น้ำท่วมโคราชอ่วม 7 อ. ตาย 4 กรมชลฯ ระดมแก้ด่วน
นายกฯ ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมโคราช สาหัส 7 อำเภอ เสียชีวิต 4 ราย กรมชลฯ ระดมเครื่องสูบน้ำ–รถบรรทุก ช่วยชาวบ้าน เผยสาเหตุสิ่งก่อสร้างขวางระบายน้ำ
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยเข้ารับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพร้อมมอบนโยบายการช่วยเหลือและตรวจสภาพน้ำท่วมภายในโรงพยาบาลมหาราช อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา หนึ่งในพื้นที่ประสบภัยดังกล่าว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์น้ำท่วมในจ.นครราชสีมาค่อนข้างหนัก และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย
ด้านศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่หลายอำเภอของ จ. นครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. เป็นต้นมา จนส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในเขต อ.ปากช่อง, อ.สีคิ้ว, อ.โชคชัย, อ.สูงเนิน, อ.ด่านขุนทด, อ.ปักธงชัย และ อ.เมืองนครราชสีมา นั้น
กรมชลประทานได้ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมกับเครื่องสูบน้ำจำนวน 49 เครื่อง, เครื่องผลักน้ำ 23 เครื่อง และรถแบคโฮ เพื่อร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในเขตพื้นที่ชุมชนให้ลดระดับลงเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังได้จัดส่งรถบรรทุกขนาดใหญ่สำหรับช่วยเหลืออพยพและขนย้ายสิ่งของของประชาชนที่ได้รับผลกระทบไปไว้ที่ปลอดภัยแล้ว
สำหรับพื้นที่ประสบภัยดังกล่าว ขณะนี้ยังคงมีน้ำท่วมขัง เนื่องจากระบายน้ำไม่ทันและมีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำไหล โดยที่ อ.ปักธงชัย ปริมาณน้ำที่ไหลหลากจาก อ.วังน้ำเขียว ส่วนหนึ่งได้ระบายไหลลงสู่เขื่อนลำพระเพลิง ปริมาณน้ำที่เกินความสามารถในการกักเก็บได้ไหลลงสู่ลำน้ำ กรอปกับมีฝนตกหนักทางด้านท้ายเขื่อน ทำให้เกิดน้ำไหลหลากลงสู่คลองธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและชุมชนในเขตเทศบาลเมืองปัก
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเขื่อนลำตะคอง ถือว่าสามารถช่วยดักน้ำที่ไหลหลากลงมาจากเขาใหญ่ได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากในวันที่ 14 ต.ค. มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ จำนวน 23 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 77 ของความจุอ่างฯ เมื่อมีน้ำหลากจากเขาใหญ่จำนวนมาก จึงสามารถเก็บกักน้ำได้อีกกว่า 60 ล้าน ลบ.ม. ช่วยชะลอน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อน ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งได้แก่ อ.สีคิ้ว, อ.สูงเนิน และ อ.เมืองนครราชสีมา ไม่รุนแรงเพิ่มขึ้น