการะพระยารัษฎาฯ ได้มาแก้บน เพราะเคยบนไว้เรื่องราคายางปรับตัวขึ้น และในอนาคตก็อยากมาไว้พระยารัษฎาฯอีก”
ด้านนายธีธัช กล่าวว่า กยท.เน้นการประสานเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ตามบทบาทกยท.ที่เป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบแบบครบวงจร การประชุมเครือข่ายฯระดับประเทศที่จังหวัดตรังในครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญต่อการนำยางพารามาทำถนน เพื่อเป็นแนวทางและอนาคตในเรื่องของการแปรรูปยางพารา โดยถือว่า เป็นองค์ความรู้ที่นำยางพารามาทำถนนเป็นประเทศต้นๆของโลก หากดำเนินการได้เป็นรูปธรรมในอนาคตเชื่อว่า เกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเอง ไม่ม่ความจำเป็นที่จะต้องไปเรียกร้องหรือรับในเรื่องของงบประมาณแก้ปัญหาในระยะชั่วคราว ซึ่งไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
“ในอนาคตเกษตรกรชาวสวนยางจะต้องเพิ่มในเรื่องของการแปรรูปให้มากขึ้น ไปพร้อมๆกับการเสริมคุณภาพยางเพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำซึ่งเกิดขึ้นทุกปี เป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ปัญหาทั้งหมด สิ่งที่ควรมองคือรายได้ของเกษตรกรมากกว่า หากมองเพียงเรื่องราคา ปัญหาราคาจะไม่หมดไป การประชุมเครือข่ายฯ เพื่อรับทราบสภาพปัญหาของพื้นที่ในขณะเดียวกัน และเป็นประสานเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ณ วันนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณปี 2560 จำนวน 16,000 ล้านบาท เพื่อการนำยางไปใช้งานในภาครัฐ และในปี 2561 รัฐบาลจะจัดสรรผลักดันให้หน่วยงานของรัฐใช้ยางมากขึ้น”ผู้ว่ากยท.ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมเครือข่ายฯ ในวันที่ 27 กันยายน จะมีการติดตามข้อมูลจากเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ รวมทั้งจากสถาบันเกษตร ผลการดำเนินงานตามพ.ร.บ. การยาง การจัดทำแผนงานรับผิดชอบของกยท.จังหวัด/เขต การฟื้นฟูโรงอบ/รมยาง การดำเนินการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ผลการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท การค้ำประกันการกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตรา 49(3) ของพ.ร.บ.การยางเป็นต้น
องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เป็นท้องถิ่นแรกในประเทศไทยที่นำถนนยางพารามาดำเนินงานจริง และตั้งงบประมาณต่อเนื่อง โดยก่อสร้างถนนด้วยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมทบงบประมาณกับท้องถิ่นอื่นในพื้นที่อัตรา 60 ต่อ 40 ตั้งแต่ปี 2558-2560 รวมทั้งสิ้น กว่า 120 สายทาง ใช้งบประมาณเกือบ 400 ล้านบาท และสามารถใช้น้ำยางพาราได้มากกว่า 200,000 กิโลกรัม เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำยางสดในจังหวัด และเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคายางพาราตกต่ำโดยใช้เทคนิคทางวิศวกรรมยางหลายประเภท อาทิ การทำถนนพาราสเลอรี่ซิล , ถนนพาราแคปซิล ซึ่งเป็นการฉาบผิวถนนด้วยส่วนผสมจากยางพารา และล่าสุด การทำถนนแบบพาราแอทฟัลติกคอนกรีต ซึ่งเป็นการใช้น้ำยางพาราข้นเป็นส่วนผสมในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยถนนขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 1,000 เมตร ใช้ส่วนผสมของน้ำยางข้นที่ 5,000 กิโลกรัม