6 หน่วยงาน ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน “ข้อมูลยา”
6 หน่วยงาน ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน “ข้อมูลยา” ประชาชนเข้าถึงง่าย ใช้ยาอย่างปลอดภัย หวังลดปัญหาเชื้อดื้อยา เหตุมีผู้เสียชีวิต 20,000-38,000 คน/ปี ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 46,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กทม. ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนานวัตกรรม Mobile Application “RDU รู้เรื่องยา” ระหว่าง 6 หน่วยงาน ประกอบด้วยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) รศ.ดร.ภญ.สุวัฒนา จุฬาวัฒนพล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีศ.ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ให้ประชาชนใช้ยาอย่างสมเหตุผล ปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข จึงกำหนดนโยบายให้สถานพยาบาลในสังกัดทุกระดับพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ความร่วมมือของ 6 หน่วยงานในการพัฒนาแอปพลิเคชันข้อมูลยาในครั้งนี้ ถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาฉลากยา ฉลากยาเสริม และข้อมูลการใช้ยาอย่างปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความรู้เรื่องการใช้ยาที่จำเป็นได้ง่ายขึ้น และมีการใช้ยาอย่างปลอดภัยและสมเหตุผล
ตามความร่วมมือในครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พัฒนาข้อมุลยาที่เป็นมาตรฐาน สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผ่านทางแอปพลิเคชัน ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลยาที่พัฒนาขึ้นได้ง่าย ส่วนคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในการจัดทำข้อมูลและความรู้ด้านยาที่เป็นประโยชน์ เผยแพร่แก่ประชาชน
ขณะนี้ แอปพลิเคชันมีข้อมูลยากว่า 700 รายการ อยู่ระหว่างการทดสอบความสมบูรณ์ เพื่อมอบความรู้เรื่องยา (Drug Literacy) เป็นของขวัญปีใหม่ ปี 2561 แก่ประชาชน โดยใช้แอปพลิเคชันนี้บันทึกข้อมูลยาเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือจากคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่ซองยา ได้แก่ ชื่อโรงพยาบาล ชื่อยาที่ได้รับยา วิธีการใช้ยา ข้อมูลฉลากเสริมพร้อมข้อมูลความปลอดภัยด้านยา เป็นต้น และมีข้อมูลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลยา ข่าวสารเรื่องยา สาระยาน่ารู้ รวมถึงใช้ในการค้นหาโรงพยาบาลและร้านยาคุณภาพ เมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์จะเริ่มใช้ที่รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ. ราชวิถี รพ.วชิรพยาบาล รพ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 10 แห่ง คือ รพ.สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 จ.สุพรรณบุรี รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี รพ.พระพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา รพ.สระแก้ว รพ.ระนอง รพ.กระบี่ รพ.บุรีรัมย์ รพ.อุดรธานี รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา อย่างน้อยปีละ 20,000-38,000 คน ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 46,000 ล้านบาท โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมหรือเกินความจำเป็น ที่ผ่านมาสสส. ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ทำการศึกษาข้อมูลการใช้ยาทำให้พบพฤติกรรมการใช้ยาของคนไทยที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะใน 3 โรคยอดฮิตอย่าง หวัด แผล ท้องเสีย การใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสดเป็นเวลานาน เช่น ยาแก้ปวดคลายกล้ายเนื้อทำให้เสี่ยงต่อโรคไต หรือแม้แต่ยาพาราเซตามอล หากมีการใช้อย่างไม่ถูกต้องจะเกิดพิษต่อตับ ข้อมูลการใช้ยาเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย สสส.จึงยินดีสนับสนุนข้อมูลข่าวสารเรื่องยา สถานการณ์ยาและข้อมูลการใช้ยาที่มีเนื้อหาถูกต้องและทันสมัย โดยเปิดให้เชื่อมโยงผ่าน Application Programming Interface เพื่อนำไปแสดงบน Mobile Application "RDU รู้เรื่องยา" ในหัวข้อ “ข่าวสารเรื่องยา” รวมถึงกระจายการเข้าถึงการใช้ยาอย่างสมเหตุผลผ่านการทำงานตรงไปที่บุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกร ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งเครือข่ายเภสัชกรรมชุมชนในการให้คำแนะนำกับผู้บริโภคในพื้นที่
รศ. นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กล่าวถึงการทำแอปพลิเคชั่น "RDU รู้เรื่องยา" ขึ้นนี้ เป็นความพยายามของเภสัชกรและแพทย์ในเครือข่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาแก่ประชาชนชาวไทยให้มากยิ่งขึ้น โดยประสานกับทั้งฝ่ายการศึกษาและเภสัชกรในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดทำข้อมูลยาของประเทศที่มีมาตรฐาน ทันสมัย และเป็นหนึ่งเดียว โครงการนี้อาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ที่เปิดตัวในวันนี้ เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลยาที่กำลังได้รับหรือที่สนใจได้อย่างทั่วถึง และเชื่อถือได้ ทั้งยังสามาถเก็บข้อมูลยาของตนเองได้ในมือถือ ผ่านการสแกน QR code ที่ติดอยู่บนฉลากยาเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องเขียนบันทึกหรือทำอะไรเพิ่มเติม
ระยะที่ 2 จะมีการเตือนเมื่อถึงเวลากินยา และจะมีระบบเตือนเมื่อได้รับยาที่เคยแพ้ หรือได้รับยาใหม่ที่อาจมีปัญหาตีกันกับยาเดิม สามารถแจ้งบุคลากรผู้สั่งและจ่ายยาได้ในทันที เป็นการป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่รุนแรง จนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
ระยะที่ 3 เป็นความฝันที่จะเชื่อมต่อข้อมูลยาของประชาชนกับสถานพยาบาล เมื่อผู้ป่วยเข้ารักษาตัว เพื่อทำให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่องถูกต้อง และหลีกเลี่ยงการได้ยาซ้ำซ้อน เกินขนาด หรือขัดขวางการรักษา เพิ่มความปลอดภัยด้านยาให้แก่ผู้ป่วยมากขึ้น
"ทั้ง 6 องค์กรนี้ยังเห็นร่วมกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะต้องมีความรู้ในการใช้ยามากขึ้น ใช้ยาได้อย่างถูกต้อง เท่าที่จำเป็น และสมเหตุผล ทั้งสามารถร่วมให้ข้อมูลยาแก่ทีมผู้รักษาได้ แอ๊ปพลิเคชั่นนี้จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญ เพื่อสุขภาพที่ดีของปวงชนชาวไทย"
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อให้ประชาชนในยุคดิจิทัลมีสุขภาพดีถ้วนหน้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พร้อมให้การสนับสนุน โครงการพัฒนานวัตกรรม Mobile Application "RDU รู้เรื่องยา" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันจากหน่วยงานภาครัฐที่นำร่องงาน Health Tech ของเมืองไทย โดยได้ออกแบบและพัฒนาสถาปัตยกรรม ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรด้านสาธารณสุข จนสามารถสร้างระบบบริหารจัดการเนื้อหา (Content Management System) ให้สามารถรองรับบริการผ่านสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์สื่อสารทุกรูปแบบ และได้สนับสนุนบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น GCloud บริการคลาวด์ภาครัฐ GovChannel ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน เป็นต้น เพื่อยกระดับความสามารถด้านการบริหารจัดเก็บข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ สามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้งานมีส่วนร่วมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลยาอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม
นพ.บุญชัย กิจสนาโยธิน นักวิชาการส่วนงานมาตรฐานและการบริการสารสนเทศระบบบริการสาธารณสุข(สมสส.) หน่วยงานภายใต้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สมสส.มีส่วนร่วมในการพัฒนา Mobile Application RDU รู้เรื่องยา ด้วยการเป็นหน่วยงานที่รับพัฒนาและดูแลบัญชีข้อมูลรายการยาและรหัสยามาตรฐานไทย (Thai Medicines Terminology -TMT ) ที่ใช้ในฐานข้อมูลยาของระบบ RDUให้ถูกต้องแม่นยำ ทั้งนี้ Digital Applications ของรัฐบาลหลายระบบเช่นระบบการจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกภาครัฐ(Electronic Govervment Procument - eGP) ของกระทวงการคลัง ระบบข้อมูลเบิกจ่ายค่าบริการสุขภาพ ของกองทุนประกันสุขภาพ ก็ได้ใช้รหัสมาตรฐาน TMT ในการระบุรายการยาอย่างถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งทำให้ในอนาคตการบริการต่างๆของรัฐเชื่อมโยงกันให้บริการประชาชนสะดวกขึ้น
รศ.ดร.ภญ.สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนข่าวสารเรื่องยา และข้อมูลการใช้ยาใหม่ๆ ที่มีเนื้อหาถูกต้องและทันสมัย โดยเปิดให้เชื่อมโยงผ่าน Application Programming Interface (API) เพื่อนำไปแสดงบน Mobile Application "RDU รู้เรื่องยา" เนื่องจากในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยและรวดเร็ว ทั้งทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสังคมออนไลน์ โดยสื่อดังกล่าวมักมีการโฆษณาชวนเชื่อของผลิตภัณฑ์ ยา เครื่องสำอาง และสมุนไพรจำนวนมาก จึงยากที่จะตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ทำให้ประชาชนบางส่วนได้หลงเชื่อซื้อหาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปใช้โดยไม่ทันทราบข้อควรระวัง จนบางครั้งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต ด้วยเหตุนี้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องด้านยา สมุนไพร อาหาร ตลอดจนเครื่องสำอาง ออกสู่ประชาชนในวงกว้าง โดยองค์ความรู้ต่างๆ นั้น ถูกรวบรวมและเรียบเรียงโดยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของคณะฯ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อหาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้อย่างปลอดภัย