วิเคราะห์สูตรนายกฯคนนอก-เจาะกลยุทธ์3พรรคดังสู้ยังไงไม่ให้ คสช. ต่ออำนาจ?
“…หากประเมินตาม ‘หน้าฉาก’ ที่แกนนำ 3 พรรคการเมืองชื่อดังออกมายืนยันจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เอานายกฯคนนอก-ปัดต่ออำนาจให้ คสช. แล้ว อาจวาดฝันได้ว่าอนาคตการเมืองไทยคงสดใสขึ้นไม่มากก็น้อย แม้ว่า ณ ขณะนี้ ยังไม่มีหลักประกันว่า จะมีพรรคใดพรรคหนึ่ง ‘ยอมเสีย’ เพื่อแลกกับการโหวตเลือกนายกฯคนนอก แล้วพรรคตัวเองได้เข้าไปนั่งในคณะรัฐมนตรีหรือไม่ก็ตาม…”
ไม่ง่ายนักที่ระดับ ‘บิ๊ก’ นักการเมืองจะมารวมตัวกันเพื่อพูดถึงอนาคตของประเทศ
แต่ในงานสัมมนาสาธารณะเรื่อง ‘โรดแมปไทยไทย ไกลแค่ไหน หรือใกล้เลือกตั้ง?’ ที่จัดโดยผู้เข้ารับการอบรบหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชน ด้านกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 7 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2560
ได้เชิญนักการเมืองชั้นหัวแถวจาก 3 พรรคการเมือง ‘ชื่อดัง’ ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย รวมถึง ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชื่อดัง เป็นผู้ร่วมสัมมนา
ถกเถียง-หารือ-วิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาการเมืองท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้ง และอนาคตของการเลือกตั้งว่าตกลงแล้ว ‘แป๊ะ’ จะยอมให้มีการเลือกตั้ง-คืนอำนาจอธิปไตยให้ปวงชนเมื่อไหร่ ? (อ่านประกอบ : 3พรรคใหญ่เชื่อเลือกตั้งปี’61 ชี้ช่องยืดอายุ คสช.-ขอ‘ทักษิณ-ทหาร’ถอยคนละก้าวเพื่อชาติ)
อย่างไรก็ดีในงานสัมมนาครั้งนี้มีการเผยถึง ‘สูตรการเมือง’ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกวิเคราะห์โดย ผศ.ดร.ปริญญา ที่เชื่อว่า คสช. เขียนรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก แต่ถ้าคนของ คสช. เองต้องการลงจากหลังเสือไปนั่งเก้าอี้ ‘ผู้นำ’ จริง ๆ จะต้องเดินตามหมาก 3 กระดานนี้
หนึ่ง ส.ว.สรรหา ที่เลือกโดย คสช. รวม 250 ราย จับมือกับพรรคการเมืองขนาดกลางรวมจำนวน ส.ส. ให้ได้อีก 176 เสียง (ครบ 376 เกินกึ่งหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ) เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
สอง ส.ว.สรรหา จับมือกับพรรคการเมืองพรรคใหญ่พรรคหนึ่ง รวมเสียงให้ได้เกิน 376 เสียง เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
หรือ สาม พรรคการเมืองพรรคใหญ่จับมือตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แล้วเชิญคนจาก คสช. ไปนั่งเก้าอี้นายกฯคนนอก
ประเด็นเหล่านี้ถูก ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล บิ๊ก ซิโน-ไทยฯ ท่อน้ำเลี้ยงใหญ่แห่งพรรคภูมิใจไทย ฟันธงแน่นอนว่า “ไม่มีทางเกิดขึ้นได้”
แม้ว่า ส.ว.สรรหา 250 ราย จะเป็นคนที่ คสช. คัดเลือกมากับมือก็ตาม แต่ทำหน้าที่ได้แค่ ‘อุ้ม’ มาให้เท่านั้น ไม่สามารถยืนระยะยาวสู้กับ ส.ส. ที่มาจากประชาชนเลือกสรรเข้ามารวม 500 เสียงได้แน่
ที่สำคัญหากต้องการผ่านกฎหมาย หรือบริหารราชการแผ่นดินจะเป็นไปได้ยากลำบาก เนื่องจากต้องผ่านเสียงโหวตเกินกึ่งหนึ่งคือ 251 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร
“คนมัวแต่คิดว่าถ้าได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่อีกฝั่งมีที่ให้คนนอกหรือไม่ ทุกคนที่แย่งกันเป็นคณะรัฐมนตรีหมด แค่ตอนแถลงนโยบายเขาก็ไม่รับแล้ว ไม่ว่าจะมีมติออกกฎหมาย หรือทำอะไรก็แล้วแต่ต้องได้ 251 เสียงถึงรอด แต่สมมติมีการไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีขึ้นมาทั้งชุด จะรอดหรือไม่”
ประเด็นนี้ ‘เสี่ยหนู’ ยอมรับว่า ไม่สนับสนุนรัฐบาลแห่งชาติ เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ในความเป็นจริง ประชาชนจะยอมหรือไม่ เพราะไม่มีระบบตรวจสอบ
“ไม่มีใครปิดฟ้าด้วยมือได้ มันเป็นหลักสากล มันเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจว่าเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเขียนอะไรก็แล้วแต่ มันมีจุดตันอยู่ ถ้าไม่ซอย 5 ก็ซอย 3 เท่านี้”
เช่นเดียวกับนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ มือกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า รัฐบาลที่นำโดยใครก็ตามที่ ส.ว.สรรหา เป็นคนเลือกเข้ามาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลนั้น แม้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่การบริหารแผ่นดินทำได้ยากแน่
“ไม่รู้ใครจะมาเป็น ส.ว. 250 ราย แต่ถ้าคุณไม่ยกมือสนับสนุนเสียงข้างมากในสภา บ้านเมืองมีปัญหาแน่ แล้วคุณไม่สนับสนุนเขา คุณหาทางสนับสนุนคนอื่น ถ้าทำอย่างนั้น อย่าปล่อยให้บ้านเมืองมีปัญหาดีกว่า ในเมื่อเราเลือกที่จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตัดสินใจร่วมกัน อยู่ด้วยกันในระบอบนี้ ก็เดินไปข้างหน้าแบบนี้ ผลเป็นอย่างไร ปล่อยให้พรรคการเมืองดำเนินการตามเสียงของประชาชน ถ้าเขาจับมือรวมกันได้มาก ก็ต้องให้เขาเป็นรัฐบาล ใครเสียงข้างน้อยก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน ถ้าเป็นไปแบบนี้บ้านเมืองไม่มีปัญหา”
สอดคล้องกับความเห็นของ ‘คุณหญิงหน่อย’ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำรุ่นบุกเบิกของพรรคไทยรักไทย ปัจจุบันเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ที่ยืนยันจุดยืนว่า ไม่สนับสนุนวิธีพิเศษใด ๆ อย่างแน่นอน
“การจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้มองว่าพรรคเพื่อไทยต้องเป็นรัฐบาลอย่างเดียว แต่ต้องมองว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะทำอย่างไรให้ปัญหาการเมืองมันจบ และสามารถรักษากติกาในระบอบรัฐสภาไว้ได้ มีปัญหาระบอบรัฐสภาต้องเป็นผู้แก้ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเสียงต้องเป็นผู้ตัดสินใจ”
หากประเมินตาม ‘หน้าฉาก’ ที่แกนนำ 3 พรรคการเมืองชื่อดังออกมายืนยันจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เอานายกฯคนนอก-ปัดต่ออำนาจให้ คสช. แล้ว อาจวาดฝันได้ว่าอนาคตการเมืองไทยคงสดใสขึ้นไม่มากก็น้อย
แม้ว่า ณ ขณะนี้ ยังไม่มีหลักประกันว่า จะมีพรรคใดพรรคหนึ่ง ‘ยอมเสีย’ เพื่อแลกกับการโหวตเลือกนายกฯคนนอก แล้วพรรคตัวเองได้เข้าไปนั่งในคณะรัฐมนตรีหรือไม่ก็ตาม
แต่ขึ้นชื่อว่า ‘การเมือง’ ย่อมเป็นเกมอำนาจ และการต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มต่าง ๆ แน่นอนว่า ‘หลังฉาก’ ที่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าขณะนี้มีการ ‘ดีล’ กันถึงขั้นไหนอย่างไร ?
ต้องไม่ลืมว่าในอดีต ‘บิ๊กนักการเมือง’ หลายรายเคย ‘สลับค่าย-ย้ายขั้ว’ กันจัดตั้งรัฐบาล จนเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งมาแล้วหลายรอบเช่นกัน
ท่ามกลางการขึงตาข่าย-วางเกมของฝ่าย ‘ท็อปบู้ต’ สะท้อนให้เห็นผ่าน ‘คำถาม 4 ข้อ’ ของ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่เน้นย้ำให้มองไม่เห็นเค้าลางของการเลือกตั้งชัดเจนขึ้นอีก
‘ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร’ คำนี้ยังคงจริงเสมอในแวดวงการเมืองไทย ?
ท้ายสุดการเลือกตั้งจะมีขึ้นไหม ถ้ามี จะจัดได้เมื่อไหร่ คงต้องติดตามกันต่อไปยาว ๆ อย่างน้อยก็ถึงสิ้นปี 2561