เปิดโมเดลพัฒนาข้าวไทย มุ่ง "ชาวนาได้กำไรสูงสุด ไม่ใช่ได้ราคาสูงสุด" (1)
รัฐพึงระวังที่จะใช้อำนาจรัฐกดดันหรือสนับสนุนธุรกิจเอกชนทำนาแปลงใหญ่ โดยให้ชาวนารายย่อยเป็นเพียงชาวนาพันธสัญญา ที่เป็นแรงงานเพาะปลูกข้างและรับความเสี่ยงภัย
เมื่อปลายปี 2559 มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ตั้ง “คณะกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูประบบและพัฒนาข้าวไทย” ขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางการปฏิรูปโครงสร้าง ระบบ และทิศทางการกำหนดนโยบายรัฐบาลเสียใหม่ โดยหวังให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกข้าวของโลกได้อย่างมั่นคงถาวรในระยะยาว และเพื่อให้ “ชาวนาได้กำไรสูงสุด ไม่ใช่ได้ราคาสูงสุด”
ล่าสุด คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้ค้นพบข้อเสนอที่สำคัญๆ ที่จะให้รัฐยกเลิกการแทรกแซงตลาดและราคาข้าวด้วยการจัดซื้อข้าวโดยหน่วยงานของรัฐ แต่หันมาลดต้นทุนการผลิตข้าวด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และกำหนดการปลูกข้าวเปลือกผลิตข้าวสาร ไม่ใช่เพียง “กินอิ่ม แต่ต้องกินอร่อย ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ” ทั้งนี้ เพื่อครองตลาดส่วนบนที่มีกำลังซื้อมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) หยิบรายละเอียดของรายงานการปฏิรูประบบและพัฒนาข้าวไทย มานำเสนอ
1.สภาพปัญหา
ที่ผ่านมารัฐบาลในอดีตนิยมกำหนดนโยบายการแทรกแซงตลาดและราคาข้าวด้วยการประกันราคา การพยุงราคา การแทรกแซงตลาดและมาตรการท้ายสุด คือ การรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาดอย่างมาก โดยหน่วยงานของรัฐ แต่หลีกเลี่ยงไปเรียกว่า “รับจำนำข้าว” ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรการที่ไม่ยั่งยืน เพราะเป็นการสร้างราคาเทียมภายในประเทศไม่สามารถยกระดับราคาที่แท้จริงที่ผูกพันกับราคาตลาดโลกให้สูงขึ้นได้
ประเทศไทยต้องพึ่งการส่งออกเกือบ 50% ของปริมาณการผลิตข้าว ราคาข้าวในประเทศจึงต้องผูกอยู่กับราคาข้าวที่ขายระหว่างประเทศ
แม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุดของโลก คือ ประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณข้าวที่ค้าขายระหว่างประเทศ แต่เนื่องจากปริมาณข้าวที่ค้าขายระหว่างประเทศมีสัดส่วนที่ต่ำมาก เพียงประมาณร้อยละ 6 ของปริมาณการผลิต และการบริโภคของโลก หากรัฐบาลซื้อข้าวจากชาวนาทั้งหมดเก็บไว้ในราคาแพงเหมือนนโยบาย “จำนำข้าว” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ราคาตลาดโลกก็จะไม่ยกสูงขึ้น เพราะหากราคาข้าวขยับตัวสูงขึ้น ทุกประเทศก็จะเพิ่มปริมาณการผลิต โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ดินจากการปลูกพืชชนิดอื่นมากปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคข้าวก็จะหันไปบริโภคธัญพืชอื่นที่ให้คาร์โบไฮเดรตเป็นการทดแทน ตลาดแป้งหรือตลาดคาร์โบไฮเดรตมีขนาดที่กว้างใหญ่มากเกินกว่าที่ราคาข้าวของไทยจะมีอิทธิพลได้
มาตรการแทรกแซงซื้อข้าวของรัฐดังกล่าว จึงเป็นเพียงการแจกเงินแก่ชาวนา พ่อค้า และผู้ทุจริตส่งผลให้ในอนาคตประเทศไทยจะมีปัญหาด้านการแข่งขันกับต่างประเทศ
2.เป้าหมายสูงสุด: มุ่งให้ชาวนาได้กำไรสูงสุด ไม่ใช่ได้ราคาสูงสุด
