ยูนิเซฟชี้เด็กในจังหวัดชายแดนใต้ประสบภาวะขาดสารอาหารมากที่สุด
ยูนิเซฟและสำนักงานสถิติแห่งชาติได้เผยแพร่ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนใต้ โดยระบุว่า จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยมีอัตราของเด็กที่ประสบภาวะทุพโภชนาการมากที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ
ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีรายจังหวัด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและสนับสนุนโดยยูนิเซฟ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น (ความสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุ) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยในจังหวัดนราธิวาสมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นสูงถึงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 11 ในขณะที่จังหวัดยะลา ปัตตานี สตูล และสงขลา อัตรานี้อยู่ที่ร้อยละ 21 ร้อยละ 19 ร้อยละ 17 และร้อยละ 13 ตามลำดับ
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหานี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะมันหมายความว่า เด็กที่อยู่ในจังหวัดเหล่านี้ไม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน การขาดสารอาหารทำให้การเจริญเติบโตทางร่างกายและการพัฒนาสมองของเด็กต้องหยุดชะงัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ ทั้งหมดนี้ส่งผลเสียในระยะยาวต่อตัวเด็กเองและสังคมโดยรวม
นอกจากนี้ อัตราของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีภาวะผอมแห้งหรือภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลันในจังหวัดชายแดนใต้ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเช่นกัน อัตรานี้สูงสุดในจังหวัดปัตตานีเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในชายแดนใต้ คือร้อยละ 13 ตามด้วยจังหวัดนราธิวาสที่ร้อยละ 11 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 5
หลังจากที่ยูนิเซฟและสำนักงานสถิติแห่งชาติได้เผยแพร่ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในระดับประเทศไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยูนิเซฟและสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจเจาะลึกในอีก 14 จังหวัดที่มีอัตราความยากจนสูงสุดตามรายงานประจำปี 2554 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งรวมถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสำรวจครั้งนี้มุ่งเน้นให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของเด็กที่ขาดโอกาสและเสี่ยงมากที่สุดของประเทศไทย เพื่อช่วยวางแผนงานและกำหนดโครงการต่างๆ ในระดับจังหวัดเพื่อก่อให้เกิดความเสมอภาคยิ่งขึ้น
ผลสำรวจยังชี้ว่าการได้รับวัคซีนของเด็กยังคงเป็นปัญหาสำคัญในจังหวัดชายแดนใต้ ในขณะที่ทั่วประเทศไทยมีเด็กอายุ 12-23 เดือนร้อยละ 72 ได้รับภูมิคุ้มกันครบก่อนอายุ 1 ปี แต่สัดส่วนนี้ต่ำมากในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ที่เพียงร้อยละ 37 ร้อยละ 39 และร้อยละ 40 ตามลำดับ
ผลสำรวจรายจังหวัดยังพบว่า เยาวชนอายุ 15-24 ปีในจังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากเอชไอวี โดยในจังหวัดนราธิวาสมีเยาวชนชายเพียงร้อยละ 16 และเยาวชนหญิงเพียงร้อยละ 21 ที่สามารถตอบคำถามได้ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอชไอวี ในขณะที่จังหวัดปัตตานี เยาวชนชายร้อยละ 20 และเยาวชนหญิงร้อยละ 25 ตอบคำถามได้อย่างถูกต้อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระดับความรู้ความเข้าใจของเยาวชนในจังหวัดเหล่านี้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 45 สำหรับเยาวชนชาย และร้อยละ 46 สำหรับเยาวชนหญิง
ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า เด็กที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนใต้ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากเกินไปในการเติบโตขึ้น เราต้องพยายามมากขึ้นในการช่วยให้เด็กๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ และสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีรายจังหวัดถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะช่วยวางแผนการทำงาน และจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอเพื่อเข้าถึงเด็กและสตรีที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด
ดาวน์โหลด รายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีใน 14 จังหวัดของประเทศไทย (ฉบับเต็ม) และผลสำรวจรายจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้ที่ http://bit.ly/MICS5THSOUTH