เปิดวิสัยทัศน์ 2 แคนดิเดท อธิการบดี มธ.คนใหม่
กระบวนการสรรหาอธิการบดีใหม่ ที่ได้แคนดิเดท 2 คน ที่ได้รับคะแนนหยั่งเสียงมากที่สุดจากประชาคมธรรมศาสตร์หลายพันคน โดยอันดับ 1 ได้รับการเสนอชื่อจาก 49 หน่วยงาน คิดเป็น 98% ของหน่วยงานทั้งหมด อันดับ 2 ได้ 33 หน่วยงาน คิดเป็น 66%
งวดเข้ามาทุกที สำหรับกระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนใหม่ โดยวันที่ 19 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเปิดให้ผู้ตอบรับการทาบทามเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีจำนวน 2 คน ตามลำดับอักษร ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ และรองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ แถลงแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัย โดยระบบประชุมทางไกล (Teleconference) ไปยัง 4 ศูนย์การศึกษาพร้อมกัน ประกอบด้วย ท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์ลำปาง และศูนย์พัทยา ไม่เกินคนละ 20 นาที และตอบคำถามได้ไม่เกินคนละ 20 นาที
ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงกระบวนการสรรหาอธิการบดีใหม่ ได้แคนดิเดท 2 คน โดยได้รับคะแนนหยั่งเสียงมากที่สุดจากประชาคมธรรมศาสตร์หลายพันคน
อันดับ 1 ได้รับการเสนอชื่อจาก 49 หน่วยงาน คิดเป็น 98% ของหน่วยงานทั้งหมด
อันดับ 2 ได้ 33 หน่วยงาน คิดเป็น 66%
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำวิสัยทัศน์ ของ 2 แคนดิเดท มานำเสนออย่างย่อๆ เพื่อให้เห็นถึงแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย นโยบายและแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัย
คนแรก รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ
แนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอต่อคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี และประชาคม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องไม่ทำหน้าที่แต่เพียงแค่การผลิตบัณฑิต สร้างงานวิจัย และงานวิชาการเท่านั้น หากแต่ต้องทำหน้าที่ในการ “สร้างคน” ที่มีความสามารถเพื่อไปขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆเพื่อไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆดีๆให้กับประเทศและสังคมโลก ดังนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงต้องมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์ ดังนี้
วิสัยทัศน์
มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้นำรุ่นใหม่เพื่อสังคมไทยและนานาชาติ “Grooming Next-Generation Leaders for Thailand and International Communities”
ภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยจึงมีหน้าที่ขับเคลื่อนพันธกิจในด้านต่างๆที่จะช่วยนำพาให้เดินหน้าและพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่วิสัยทัศน์ที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผล ดังนี้
พันธกิจ
• สร้างความโดดเด่นทางวิชาการที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับชาติและนานาชาติ – ด้วยการระดมทรัพยากรจากทุกฝ่ายในการพัฒนาทั้งด้านหลักสูตรใหม่ๆ ทั้งหลักสูตรภาษาไทยที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และหลักสูตรนานาชาติที่เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก รวมถึงการสร้างสรรค์ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการ และกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ ที่มิได้เน้นเฉพาะปริมาณของผลงาน หากแต่มุ่งที่จะสร้างผลงานที่จะไปช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญๆทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นในด้านนโยบาย หรือด้านแนวปฏิบัติต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
• สร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ กับองค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมตามยุทธศาสตร์ของประเทศ – โดยเลือกเฉพาะองค์กรที่มีความพร้อม และความมุ่งมั่นจริงจังในการทำงานร่วมกัน ทั้งที่เป็นสถาบันการศึกษาหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน หน่วยงานไม่แสวงหากำไร จากทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อมาขับเคลื่อนโครงการเชิงนวัตกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งระดับหน่วยงาน ระดับประเทศ และระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับโลก โดยเริ่มต้นจากโครงการที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของประเทศมาดำเนินการก่อน
• สร้าง Smart Organization โดยบูรณาการ คน เงิน ระบบงาน บนฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ – เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตามแนวคิดความเป็นองค์กรเพรียวกระชับ (Lean Organization) ลดขั้นตอนการทำงานที่ยืดเยื้อซ้ำซ้อน ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีที่จะทำให้คนทำงานทุกคนทำงานอย่างสมาร์ทมากขึ้น ใช้เวลา ใช้คน ใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยร่วมมือกับกลุ่มผู้นำด้านเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ แต่รวมถึง Tech Startups ในด้านต่างๆ เพื่อทำให้ทุกมิติของการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมีเทคโนโลยีเป็นฐานในการต่อยอดไปสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ
• สร้างทุนมนุษย์โดยการพัฒนาคนทุกกลุ่ม ทุกระดับให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง – คนถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดขององค์กร มหาวิทยาลัยจึงมีพันธกิจหลักในการพัฒนาคนทุกกลุ่ม ทุกระดับ ให้มีความสามารถในการทำงานในหน้าที่รับผิดชอบของตนเอง การทำงานร่วมกับคนอื่น การพัฒนาตนเองไปในหน้าที่งานใหม่ๆที่สนใจ การเพิ่มเติมทักษะใหม่ๆที่สำคัญต่อการทำงานในศตวรรษที่ 21 โดยอิงตามกรอบของ 10 ทักษะที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงานในอนาคตตามที่ปรากฏในรายงานของ World Economic Forum ภายใต้วิสัยทัศน์ และพันธกิจตามข้างต้น เป้าหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องดำเนินไปให้บรรลุในช่วง 3 ปีข้างหน้า จึงกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
เป้าหมาย
• บัณฑิตธรรมศาสตร์ทุกคนได้รับการปลูกฝัง ความรู้และทักษะด้านความเป็นผู้ประกอบการ – เพื่อให้สอดรับกับทิศทางโลก และแนวโน้มที่เป็นลักษณะเด่นของคนใน Generation Z ซึ่งจะตอบโจทย์เป้าหมาย และนโยบายในการมุ่งไปสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยเช่นกัน
• ผลงานวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ที่ร่วมมือกับภาคเอกชน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมของประเทศ และส่งผลต่อการกำหนดนโยบายสำคัญๆ ของประเทศอย่างสม่ำเสมอ – นอกเหนือจากการสร้างคนในทิศทางข้างต้นแล้วผลงานวิจัย ผลงานวิชาการ และกิจกรรมทางวิชาการต่างๆก็พึงสอดรับไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้งานวิชาการในทุกรูปแบบของธรรมศาสตร์ ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์เรื่องการตีพิมพ์ในฐานวิชาการระดับนานาชาติเท่านั้น หากแต่ต้องสนองตอบต่อความต้องการของประเทศ และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมชุมชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง ทั้งนี้ภายใต้แนวคิดดังกล่าว เป้าหมายต่อเนื่องที่สำคัญประการหนึ่งก็คือการจัดตั้งศูนย์วิศวกรรมทางการแพทย์ที่ดีที่สุดในประเทศ ซึ่งสามารถการันตีได้ด้วยจำนวนสิทธิบัตรและจำนวนรางวัลระดับนานาชาติมากที่สุดในประเทศในช่วงระยะ 3 ปีของการบริหารมหาวิทยาลัย
• ดัชนีความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยเพิ่มสูงขึ้นในทุกมิติ – การดำเนินงานตามเป้าหมายข้างต้นทั้งหมดจะต้องเป็นไปในบริบทที่ไม่คิดเฉพาะในขอบรั้วของประเทศ หากแต่ต้องดำเนินไปในลักษณะที่เชื่อมโยงกับบริบทของนานาชาติโดยขั้นต่ำก็ต้องคิดถึงอาเซียน ไปจนถึง เอเชียแปซิฟิค และไปในระดับโลกในที่สุด ทั้งในด้านการเรียนการสอนที่ครอบคลุมทั้งหลักสูตรที่ต้องมีความเป็นนานาชาติทั้งในด้านเนื้อหา วิธีการเรียนการสอน กิจกรรมเสริมหลักสูตร นักศึกษาต่างชาติทั้งแบบเต็มเวลา และนักศึกษาแลกเปลี่ยน อาจารย์ชาวต่างประเทศ ทั้งที่เป็นอาจารย์เต็มเวลา Visiting Professors, Research Professors รวมถึงความร่วมมือในระดับวิชาการ ระดับนานาชาติในด้านต่างๆ ทั้งนี้เพื่อทำให้ดัชนีความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย เพิ่มสูงขึ้นในทุกๆมิติ
• ทุกคณะมีโครงการที่ตรงกับความเชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนในด้านต่างๆ โดยประสานความร่วมมือระหว่างอาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่า ความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนที่เป็นปณิธานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธรรมศาสตร์จะต้องปรากฏชัดในทุกๆหน่วยงานของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในหน่วยงานวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จะต้องนำความเชี่ยวชาญเหล่านั้นออกมาให้บริการสังคมและชุมชนให้เป็นที่ประจักษ์ชัดทั้งในสังคมไทย และในประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ
• หน่วยงานภายในทำงานแบบบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน – การทำให้หน่วยงานสนับสนุนวิชาการทั้งหมดทำงานประสานและเชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ (Seamless Integration) ถือเป็นเป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งเพื่อลดความซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้องค์กรโดยรวมมีความเพรียวกระชับมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องให้งานวิชาการในด้านต่างๆสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย
• มีดัชนีคุณภาพคน คุณภาพงาน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัย –ภายใต้แนวคิดที่ว่าถ้าวัดผลได้ ก็ปรับปรุงได้ มหาวิทยาลัยจึงตั้งเป้าหมายในการพัฒนาดัชนีคุณภาพคน คุณภาพงาน สำหรับงานในสายสนับสนุนวิชาการขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงระบบงาน และพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับปรุงงานต้องดูทั้งขั้นตอนการทำงาน เทคโนโลยีสนับสนุน เครื่องมือ อุปกรณ์ กฎ ระเบียบข้อบังคับ และสภาพแวดล้อมในการทำงานอื่นๆ ส่วนการพัฒนาคนก็ต้องดูให้ครบถ้วนในทุกมิติทั้งความรู้ความสามารถ สุขภาพกายใจ และจิตวิญญาณเพื่อให้คนมีสุขภาวะที่ดี มีความรักความผูกพันต่อองค์กร มีความสุขในการทำงานเพื่อมุ่งมั่นพัฒนางานและพัฒนาตนเองต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร. กำชัย จงจักรพันธ์
วิสัยทัศน์: สร้างบัณฑิตที่มีคุณธรรมและความสามารถ ด้วยองค์ความรู้ที่ทันสมัยพัฒนาสังคมไทยสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่เป็นรูปธรรม : เข้าสู่การจัดลําดับของสถาบันการจัดอันดับที่ได้รับการยอมรับและธรรมศาสตร์ต้องอยู่ในลําดับที่ดีขึ้น
พันธกิจ :
1. สนับสนุนให้เกิดผลงานวิชาการและงานวิจัยที่มีคุณภาพในรูปแบบต่างๆ ในระดับWorld-class
2. สร้างบัณฑิตที่มีความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม และพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง
3. ร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมผ่านการให้บริการทางวิชาการที่ตรงประเด็นและหลากหลาย
4. ชี้แนะและร่วมนําประเทศด้วยองค์ความรู้ที่บูรณาการ
5. บริหารงาน บริหารคนอย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วม ภายใต้ความโปร่งใสและหลักธรรมาภิบาล
6. ทํานุบํารุงศิลปะ วัฒนธรรมไทย และเผยแพร่อัตลักษณ์ธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : มหาวิทยาลัยของประชาชน Thammasat University : University for the people
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนที่ยึดมั่นในความเสมอภาคทางการศึกษา ให้หลักประกันแก่ ส่วนรวม ประชาชนไม่ว่ายากดี มีจน ไม่ว่า อยู่ในเมืองหรือชนบท ไม่ว่ามีโอกาสหรือด้อยโอกาส จะได้ศึกษา เรียนรู้ในธรรมศาสตร์ได้อยางเต็มที่และทั่วถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐที่ยึดมันในพันธกิจที่จะบริการสังคมที่มุ่งมั่นจะตอบสนองความต้องการการศึกษาของชาติ ไม่ว่าสาขาวิชาหรือความรู้ในแขนงนั้น ๆจะก่อให้เกิดรายได้หรือไม่ เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ รักษาคุณภาพและมาตรฐานทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน ที่ไม่เพียงแต่สอนให้นักศึกษาเป็น “คนเก่ง” ในทางวิชาความรู้เท่านั้น แต่มีปณิธานให้นักศึกษาเป็น “คนดี”ของสังคมด้วย บัณฑิตธรรมศาสตร์ไม่เพียงแต่ “รับผิดชอบ” ต่อตนเองและครอบครัวได้ แต่สามารถ “รับผิดชอบ” ต่อสังคมและส่วนรวมได้ด้วย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน ที่มีภาระกิจไม่จํากัด เพียงแค่ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคม แต่มหาวิทยาลัยต้องเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ ความรู้สู่ชุมชน มหาวิทยาลัยต้องเป็นแสงสว่างให้แก่ สังคมได้ และต้องมีบทบาทในการร่วมนําประเทศชาติด้วยองค์ความรู้อยางบูรณาการ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน ที่ไม่ยืนข้างซ้าย ไม่ยืนข้างขวา แต่ยืนอยู่ข้างความถูกต้อง ชอบธรรม มหาวิทยาลัยจะคงบทบาทความเป็นผู้นําทางสังคมที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เคารพในความแตกต่างทางความคิดเห็น และเคารพในกรอบกติกาของบ้านเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน ที่เรียนรู้ตลอดชีวิต เท่าทันต่อความเจริญของเทคโนโลยี ปรับตัวได้ต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม ไม่วาธรรมศาสตร์จะอยู่ ที่ท่าพระจันทร์ หรือรังสิต ไม่ว่าลําปางหรือพัทยา ไมว่า ที่ไหน ๆ และไม่ว่าวันนี้ หรือวันหน้า ไม่ว่าเป็นมหาวิทยาลัยในระบบราชการ หรือมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีจิตวิญญาณเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนตลอดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สมคิด เลิศไพฑูรย์:จดหมายเปิดผนึกถึงชาวธรรมศาสตร์
การเลือกอธิการบดี มธ. คนใหม่ : จดหมายเปิดผนึกถึงชาวธรรมศาสตร์