นโยบายที่ถูกต้องและยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมุ่งลดต้นทุนการผลิต หรือเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนทางการตลาด เพื่อให้ชาวนาได้กำไรสูงสุด และเมื่อลดต้นทุนการผลิตได้ ประเทศไทยก็สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน
|
3.สภาพตลาดของโลกและของไทย
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประเมินว่า
3.1.การบริโภคข้าวทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และอาจลดลงในอีก 10 ปีข้างหน้า จากสาเหตุ
- การชะลอตัวของการเพิ่มประชากร
- ประชากรมีรายได้สูงขึ้นและอพยพสู่เมืองจึงทำให้ปริมาณการบริโภคข้าวต่อคนต่อปีลดลง
3.2.ปริมาณการค้าข้าวระหว่างประเทศจะลดลง ประเทศนำเข้าในเอเชียจะปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงตัวเองมากขึ้น คาดว่าราคาข้าวในตลาดโลกจะลดลงปีละประมาณ 1.3%
3.3. หากยังคงเพาะปลูกและค้าขายในลักษณะเดิมไม่เปลี่ยนแปลงอนาคตการส่งออกข้าวไทยไม่ค่อยแจ่มใสนัก โดยเฉพาะข้าวทั่วๆไปที่มีอยู่ดาษดื่น จึงต้องหันมาเน้นการปลูกส่งออกข้าวที่มีลักษณะเฉพาะหรือมีคุณภาพสูงทั้งรสชาติ (Tasty) ความปลอดภัย (Safety) และคุณค่าอาหาร (Healthy) การเปลี่ยนแนวคิดเพื่อพัฒนาข้าวไทยจากสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) เป็นผลิตภัณฑ์ (Product) ที่มิใช่สินค้าที่กินอิ่มอย่างเดียว แต่กินอร่อย (เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้างสังข์หยด ข้าวสินเหล็ก (ดัชนีน้ำตาลต่ำ) ข้าวอินทรีย์ เป็นต้น) โดยบรรจุหีบห่อที่มีชื่อ มีตราสินค้าเป็นการเฉพาะ
4.การพัฒนาด้านการผลิต เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตข้าวที่ตรงความต้องการของตลาด
4.1.ปัจจุบันผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ... ทั้งที่ชาวนาหลายรายสามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตที่สูงมาก ขณะเดียวกันก็มีชาวนาจำนวนไม่น้อยที่ปลูกข้าวได้ผลผลิตต่ำ (ขาดความเอาใจใส่ ทำนาด้วยโทรศัพท์และจ้างคนมาเพาะปลูก เก็บเกี่ยว) จึงมีผู้กล่าวขานว่า ประเทศไทยมี “ชาวนามืออาชีพน้อย แต่มีอาชีพทำนามาก” จึงสมควรมีมาตรการให้ชาวนาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงเทคโนโลยี การบริหารจัดการในการปลูกข้าวอย่างประณีตจากชาวนาด้วยกันเอง
ทั้งนี้ชาวนาจะเชื่อถือชาวนาด้วยกันที่อยู่ในเงื่อนไขความสามารถ ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกันมากกว่าที่จะเชื่อถือข้าราชการ และนักวิชาการ
การรวมตัวของชาวนาเพื่อทำนาแปลงรวม หรือทำนาแปลงที่ใหญ่ขึ้น จะมีโอกาสใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรในการปลูกข้าวอย่างประณีต เพื่อยกระดับผลผลิตต่อไร่ให้ทันและนำหน้าคู่แข่ง
4.2 พันธุ์ข้าว
คุณูปการในการพัฒนาพันธุ์ข้าวของนักวิชการวิจัยที่ทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่องข้าวและทำรายได้ให้ประเทศ เช่น พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พันธุ์ข้าวเหนียว กข6 ขณะเดียวกันราคาข้าวเปลือกพันธุ์ดังกล่าวก็มีราคาสูงคุ้มค่าต่อการลงทุนปลูกข้าวของชาวนา
ปัจจุบันประเทศไทยมีจุดแข็งในเรื่องสายพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเลิศหลากหลายและมีเทคโนโยลนีที่ทันสมัยในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว (Molegula Breeding) ให้ได้พันธุ์ข้าวใหม่ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค ทั้งรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการโดยใช้เวลาเร็วกว่าวิธีการเดิม (Conventional Breeding) 3-5 ปี
นอกจากพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงต้านทานความแห้งแล้ง ต้านทานแมลงและโรคระบาดแล้ว จำเป็นต้องส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวและส่งเสริมการปลูกที่ตรงความต้องการของตลาด (ไม่ใช่เพียงกินอิ่มแต่ต้องกินอร่อย และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีคุณลักษณะแตกต่างจากตลาดทั่วไป ไม่ใช่สินค้าโหล) เช่น พัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อสุขภาพในการป้องกันและรักษาเบาหวาน และโรคไต กำลังอยู่ในระหว่างการทดลองที่ตรงกับความต้องการของตลาด
4.3.น้ำ
น้ำต้นทุนที่มีอยู่ในประเทสจะขยายได้ยากลำบาก ปัญหาจึงอยู่ที่การจัดสรรและการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ได้ใช้น้ำอย่างคุ้มค่า
- เป้าหมายของรัฐบาลที่จะเพิ่มพื้นที่นาชลประทานให้ได้ 60 ล้านไร่ดูจะมีความยากลำบาก เพราะแหล่งน้ำต้นทุนจำกัด
- คลองซอย (คลองไส้ไก่ ) ควรจะมีการพิจารณาปรับปรุง เพราะปัจจุบันขาดการดูแลเอาใจใส่ส่งผลให้เกิดปัญหาพื้นที่การใช้น้ำในช่วงต้นและปลายคลองมีปัญหาลักหลั่น
ขณะเดียวการการระบายน้ำออกจากนาข้าว ในเวลาที่เหมาะสมก็มีปัญหา เพราะที่นาข้างเคียงปลูกข้าวและต้องการน้ำในเวลาที่ต่างกัน
- รัฐควรกำหนดนโยบายพัฒนาพื้นที่ดินและน้ำ ในบางพื้นที่ที่มีชลประทานให้ชัดเจนอย่างบูรณาการโดยการจัดรูปที่ดินเพื่อปรับระดับความสูงต่ำเพื่อให้น้ำสามารถเข้าถึงพื้นที่ดินได้เสมอกัน ปรับปรุงคุณภาพดินที่แต่ละพื้นที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพดินแตกต่างกัน เสริมเสร้างระบบจัดส่งน้ำและระบายน้ำออกจากนาให้ทั่วถึงมากที่สุด ให้องค์กรของชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบ แผนงาน รวมถึงการจัดสรรน้ำ การจัดเก็บค่าน้ำเพื่อนำเงินไปพัฒนาระบบจัดสรรน้ำให้ดียิ่งขึ้น และช่วยให้ชาวนาได้ใช้น้ำอย่างระมัดระวัง ประหยัด และเหมาะสม (ไม่ใช่ต้นคลองได้เปรียบคนอื่น น้ำฟรีก็จะใช้ในปริมาณที่เกินจริง เข้าลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา)
- การปลูกข้าว (นาปรัง) ให้ได้ผลผลิตสูงสุดต้องเลือกระยะเวลาในการเริ่มเพาะปลูก เพราะหากเวลาข้าวผสมพันธุ์ตั้งท้องอยู่ในช่วงร้อนจัดหรือหนาวจัด จะได้ผลผลิตที่ต่ำ
รัฐบาลต้องตระหนักว่า พื้นที่ใดปลูกข้าวพันธุ์ใดควรจะได้รับน้ำเมื่อไร ชาวนาควรมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการกำหนดว่า จะปล่อยน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดไปที่ใดในเวลาไหน และประชาสัมพันธ์ให้ได้รับรู้ทั่วไป (การไม่ปล่อยน้ำเข้าคลองชลประทานในบางพื้นที่ เพื่อต่อรองให้ชาวนาลดพื้นที่เพาะปลูกข้าว เป็นมาตรการที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีประสิทธิภาพ)
4.4.แนวคิดที่จะจำกัดปริมาณการเพาะปลูกข้าวของไทยลง โดยมุ่งหวังให้ราคาข้าวยกตัวสูงขึ้น เป็นความหวังที่เลื่อนลอย ไม่เป็นความจริง เพราะปริมาณข้าวที่ไทยส่งออกแม้จะดูว่าสูงมากเมื่อเทียบกับปริมาณข้าวที่ค้าขายกันระหว่างประเทศ แต่ปริมาณข้าวที่ไทยส่งออกเมื่อเทียบกับผลผลิตของข้าวทั้งโลก ยังน้อยนิด เพียง 2% ของผลผลิตทั้งโลก ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลดการผลิตของไทยเพื่อยกราคาตลาดโลก...
การจำกัดหรือลดการผลิตของไทย จึงไม่สามารถเพิ่มราคาข้าวในตลาดโลกและในประเทศไทยได้ง่ายอย่างที่บางคนคิด
นอกจากนี้แนวคิดเรื่องการลดการผลิต นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จในการยกระดับราคาข้าวแล้ว หากใช้มาตรการจำกัดการปล่อยน้ำให้ชาวนา หรือบังคับให้ชาวนาปลูกพื้นอื่นทดแทนอย่างสุ่มเสี่ยงกลับเป็นตราบาปและทำลายโอกาสของชาวนาไทย
นโยบายของรัฐที่น่าจะเหมาะสมกว่า คือ ลดปริมาณการปลูกข้าวที่มีอยู่ดาษดื่นในลักษณะสินค้าโภคภัณฑ์ ส่งเสริมการผลิตข้าวที่มีคุณภาพเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์
4.5.การที่รัฐบาลสิ้นเปลืองงบประมาณไปกับการซื้อขายข้าวโดยรัฐบาลและราชการเอง การจำนำข้าว การพยุงราคาข้าว และประกันราคาข้าว รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ วิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าว และปรับปรงการบริหารจัดารน้ำและที่ดิน จะมีประโยชน์มากกว่า
หากมีความจำเป็นทางการเมืองที่ต้องช่วยชาวนารายย่อยทีมีพื้นที่ปลูกข้าวน้อย หรือแทรกแซงตลาดในบางจุดที่ไม่มีการแข่งขันก็ควรใช้เงินในขนาดที่จำกัดมากๆ เช่น การประกันรายได้ให้แก่ชาวนารายย่อย โดยไม่ทำลายประสิทธิภาพการเพาะปลูกและการผลิต หรืออุดหนุนส่งเสริมให้มีการประกันภัยพืชผล
4.6 นาแปลงใหญ่ (Economy of Scale) ช่วยลดต้นทุนได้จริงหรือไม่ แม้ว่านาแปลงใหญ่จะมีความได้เปรียบในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทั้งรถไถ รถดำ รถเกี่ยวข้าว แต่หนทางในการจัดการยังยากลำบาก
- นาแปลงใหญ่ต้องปรับระดับที่ดินให้ความสูงต่ำเสมอกัน เพื่อรับน้ำให้ได้ตลอดทั้งแปลง
- นาแปลงใหญ่ต้องรวมที่นาแปลงเล็กหลายเจ้าของเข้าด้วยกัน มีอุปสรรคค่อนข้างมาก เพราะชาวนาแต่ละรายเมื่อเข้าร่วมแล้วก็จะถูกจำกัดสิทธิ์ที่จะใช้ที่ดินทำอย่างอื่น นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคโดยเฉพาะความเชื่อและวัฒนธรรมที่ไม่ขายที่ดินมรดก
- กฎหมายเช่านา ที่ผู้เช่านาได้เปรียบ เพราะแม้จะตกลงทำสัญญากันกี่ปีก็ตาม กฎหมายกำหนดให้ผู้เช่าสามารถเช่าในแต่ละครั้งได้ไม่น้อยกว่า 6 ปี
- นาแปลงรวมที่มีความหมายว่า รวมเจ้าของนาแปลงเล็กที่มีนาไม่ติดกัน แต่ร่วมกันซื้อและจัดหาปัจจัยการผลิตด้วยกัน ขายข้าวด้วยกัน ถ้าทำได้ก็เป็นทางหนึ่งคล้ายกลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร
- รัฐพึงระวังที่จะใช้อำนาจรัฐกดดันหรือสนับสนุนธุรกิจเอกชนทำนาแปลงใหญ่ โดยให้ชาวนารายย่อยเป็นเพียงชาวนาพันธสัญญา ที่เป็นแรงงานเพาะปลูกข้างและรับความเสี่ยงภัย
สำหรับตอนต่อไป (ตอนจบ) ในรายงานการปฏิรูประบบและพัฒนาข้าวไทย จะว่าด้วยเรื่อง การบริหารจัดการในการเก็บเกี่ยว การอบข้าว การสีข้าว การจัดเกรด แบ่งชั้นข้าวเปลือกและข้าวสาร โรงสีกับโกดังเก็บข้าว การขนส่ง และสุดท้ายเรือลำใหญ่กับเรือลำเล็ก ที่ในอดีตการรับจำนำข้าวได้ส่งผลในทางลบจนเกือบทำลายกลุ่มชาวนาที่ปลูกข้าวอย่างประณีตเหล่านี้