แถลงการณ์ ส.โลกร้อน เรื่อง คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะใหม่ทดแทนโรงเดิม
ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 และศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ลิกไนต์แม่เมาะ คำขอประทานบัตรที่ 14-36/2535 ร่วมแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกันกับประทานบัตรเลขที่ 20010-12,94,189-192/15936-43 และ 20144-49/15916-21 และประทานบัตรเลขที่ 30377-30426/15837-15851 อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการกำหนดขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) (ค1) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา และจะจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนการประเมินรายงานฯ (Public Reviews) (ค2) ในวันอังคารที่ 20 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมาอีกครั้งนั้น
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ในฐานะองค์กรที่ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานของ กฟผ. มาโดยตลอดนั้น ขอคัดค้านการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่เข้าข่ายละเมิดกฎหมายหลายฉบับ ท้าทายสิทธิชุมชน ตามที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครอง รวมทั้งมองข้ามคุณภาพชีวิตของชาวแม่เมาะ โดยเอาความจำเป็นของการใช้ไฟฟ้าของชาติมาเป็นข้ออ้างหรือตัวประกัน โดยที่เพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามเงื่อนไขท้าย EIA ในอดีตจนศาลปกครองมีคำพิพากษาบังคับให้ กฟผ. ต้องรับผิดชอบต่อชาวบ้านในทางละเมิดและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ EIA มาแล้ว แต่ กฟผ. ก็หาใส่ใจไม่
ทั้งนี้ กรณีปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าของ กฟผ.ที่แม่เมาะที่สร้างปัญหาส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของชาวแม่เมาะมาแล้ว และยังแก้ไขเยียวยายังไม่เสร็จสิ้นเลยนั้น แต่กลับคิดที่จะมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม โดยอ้างทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุนั้น ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขท้าย EIA เดิมให้เสร็จสิ้นแล้วเสียก่อน และต้องตอบคำถามตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านในฐานะผู้มีส่วนได้เสียให้ได้เสียก่อน คือ
1.การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ หรือที่ กฟผ.อ้างว่าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเก่านั้น จะชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตจากกิจกรรมการผลิตที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต อย่างไร?
2.การทำเหมืองหรือการขยายเหมืองถ่านหินลิกไนต์ทับแปลงประทานบัตรเดิม กฟผ.จะดำเนินการตามที่ศาลปกครองตัดสินว่าให้ปิดสนามกอล์ฟ และฟื้นฟูสภาพป่า เมื่อไรและ อย่างไร ?
3.กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าที่ กฟผ.แม่เมาะ จัดเก็บเข้ากองทุนปีละเกือบ 400 ล้านบาทนั้น กฟผ. และ กกพ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจนเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่ได้พิสูจน์จากกระบวนการพิจารณาของศาลและการวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางแล้ว ได้รับการชดเชยเยียวยาฟื้นฟูสุขภาพ จากกองทุนดังกล่าวอย่างไร หรือมีส่วนเข้าร่วมบริหารและตรวจสอบกองทุนนี้อย่างโปร่งใส ได้อย่างไร ?
หาก กฟผ.และรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข EIA เดิมเสียก่อน และไม่สามารถตอบคำถามของชาวบ้านข้างต้นได้ สมาคมฯก็พร้อมจะเป็นตัวแทนชาวบ้านในการใช้สิทธิทางศาลเพื่อระงับหรือเพิกถอนรายงานหรือโครงการดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้
ประกาศมา ณ วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2555
นายศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน