ฉบับเต็ม! ผลสอบสตง.รื้อระบบบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หวั่นโบราณ-ศิลปวัตถุเสียหาย
"...พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง 21 แห่ง มีการรายงานผลการเคลื่อนไหวของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในรอบ 1 เดือน แต่จากการตรวจสอบรายงานผลการเคลื่อนไหวกับจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบและมีการจัดทำสมุดทะเบียนบัญชีหลัก จำนวน 18 แห่ง (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ไม่มีการจัดทำสมุดทะเบียนบัญชีหลัก จำนวน 3 แห่ง) พบว่า จำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีการจัดทำทะเบียนในรายงานผลการเคลื่อนไหวโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กับจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีการบันทึกในสมุดทะเบียนบัญชีหลักมีจำนวนไม่สอดคล้องกัน โดยมี 15 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 83.33 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบและมีการจัดทำสมุดทะเบียนบัญชีหลัก และมีจำนวนวัตถุที่รายงานแตกต่างจากการจัดทำทะเบียนทั้งสิ้น 6,024 รายการ..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายละเอียดในรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและกองทุนโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งพบว่า การบันทึกข้อมูล การควบคุมการเคลื่อนย้าย และการตรวจสอบจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ยังไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด รวมถึงการใช้จ่ายเงินกองทุนโบราณคดียังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนโบราณคดี ขาดการติดตามผลการยื่นขอหรือต่อใบอนุญาตทำการค้าโบราณวัตถุศิลปวัตถุ ของผู้ประกอบการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ การเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนไม่มีการประกาศรายชื่อสถานประกอบการค้าที่ได้รับใบอนุญาตในราชกิจจานุเบกษาตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมข้อเสนอแนะต่อ อธิบดีกรมศิลปากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาแต่ละด้านที่ตรวจสอบพบแล้ว และย้ำเตือนให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำรวจและดำเนินการจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีมูลค่าสูงหรือมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะ
----------------
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นที่เก็บรักษาโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพ.ศ. 2504 และตามพระราชบัญญัตินี้ได้จัดตั้งกองทุนขึ้นเพื่อใช้จ่ายในกิจการอันเป็นประโยชน์แก่โบราณสถานหรือการพิพิธภัณฑ์ เรียกว่า “กองทุนโบราณคดี” โดยเงินรายได้ของกองทุนโบราณคดี ประกอบด้วยเงินรายได้ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ได้มาตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เงินผลประโยชน์อันเกิดจากโบราณสถานตลอดจนเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ และเงินทุนกองกลางและเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งกรมศิลปากรมีอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
จากการตรวจสอบการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและกองทุนโบราณคดีของกรมศิลปากร พบว่า การบันทึกข้อมูล การควบคุมการเคลื่อนย้าย และการตรวจสอบจ านวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด การใช้จ่ายเงินกองทุนโบราณคดียังไม่เป็นไปตาม
วัตถุประสงค์ของกองทุนโบราณคดี ขาดการติดตามผลการยื่นขอหรือต่อใบอนุญาตทำการค้าโบราณวัตถุศิลปวัตถุของผู้ประกอบการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ คณะกรรมการตรวจสถานการค้าและสถานจัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนด การเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนไม่มีการประกาศรายชื่อสถานประกอบการค้าที่ได้รับใบอนุญาตในราชกิจจานุเบกษา
ตามที่กฎหมายกำหนดสรุปได้ดังนี้
1. การบันทึกข้อมูล การควบคุมการเคลื่อนย้าย และการตรวจสอบจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด มีรายละเอียดได้ดังนี้
1.1 การบันทึกข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
1.1.1 การจัดทำสมุดทะเบียนบัญชีหลัก
(1) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบางแห่งไม่จัดทำสมุดทะเบียนบัญชีหลัก โดยมี 3 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 14.29 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบ
(2) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนใหญ่จัดทำสมุดทะเบียนบัญชีหลักไม่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน โดยมี18แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 85.71 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบ
นอกจากนี้การบันทึกข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในสมุดทะเบียนบัญชีหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ตรวจสอบ ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 -2558 พบว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง 18 แห่ง ไม่มีการลงลายมือชื่อของผู้เขียนและผู้ตรวจไว้ท้ายรายการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีการบันทึกในแต่ละปี
1.1.2 บัตรทะเบียนประจำวัตถุ
(1) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนใหญ่ไม่จัดทำบัตรทะเบียนประจำวัตถุโดยมี15แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 71.43 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบ
(2) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบางแห่งจัดทำบัตรทะเบียนประจำวัตถุที่มีรายการไม่ครบถ้วนและไม่เป็นปัจจุบัน โดยมี 6 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 28.57 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบ
1.1.3 การบันทึกทะเบียนในระบบคอมพิวเตอร์รูปแบบของฐานข้อมูลดิจิตอล
(1) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบางแห่งไม่มีการบันทึกข้อมูลทะเบียนโบราณวัตถุศิลปวัตถุลงในระบบฐานข้อมูลดิจิตอล โดยมี4 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 19.05 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบ
(2) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนใหญ่ที่มีการบันทึกข้อมูลทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุลงในระบบฐานข้อมูลดิจิตอลไม่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน โดยมี 14แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 82.35 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบและมีการบันทึกข้อมูลทะเบียนโบราณวัตถุศิลปวัตถุลงในระบบฐานข้อมูลดิจิตอล จำนวน 17 แห่ง นอกจากนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประสบปัญหาในการบันทึกข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุลงในระบบฐานข้อมูลดิจิตอล ทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลดิจิตอลในการควบคุมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุได้ตามวัตถุประสงค์
1.2 การควบคุมการเคลื่อนย้าย
1.2.1 การบันทึกข้อมูลในสมุดทะเบียนบัญชีหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนใหญ่ไม่มีการบันทึกข้อมูลการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในสมุดทะเบียนบัญชีหลัก โดยมี 16 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 88.88ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบและมีการจัดทำสมุดทะเบียนบัญชีหลัก
1.2.2 การบันทึกข้อมูลในบัตรทะเบียนประจำวัตถุ
(1) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนใหญ่ไม่มีการจัดทำบัตรทะเบียนประจำวัตถุโดยมี15 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 71.43 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบ
(2) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบางแห่งไม่มีการบันทึกข้อมูลการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุลงในบัตรทะเบียนประจำวัตถุ โดยมี 6 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 100.00 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบและมีการจัดทำบัตรทะเบียนประจำวัตถุ
1.3 การตรวจสอบจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
1.3.1 สมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวัน
1.3.1.1 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีการจัดทำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันห้องนิทรรศการไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด
(1) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ1 แห่งไม่ได้จัดทำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันห้องนิทรรศการ หรือคิดเป็นร้อย 5.00 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบและมีห้องจัดนิทรรศการ
(2) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนใหญ่มีการจัดทำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันห้องนิทรรศการไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด โดยมี 19 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 95.00ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบและมีห้องจัดนิทรรศการ
(3) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบางแห่งมีการลงลายมือชื่อการบันทึกข้อมูลลงสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันห้องนิทรรศการไม่ครบตามคู่มือที่กำหนด โดยมี 9 แห่งหรือคิดเป็นร้อยละ 47.37 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบและมีการจัดทำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันห้องนิทรรศการจำนวน 19 แห่ง มีการลงลายมือชื่อของผู้มีหน้าที่ทำการดูแล ตรวจตราจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่ในห้องนิทรรศการ จำนวนน้อยกว่า 3 คน
(4) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบางแห่งมีการนำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันห้องนิทรรศการเสนอต่อผู้บังคับบัญชาไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด โดยมี8แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 42.11 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบและมีการจัดทำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันห้องนิทรรศการจำนวน 19 แห่ง ที่มีการนำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันห้องนิทรรศการเสนอต่อผู้บังคับบัญชา
