สพฐ.ดันโรงเรียนปลอดขยะระดับภูมิภาค สนองยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาทั้ง 7 จุด
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการขยะในสถานศึกษาสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน “โรงเรียนปลอดขยะสัญจร” ระดับภูมิภาค สนอง “ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี”สู่การปฏิบัติการ “ประเทศไทย ไร้ขยะ” ปักธงรุก 2560 “Set Zero Waste School” เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการจัดการขยะในสถานศึกษาสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืนและเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนในการขับเคลื่อนการจัดการขยะในสถานศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วม จำนวน 540 คน
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยของกรมควบคุมมลพิษ ปี พ.ศ. 2559 พบว่า แนวโน้มของปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 27.06 ล้านตัน คิดเป็น 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน สะท้อนให้เห็นต้นเหตุแห่งปัญหาขยะที่เกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งการกำจัดขยะจากเทศบาลหรือการนำขยะไปกำจัดหรือทำลายเป็นการกำจัดที่กลางทางและปลายทาง ดังนั้น ในทางที่ถูกต้องคือการแก้ปัญหาที่ต้นทาง โดยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเป็นหลัก เช่น การคัดแยกขยะต้องเริ่มจากที่บ้าน สถานศึกษาเองก็ต้องเป็นต้นแบบในการให้ความรู้ที่ถูกต้อง รวมถึงบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างวินัยด้านการลดใช้ทำให้ขยะเกิดขึ้นให้น้อยลง ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว โดยจะต้องทำให้เป็นระบบเพื่อความอย่างยั่งยืน
“สพฐ.ตั้งเป้าหมายภายในปี 2561 จะเป็น “ปีแห่งการปฏิบัติ” โรงเรียนของ สพฐ.ทุกแห่งต้องไร้ขยะ เนื่องจากปี 2559-2560 เราเน้นการสร้างความตระหนัก สร้างจิตสำนึกให้กับหน่วยงานทั้งเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ครู นักเรียน และชุมชน ดังนั้น จากนี้จะช้าไม่ได้แล้ว ทุกโรงเรียนจะต้องนำสู่การปฏิบัติจะต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะงบประมาณแลกเป้า โดยเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตจะต้องลดเรื่องของการจัดกิจกรรมแต่เน้นการปฏิบัติที่เป็นไปตามบริบทของโรงเรียน และผลลัพธ์ต้องเกิดที่ตัวเด็ก โดยให้โรงเรียนจัดทำแผนเสนอขึ้นมา สพฐ.จะทำหน้าที่ในการติดตามประเมินผล” นายบุญรักษ์ กล่าว
นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการสร้างวินัยด้านการบริหารจัดการขยะสู่ผู้ปกครองนักเรียนและขยายต่อชุมชน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญยิ่ง ที่ต้องมีการเชื่อมต่อบูรณาการทำงานร่วมกันทุกหน่วยงาน ดังนั้น สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. จึงได้เร่งดำเนินการให้นโยบาย การจัดกิจกรรมและการบูรณาการในสาระการเรียนรู้ในสถานศึกษา สู่ชุมชน โดยนิทรรศการที่โรงเรียนได้นำมาแสดงมีเป้าหมาย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และคัดเลือกนวัตกรรมด้านการจัดการขยะ โรงเรียนปลอดขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดมุมมองที่หลากหลาย มีประโยชน์ในการนำไปต่อยอด และจะเป็นต้นแบบที่ดีกับอีกหลายสถานศึกษา ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจและจะเป็นพลังและความหวังในอนาคตสู่การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งด้านการบริหารจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สู่การรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้กับคนรุ่นต่อไป
นางนิจวดี เจริญเกียรติบวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สพฐ. กล่าวว่า การจัดประชุมปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการขยะในสถานศึกษา สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืนในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนนโยบายการจัดการขยะในสถานศึกษาสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน “โรงเรียนปลอดขยะสัญจร” ในระดับภูมิภาค 7 จุด 5 ภูมิภาค 8 รุ่น พร้อมทั้งคัดเลือกต้นแบบนวัตกรรมการบริหารจัดการขยะในสถานศึกษาและชุมชนให้เป็นโรงเรียนต้นแบบทั้งระบบในระดับภูมิภาค จุดละ 8 ประเภท 8 โรงเรียน รวม 8 รุ่น รวม 64 โรงเรียน และเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเตรียมแผนในการดำเนินงานโรงเรียนปลอดขยะในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในปี 2561 ตามที่ สพฐ.มอบหมายให้ สนก. ดำเนินการจัดกิจกรรมการสร้างจิตสำนึกและวินัยในการจัดการขยะ น้ำเสีย และมลพิษทางอากาศในสถานศึกษา ในปี 2559 – 2560 โดยได้กำหนดนโยบายด้านการสร้างวินัยในสถานศึกษา การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เน้นโรงเรียนปลอดขยะ ซึ่งกำหนดให้เขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ ทำบันทึกข้อตกลงกับโรงเรียนให้ดำเนินการเรื่องการจัดการขยะในสถานศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยร่วมบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สิ่งแวดล้อมจังหวัด องค์การปกครองท้องถิ่น
นางนิจวดี กล่าวต่อว่า ในปี 2559 ได้คัดเลือกโรงเรียนตัวอย่างของแต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จาก 15,000 โรงเรียน ได้โรงเรียนนำร่อง จำนวน 20 โรงเรียน ส่วนในปี 2560 ได้ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศไปขยายผลให้ครบทุกโรงเรียน และให้คัดเลือกโรงเรียนลำดับ 1-3 ของโรงเรียนต้นแบบระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียน รวมทั้งการนำความรู้ แนวทางที่ได้จากการเสวนา และการศึกษาดูงานมาประยุกต์ใช้วางแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 ต่อไป