ปะการังเทียม-ธนาคารปู!โมเดลฟื้นวิถีประมงสงขลา-แก้ไขปัญหาทำกินยั่งยืน
“…ดังนั้นหากมีแนวปะการังเทียมมาก็จะช่วยป้องกันเรืออวนลากเข้ามาที่ชายฝั่งได้ เมื่อ 2 ปีก่อน ซีซีพีเราได้ออกนโยบายด้านความมั่งคงทะเลที่ใหญ่มาก เราหยุดซื้อปลาที่มาจาก by catch เปลี่ยนมาเป็น by product แต่พบว่าแค่เปลี่ยนการซื้ออย่างเดียวมันไม่พอ เราจึงตั้งทีมพัฒนาชุมชน 22 จังหวัดติดชายฝั่งทะเลด้วยซึ่งสงขลาเป็นจังหวัดแรก ๆ ที่เราเข้ามา…"
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาชาวประมงพื้นบ้านต้องประสบปัญหาในการประกอบอาชีพเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายคนต้องเลิกทำประมงและอพยพไปหาอาชีพใหม่ในเมืองแทน หรือออกเรือไปเป็นแรงงานประมงในประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าในหลายจังหวัดที่ติดทะเลจะมีการแปรรูปอาหารทะเลเพื่อเพิ่มอาชีพและรายได้ แต่ก็พบว่าเกิดขึ้นในบางจังหวัดเท่านั้น
อย่างไรก็ดีจังหวัดภาคใต้แถบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยอย่างจังหวัดสงขลาซึ่งมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากจังหวัดแถบฝั่งทะเลอันดามันที่มีแหล่งท่องเที่ยวและจังหวัดอื่น ๆ ที่สามารถทำสวนผลไม้หรือสวนยางได้ ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับการทำกินมากนัก ?
ทว่าขณะนี้กลับประสบปัญหาสถานการณ์สัตว์น้ำที่จับได้ลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก จากเดิมในช่วงปี 2550 ชาวประมงจับปูม้าได้ครั้งละ 30-40 กิโลกรัมขายกิโลกรัมละ 70 บาทและจับปลาทูได้ครั้งละประมาณ 100 กิโลกรัมขายกิโลกรัมละ 20 -30 บาท
แต่ในปี 2560 ชาวประมงจับปูม้าได้เพียงครั้งละ 5-6 กิโลกรัมขายกิโลกรัมละ 300 บาทและจับปลาทูได้ครั้งละ 1 กิโลกรัมขายกิโลกรัมละ 80 บาท
หรือลดลงมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว !
แล้วชาวบ้านริมชายฝั่งที่ประกอบธุรกิจประมงเขาแก้ปัญหากันอย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
นายนพพร นิลพงศ์ ชาวประมงพื้นบ้านผู้นำกลุ่มชาวประมงจัดตั้งธนาคารปูม้าไข่นอกกระดอง ตำบลระวะ บ้านเลค่าย อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เล่าถึงสาเหตุว่า เบื้องต้นน่าจะเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนทำให้สัตว์ และการทำประมงที่มากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะรับไหว ทั้งการลากอวนขนาดใหญ่ของเรือพาณิชย์ ที่บางครั้งก็เข้าหาแถบน้ำตื้น และความไม่เข้าใจของชาวบ้านที่จับปูไข่นอกกระดอง โอกาสที่สัตว์น้ำจะเติบโตมีชีวิตรอดจึงน้อยลง หากต้องการจับสัตว์น้ำให้ได้มากขึ้นต้องออกไปไกลจากฝั่งทะเลมากขึ้น เรือขนาดพาณิชย์ขนาดใหญ่จึงยังคงสามารถจับสัตว์น้ำได้เยอะ แต่สำหรับเรือประมงพื้นบ้านนั้นมีกฎหมายที่ห้ามออกเรือไกลเกิน 5,400 เมตรจากชายฝั่งเนื่องจากอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ จะไม่ได้รับการชดเชย หรือการช่วยเหลือจากหน่วยงานใดจากการทำประมงพื้นบ้านในแถบนี้
“ชาวประมงจะใช้เรือประมงพื้นบ้านขนาด 7 เมตร 20 เซนติเมตรประมงเป็นอาชีพที่ต้องลงทุนเยอะเช่นอวนที่ต้องเปลี่ยนทุกปี และไม่ค่อยมีสวัสดิการ ไม่มีรายได้ที่แน่นอนไม่ค่อยมีความมั่นคงเราสามารถออกเรือ 162 วัน ส่วนที่เหลือ 202 วันก็คือไม่มีอาชีพเสริม” นายนพพร ยืนยัน
จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ในปี 2559 เกิดการรวมกลุ่มกันของชาวประมงพื้นบ้าน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้กลับคืนมา และเพิ่มความมั่งคงทางอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยปรึกษาศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) และความช่วยเหลือจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) โดยทีมกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) กระทั่งมีการจัดตั้งกลุ่มถูกต้องตามระเบียบของกรมประมง ก่อสร้างโรงเรือนจนแล้วเสร็จในวันที่ 27 มกราคม 2560 ภายใต้ชื่อธนาคารปูกลุ่มธนาคารสัตว์น้ำชุมชน ประมงพื้นบ้าน บ้านเลค่าย อ.ระโนด จ.สงขลา
การดำเนินกิจกรรมของธนาคารแห่งนี้ ประกอบไปด้วย การรับฝากปูม้าที่มีไข่นอกกระดองจากการจับปูของชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งจะต้องนำมาบรรจุไว้ในถังขนาดเล็กที่มีการต่อสายออกซิเจน ถังแต่ละใบจะใส่แม่ปูได้ 1 ตัวต่อถัง 1 ใบเท่านั้น ไข่จะเปลี่ยนสีจากเหลืองอ่อนเป็นเหลืองเข้ม น้ำตาลอ่อน และน้ำตาลตามลำดับ ประมาณ 10-15 วัน แม่ปูจึงจะเริ่มเขี่ยไข่ออกจนหมด แล้วจึงคือให้กับชาวประมงที่เป็นเจ้าของ ส่วนไข่ปูหลังจากใช้เวลาฟัก 1-2 วันจะถูกนำไปปล่อยในทะเลในระยะซูเอี้ย (zoea)
นอกจากการฝากปูม้าไข่นอกกระดองแล้ว ยังมีการทำบ้านปลาซึ่งเปรียบเสมือนการจำลองแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ โดยวัสดุทำจากเชือก และทางมะพร้าวตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน บ้านปลาเหล่านี้จะถูกวางไว้โดยห่างจากฝั่งจากฝั่งกว้าง500เมตรยาว 700เมตร และยังมีการทำสัญลักษณ์แนวเขต มีการหารือกับชาวบ้านว่าบริเวณนั้นห้ามไม่ให้มีการทำประมงทุกชนิดในบริเวณที่ปล่อยไข่ปู อีกทั้งยังมีการให้ความรู้กับชาวบ้านเด็กนักเรียนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึกที่จะช่วยฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ปัจจุบันมีชาวประมงในพื้นที่ตำบลระวะ จังหวัดสงขลา ที่ร่วมด้วยกว่า 60 คน จากชาวประมงในพื้นที่ทั้งหมด 600 คนตั้งแต่เริ่มโครงการปล่อยแม่ปูไปแล้วกว่า 400 กว่าตัวเฉลี่ยไข่ประมาณ 500,000 ฟองต่อแม่ปู 1 ตัว เป้าหมายต่อไปของโครงการตั้งใจจะให้เกิดเป็น 1ตำบล 1 ธนาคารปู ซึ่งมีการขยายผลไปอีก 6 ตำบลใกล้เคียงที่ติดชายฝั่งทะเลได้แก่ ตำบลทองแดง ตำบลท่าบอล ตำบลปากแตระ ตำบลระวะ ตำบลวันสิน ตำบลบ่อตูร่ เป็นต้น
นอกจากการแก้ปัญหา ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลในจังหวัดสงขลาด้วยการทำธนาคารปูแล้ว ยังมีอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญที่จะมีส่วนช่วยให้ในการอนุรักษ์มากขึ้นนั่นคือ การวางแนวปะการังเทียม ซึ่งล่าสุดได้มีพิธีวาง “ปะการังเทียม” ฟื้นทะเล-ชุมชนชีวิตคนชายฝั่ง ให้กับชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา และ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี โดยความร่วมมือระหว่างกรมประมง เครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท ทรูคอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน)
ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง อธิบายถึงการเข้าแก้ไขปัญหาเหล่านี้ว่า ต้องทำอย่างไรให้การประมงยั่งยืนทุกด้าน ทั้งทางบก ทะเล และชายฝั่ง ดังนั้นจึงต้องใช้ พ.ร.ก.การประมงฉบับใหม่ ที่เป็นหัวใจสำคัญเพื่อปฏิรูป นำคนเข้ามาดูแลจัดการทรัพยการให้เหมาะสม เรือทุกลำต้องมีใบอนุญาต กำหนดให้จับปลาได้กี่ตัน เป็นต้น ปัจจุบันกรมประมงพยายามไม่ออกระเบียบที่มากเกินไป และพูดคุยกับชาวประมงก่อน เพื่อไม่ให้เกิดภาระ ให้ทุกคนอยู่ในกติกาเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเอาเปรียบกันได้
ส่วนนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงการวางแนวปะการังเทียมว่า อยู่ในเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในเรื่องของความยั่งยืน ซึ่งได้แนวคิดมาจากภาคประชาสังคมถึงแม้ว่าธุรกิจของซีพีจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมถือว่าเกี่ยวข้องด้วยกันหมด มีส่วนเกี่ยวข้องในการซื้อปลาป่นที่มาจากเศษปลาในโรงงานมาเป็นอาหารกุ้ง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ (by-product) แล้วก็ตามไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประมง แล้วตัดช่องน้อยแต่พอตัวถือว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ที่จะสร้างความตระหนักรู้และลงมือทำ เช่นครั้งนี้ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่องและอาศัยความรู้จากกรมประมงและกองทัพเรือเพื่อให้ไม่กระทบกับแนวเดินเรือของเรือประมงต่าง ๆ ได้
เช่นเดียวกัน ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานโยบายเชิงกลยุทธ์บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การวางแนวปะการังครั้งนี้ ปะการังเทียมที่ใช้เป็นวัสดุแท่งคอนกรีตสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาด 1.5x1.5x1.5 เมตรวางเป็นแนวกำแพงยาวประมาณ 1 กิโลเมตรเพื่อป้องกันเรือปะมงลาก ห่างจากชายฝั่งประมาณ 5-6 กิโลเมตรหรือไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล คืออยู่ในเขตของการทำประมงพื้นบ้าน ต้องลึกมากกว่า 11 เมตรขึ้นไป เดิมการทำปะการังเทียมคือทดแทนแนวปะการังจริง แต่ตอนหลังในประเทศไทยมีการทำประมงที่ใช้อวนลากเขามาในชายฝั่ง ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำและการทำประมงพื้นบ้าน ดังนั้นหากมีแนวปะการังเทียมมาก็จะช่วยป้องกันเรืออวนลากเข้ามาที่ชายฝั่งได้ เมื่อ 2 ปีก่อน ซีซีพีเราได้ออกนโยบายด้านความมั่งคงทะเลที่ใหญ่มาก เราหยุดซื้อปลาที่มาจาก by catch เปลี่ยนมาเป็น by product แต่พบว่าแค่เปลี่ยนการซื้ออย่างเดียวมันไม่พอ เราจึงตั้งทีมพัฒนาชุมชน 22 จังหวัดติดชายฝั่งทะเลด้วยซึ่งสงขลาเป็นจังหวัดแรก ๆ ที่เราเข้ามา
น.ส.อรดา วงศ์อำไพวิทย์ หัวหน้ากฎหมายมหภาคและผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมสัมพันธ์และการศึกษา สำนักบริหารความยั่งยืนฯ อธิบายถึงการช่วยเหลือชาวประมง โดยเฉพาะธนาคารปูว่า แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่อาจมีการพัฒนาส่งเสริม เช่น ธนาคารปูม้าไข่นอกกระดองที่บ้านเลค่าย ซึ่งส่งเสริมจนประกวดและเป็นโมเดลให้กับชุมชนอื่น ๆ รวมทั้งตอนนี้ก็มีความคิดริเริ่มจากธนาคารปูม้าไปสู่ปูดำที่มีมูลค่ามากกว่าด้วย รวมถึงการพัฒนานำเทคโนโลยีในยุค 4.0 เข้ามาปรับใช้ให้ดียิ่งขึ้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การทำประมงพื้นบ้านไม่ได้เป็นเพียงแค่อาชีพ แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิต เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งจากภาวะระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมไป หรือปัญหาความขัดแย้ง ช่องว่างของกฎหมายที่ทำให้เกิดการเอาเปรียบกันนั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่ายเพื่อที่จะอนุรักษ์วิถีชีวิตการทำประมงพื้นบ้าน อนุรักษ์สัตว์น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ให้ได้