1.3.1.2 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีการจัดทำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันคลังพิพิธภัณฑ์ไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด
(1) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนใหญ่ไม่ได้จัดทำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันคลังพิพิธภัณฑ์ โดยมี 12 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 54.14 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบ
(2) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบางแห่งที่มีการจัดทำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันคลังพิพิธภัณฑ์แต่ไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด โดยมี 9แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 42.86ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบ
(3) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนใหญ่มีการลงลายมือชื่อการบันทึกข้อมูลลงสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันคลังพิพิธภัณฑ์ไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด โดยมี 6 แห่งหรือคิดเป็นร้อยละ 66.67 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบและมีการจัดทำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันคลังพิพิธภัณฑ์ จำนวน 9 แห่ง มีการลงลายมือชื่อของผู้มีหน้าที่ทำการดูแล ตรวจตราจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่ในห้องนิทรรศการ จำนวนน้อยกว่า 3 คน
(4) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งหมดมีการนำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันคลังพิพิธภัณฑ์เสนอต่อผู้บังคับบัญชาไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด โดยมี9 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 100.00 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบและและมีการจัดทำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันคลังพิพิธภัณฑ์
1.3.2 การรายงานผลการเคลื่อนไหวของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง 21 แห่ง มีการรายงานผลการเคลื่อนไหวของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในรอบ 1 เดือน แต่จากการตรวจสอบรายงานผลการเคลื่อนไหวกับจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบและมีการจัดทำสมุดทะเบียนบัญชีหลัก จำนวน 18 แห่ง (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ไม่มีการจัดทำสมุดทะเบียนบัญชีหลัก จำนวน 3 แห่ง) พบว่า จำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีการจัดทำทะเบียนในรายงานผลการเคลื่อนไหวโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กับจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีการบันทึกในสมุดทะเบียนบัญชีหลักมีจำนวนไม่สอดคล้องกัน โดยมี 15 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 83.33 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบและมีการจัดทำสมุดทะเบียนบัญชีหลัก และมีจำนวนวัตถุที่รายงานแตกต่างจากการจัดทำทะเบียนทั้งสิ้น 6,024 รายการ
สตง.ยังระบุด้วยว่า จากการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีการบันทึกข้อมูล การควบคุมการเคลื่อนย้าย และการตรวจสอบจำนวนโบราณวัตถุศิลปวัตถุ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังไม่เป็นไปตามคู่มือการจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่กำหนด ส่งผลกระทบทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไม่มีหลักฐานทะเบียนบัญชีแน่นอนที่ใช้เพื่อการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัย หากมีการเคลื่อนย้าย บรรจุหีบห่อ หรือขนส่ง หรือถ้าชำรุดเสียหาย สูญหาย จะไม่สามารถตรวจสอบหรือมีหลักฐานที่ใช้ในการตรวจพิสูจน์เพื่อการติดตามกลับคืนมา และไม่สามารถควบคุมจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีอยู่ในความครอบครองให้มีการจัดเก็บอย่างมีระเบียบหรือเป็นระบบ ทำให้ยากแก่การค้นหาและตรวจสอบ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามคู่มือการจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุมีดังนี้
1.) ภัณฑารักษ์หรือเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบันทึกข้อมูล การควบคุมการเคลื่อนย้าย และการตรวจสอบจำนวนโบราณวัตถุศิลปวัตถุ ในพิธภัณฑสถานแห่งชาติไม่ปฏิบัติตามคู่มือการจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
2.) คู่มือการจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาการบันทึกข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในสมุดทะเบียนบัญชีหลักและบัตรทะเบียนประจำวัตถุ
2.สถานประกอบการค้าที่ไม่ได้ยื่นขอหรือต่อใบอนุญาต
จากรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสถานการค้าและสถานจัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุ ของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 –2559 พบว่า มีสถานประกอบการค้าที่ไม่ได้ยื่นขอหรือต่อใบอนุญาต จำนวน 33แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 19.64 ของจำนวนสถานประกอบการที่ตรวจสอบทั้งหมด จำนวน 168แห่ง ซึ่งคณะกรรมการจะตักเตือนสถานประกอบการค้าด้วยวาจา แต่ไม่มีการติดตามผลการยื่นขอหรือต่อใบอนุญาตของสถานประกอบการดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า สถานประกอบการค้าที่ไม่มีใบอนุญาตและได้รับการตักเตือนมายื่นขอใบอนุญาตเพียง 7 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ21.21 ของจ านวนสถานประกอบการค้าที่ไม่มีใบอนุญาต
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบรายงานผลการตรวจสถานประกอบการค้าของคณะกรรมการตรวจสอบสถานการค้าและสถานจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งขาติ ที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มตามพื้นที่ความรับผิดชอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 -2559พบว่า คณะกรรมการบางกลุ่มไม่มีการรายงานผลการตรวจสอบสถานประกอบการค้า โดยเฉพาะในปีงบประมาณพ.ศ.2559 มีการรายงานการตรวจสถานประกอบการค้าเพียง 1 กลุ่ม และคณะกรรมการบางกลุ่มไม่ได้ตรวจสอบสถานประกอบการค้าทั้งหมดในพื้นที่ความรับผิดชอบ การไม่มีการติดตามผลการยื่นขอหรือต่อใบอนุญาตทำการค้าของผู้ประกอบการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และคณะกรรมการตรวจสถานการค้าและสถานจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุไม่ตรวจสอบสถานประกอบการค้าในพื้นที่ความรับผิดชอบและไม่รายงานผลการตรวจสอบ ทำให้กรมศิลปากรสูญเสียรายได้ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากการที่สถานประกอบการค้าไม่ยื่นขอหรือต่อใบอนุญาต และยังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สถานประกอบการค้าจะมีการปฏิบัติ
ไม่เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
ทั้งนี้ เพื่อให้มีการควบคุมและติดตามการยื่นขอหรือต่อใบอนุญาตทำการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของผู้ประกอบการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและคณะกรรมการตรวจสอบสถานการค้าและสถานจัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
สตง.จึงมีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมศิลปากรพิจารณาดำเนินการดังนี้
1.) สั่งการให้สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและสำนักศิลปากรติดตามผลการยื่นขอหรือต่อใบอนุญาตทำการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของผู้ประกอบการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่คณะกรรมการตรวจสถานการค้าและสถานจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตรวจพบและแจ้งให้ต่อใบอนุญาต หากมีผู้ประกอบการค้าที่ฝ่าฝืนประกอบการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
2.) ให้สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและสำนักศิลปากรควบคุม และติดตามผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสถานการค้าและสถานจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ได้รับการแต่งตั้ง ให้มีการปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
3. การเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย
จากการสังเกตการณ์การเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 21 แห่ง พบว่ามี15 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 71.43 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบ ไม่ได้กำหนดเลขของชั้นหรือตู้ที่ใช้วางวัตถุไว้อย่างชัดเจน การจัดวางปะปนกัน และรวมกับวัตถุอื่น ๆ ทำให้การค้นหาตรวจสอบมีความยุ่งยาก ไม่สะดวก ต้องรื้อค้น อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบางแห่งมีห้องคลังที่มีการจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในห้องใต้ดินที่มีความชื้นสูง ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่จัดเก็บได้
ดังนั้น เพื่อให้การเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นระเบียบ สะดวกในการค้นหา และตรวจสอบ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมศิลปากรพิจารณาดำเนินการดังนี้
1. ให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำรวจและดำเนินการจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีมูลค่าสูงหรือมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะ
2. กรณีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่มีการจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุไว้ในห้องใต้ดินที่มีความชื้นสูงให้พิจารณาจัดหาสถานที่จัดเก็บใหม่
-----------------
ทั้งหมดนี้ คือ เนื้อหาสำคัญในรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ที่แจ้งถึง อธิบดีกรมศิลปากร ให้พิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาด่วน เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารจัดการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ดูเหมือนจะมีปัญหาสำคัญหลายประการ
และสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีมูลค่าสูงหรือมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะ เสียหายได้
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องจาก Virgin Star FM - BEC Tero Radio