เวทีสิทธิมนุษยชนอาเซียน นักวิชาการชี้ กม.ไม่สมเหตุละเมิดสิทธิคนอยู่กับป่า
เวทีประชุมนานาชาติว่าสิทธิมนุษยชนอาเซียน นักวิชาการหวั่นป่าไม้กัมพูชากำลังวอดเพราะระบบเกษตรพันธสัญญาทุนนิยม ด้านเกษตรกรไทยถูกฟ้องยับปัญหาป่าไม้ที่ดินในเขตป่า เหตุ จนท.ไม่เข้าใจ-กม.ตึงเกินไปไม่มองเหตุผล ที่ประชุมประนามรัฐบาลงดวีซ่านักสิทธิเวียดนามเข้าไทย
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม เครือข่ายสิทธิมนุษยชนศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “สิทธิมนุษยชนในอุษาคเนย์” ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ นางสาวเบตตี้ โรสิตา ส่าหรี นักวิจัยจากอินโดนีเซีย กล่าวถึงกรณีศึกษาการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เกษตรกรรมกำปงสะปือ ประเทศกัมพูชา ว่ามีรูปแบบเกษตรพันธสัญญาแบบทุนนิยมโดยนายทุนขายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรไปปลูก แล้วเก็บผลผลิตมาขายให้นายทุน ทั้งนี้ในประเทศกัมพูชาไม่มีข้อกำหนดว่าป่าไม้ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่รัฐ จึงทำให้เกิดการทำลายป่าไม้ในวงกว้างเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก เพราะเกษตรกรกลัวได้ผลผลิตไม่เพียงพอตามสัญญาที่ทำไว้กับนายทุน และสถานการณ์กำลังน่าเป็นห่วง
ด้านนางสาวโสธรสินี สุภานุสร นิสิตสาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีศึกษาบ้านแม่อมกิ จ.ตาก ว่ายังใช้วิถีเกษตรกรรมดั้งเดิมโดยการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้มองว่าเป็นการทำลายป่า จึงมีการจับกุมชาวบ้านในข้อหาทำลายป่า ชาวบ้านยังถูกฟ้องในคดีโลกร้อนด้วย จากกงานวิจัยยังพบว่าผู้มีอำนาจใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่มีความรู้และไม่สามารถเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้การต่อศาลได้ จึงมีผู้ถูกจับและต้องเสียเงินเพราะแพ้คดีอยู่ตลอดเวลา
“ที่แม่ฮ่องสอน มีผู้หญิงสูงอายุคนนึงถูกจับติดคุก 2 ปี ที่หล่มศักดิ์ก็มีคนถูกฟ้องคดีแพ่งเพราะไปรับจ้างทำไร่ในพื้นที่ทับซ้อน เลยถูกจับข้อหาสร้างความเสียหายให้กับป่าไม้ เรียกร้องค่าเสียหาย 200,000 บาท แต่เพราะหลักฐานของจำเลยทำให้ศาลรับฟังข้อโต้แย้งจนแหลือ 30,000 บาท”
นางสาวโสธรสินี กล่าวอีกว่า มีการช่วยเหลือกันเองของคนในชุมชนบ้านแม่อมกิ รวมทั้งเอ็นจีโอ นักกฎหมาย นักวิจัน ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายช่วยเหลือคดีชาวบ้าน ทำให้มีความน่าเชื่อถือจนศาลยกฟ้องคดีชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อให้ชาวบ้านมีสิทธิในการดำเนินชีวิตประจำวันตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วย
“อยากให้ปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ที่ดินให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษย์ชนและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญชุมชนต้องตระหนักในสิทธิของตนด้วย ควรให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนที่จะอาศัยในพื้นที่ป่า เช่น การจัดการทรัพยากรโดยชุมชน อย่างที่รัฐบาลทำอยู่ตอนนี้เรื่องโฉนดชุมชน แต่ต้องแน่ใจว่าจะไม่มีการเปลี่ยนมือ สิ่งที่ต้องปรับปรุงไปพร้อมๆกันคือทัศนคติของเจ้าหน้าที่ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาประเทศต้องมองคนเป็นศูนย์กลางมากกว่าเศรษฐกิจ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร. ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ยังแถลงข่าวในนามคณะผู้จัดประชุมครั้งนี้ประณามการกระทำของรัฐบาลไทยที่ระงับวีซ่าเข้าประเทศของ นาย โว วัน อาย นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนเวียดนาม ที่มีกำหนดการเข้ามาแลกเปลี่ยนทางวิชาการเรื่อง “ความเป็นสากลและความเฉพาะเจาะจงของหลักสิทธิมนุษยชน และมุมมองทางพุทธศาสนาของเวียดนาม” โดยกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับคำแถลงในฐานะประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่เคยให้คำมั่นว่ารัฐบาลไทยจะยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน .