เปิดข้อเสนอปฏิรูปการศึกษา อีก 10 ปี ไม่สำเร็จ อนาคตประเทศดับวูบ
เปิดข้อเสนอ อบป. ปฏิรูปการศึกษา หลังพบทุ่มงบฯ มาก ไม่ส่งผลบวกกับเด็ก ข้อค้นพบชี้ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโรงเรียน เสนอปรับบทบาท กศจ.-ศน. ให้ ก.ศึกษาฯ สนับสนุน 'ศ.นพ.จรัส' ชี้อีก 10 ปี ทำไม่ได้ อนาคตประเทศมีสิทธิดับวูบ
ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง (อบป.) ภายใต้คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)
การปฏิรูปการศึกษา เป็น 1 ใน 8 เรื่อง ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ให้ อบป.จัดทำข้อเสนอ ซึ่งในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกี่ยวกับโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กนั้น ในอดีตที่มีการปฏิรูปมา พบการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการศึกษาและการใช้งบประมาณจำนวนมาก ไม่ได้ส่งผลด้านบวกถึงเด็ก
มิหนำซ้ำ งบประมาณเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนในสถานศึกษายังมีสัดส่วนต่ำไม่ถึงร้อยละ 5 แตกต่างจากหลายประเทศในโลกที่มีมาตรการปฏิรูปการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ โดยการเลือกปฏิรูปประสิทธิภาพการบริหารโรงเรียนแทน เนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน ผ่านการส่งเสริมคุณภาพกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนระหว่างครูกับนักเรียน
ข้อเสนอที่น่าสนใจด้านการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง อบป.จึงเสนอให้ปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการศึกษาจังหวัด (กศจ.) กับเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยศึกษานิเทศก์ (ศน.) โดยต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการกำกับดูแล และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่อย่างแท้จริง
โดย กศจ.ควรมีองค์ประกอบที่มีส่วนร่วมจากหลายภาคี ทำหน้าที่กำกับระบบการสรรหาและพัฒนาผู้บริหาร พัฒนาครูที่ดูแลโดยเขตพื้นที่ผ่านการจัดสรรงบประมาณการศึกษาของจังหวัด และจัดสรรกำลังคน ครู และเจ้าหน้าที่สนับสนุนสู่สถานศึกษา
ส่วนเขตพื้นที่ทำหน้าที่พิจารณาแผนพัฒนาโรงเรียนที่เสนอโดยโรงเรียน หนุนเสริมให้สถานศึกษาในพื้นที่พัฒนาจากภายในอย่างเข้มแข็ง โดยประสานการทำงานของ ศน. เขตพื้นที่ มหาวิทยาลัย ส่วนท้องถิ่น และประชารัฐ และยังเสนอให้กำหนดเกณฑ์ปรับลดจำนวนโรงเรียนโดยวิธีผสมผสานด้วย
การปรับกลไกการจัดสรรงบประมาณ และเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณให้ไปถึงโรงเรียนอย่างเพียงพอ เป็นอีกหนึ่งข้อเสนอที่เชื่อว่าจะเอื้อให้การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้สำเร็จ โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องจัดสรรงบประมาณสนับสนุน กศจ. และโรงเรียนสามารถเสนอแผนและงบพัฒนาโรงเรียนไปที่หน่วยงานต้นสังกัด และได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกศจ. ตามเกณฑ์ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ของการพัฒนา
ทั้งนี้ รัฐบาลหรือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ จะต้องจัดระบบการศึกษาทางเลือกให้มีประสิทธิภาพ สร้างนวัตกรรมจัดการศึกษาที่หลากหลาย และออกแบบระบบการอาชีวศึกษาใหม่ เพื่อให้มีสมรรถนะแข่งขันในกลุ่มอาเซียนและประชาคมโลก โดยปรับหลักสูตรการเรียนให้ยืดหยุ่น สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ
ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในฐานะผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง มองว่า การปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จนั้น กระบวนการไม่สำคัญเท่าผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการศึกษาเป็นเรื่องที่ลึกและซับซ้อนมาก ที่ผ่านมาเคยมีการปฏิรูปมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2542 แต่ยังไม่สำเร็จ
“ถ้าอีก 10 ปีข้างหน้า พบว่า การปฏิรูปการศึกษาหนนี้ไม่สำเร็จอีก ประเทศไทยแพ้แน่ และอาจแพ้ร้ายแรงกว่าเดิมด้วย บางคนถึงขนาดเอ่ยสโลแกนว่า อนาคตไทยดับวูบ ถ้าปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ไม่สำเร็จ”
การปฏิรูปครั้งนี้ ศ.นพ.จรัส จึงไม่อยากให้แค่ปฏิรูปเท่านั้น แต่อยากให้มองข้ามไปถึงการ ‘อภิวัฒน์’ เลยด้วยซ้ำ หมายถึง ต้องเปลี่ยนแนวคิดให้ได้ คณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นมาจึงเข้ามาดูแลประเด็นใหญ่ ๆ ดำเนินงานให้เกิดผลรูปธรรม ต้องเก็บข้อมูล นำมาวิเคราะห์ พร้อมกับทำอย่างไรให้เกิดความศรัทธาเชื่อมั่นในตัวนักเรียนและครู ภายใต้การหนุนเสริมของหน่วยงานระดับบน
ทั้งนี้ การจะเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาได้นั้น ต้องผลักดันให้เกิด ‘การกระจายอำนาจ’ ส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งโรงเรียนนิติบุคคล ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้แล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่มีโรงเรียนจำนวนหนึ่งพร้อมจะเป็นนิติบุคคล ส่งเสริมให้รวมกลุ่ม และมีอิสระจัดการศึกษากันเอง รัฐทำหน้าที่สนับสนุนเท่านั้น ส่วนโรงเรียนบางแห่งที่ยังขาดความพร้อม หน่วยงานรัฐ เอกชน ต้องเข้าไปช่วยเหลือ
ที่สำคัญ คุณภาพการศึกษาจะไม่มีประสิทธิภาพได้ หากรัฐยังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่สำเร็จ ฉะนั้นต้องบริหารจัดการระบบให้ดี กฎหมายมีส่วนสำคัญอย่างนี้ที่จะช่วยให้เกิดขึ้น
“สิ่งที่ไม่ควรลืม คือ การปลุกระดมให้ทุกคนตื่น และลุกขึ้นมาช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและตระหนักถึงปัญหานี้ ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทุกคนต้องตื่นขึ้นมาสู้ ทำงานเต็มที่ ไม่ใช่ทำแค่ผลักภาระตนเอง ปฏิรูปการศึกษาจึงไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน ต้องอาศัยข้อมูล ความคิด แต่ทุกวันนี้ทุกคนอาศัยอารมณ์เป็นที่ตั้ง ดังนั้น เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ การพัฒนางานวิจัยต้องเกิดขึ้นภายใต้เป้าหมายที่ชัดเจน” ประธานกรรมการอิสระฯ กล่าวสรุป
การปฏิรูปการศึกษานั้น กระบวนการเรียนรู้ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง และมีการจัดงบประมาณที่ส่งเสริมการพัฒนาเด็กอย่างเพียงพอน่าจะเป็นสูตรที่ช่วยให้สำเร็จได้ โดยที่โรงเรียนต้องมีคุณภาพ ภายใต้การดูแลเอาใจใส่ของผู้บริหาร ครู กรรมการสถานศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่สนับสนุน อนาคตไทยจึงจะไม่ดับวูบ .