ทบ. แจงโล๊ะเรือเหาะ
ทบ. แจงโล๊ะเรือเหาะทิ้ง แต่ระบบตรวจการณ์ใช้งานได้ 80% พร้อมจำแนกราคาชิ้นส่วน ระบุจัดซื้อลดการสูญเสียกำลังพล
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2560 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ชี้แจงกรณีกองทัพบกจำหน่ายหยุดใช้งานเรือเหาะ ว่า ที่ผ่านมาตัวเรือเหาะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยเรือเหาะและอากาศยาน ถือเป็นยุทโธปกรณ์เครื่องมือพิเศษ นำมาเสริมประสิทธิภาพให้กับเจ้าหน้าที่ในระบบเฝ้าตรวจของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์คือลดการสูญเสียกำลังพล เพิ่มขีดความสามารถในเรื่องการมองเห็น มีคุณสมบัติในทางยุทธวิธี แต่งต่างจากเครื่องบิน หรือยูเอวี คือมีความเงียบในการเคลื่อนที่ สามารถบินช้าและลอยตัวได้นาน ลักษณะการจัดหามาใช้งานมีลักษณะเป็นระบบ มีองค์ประกอบหลักของระบบโครงการนี้มีอยู่ 2 รายการ ซึ่งใช้วงเงินรวมราว 340 ล้านบาท
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า รายการแรกคือ ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยเรือเหาะ ใช้วงเงิน 209 ล้านบาท มีองค์ประกอบอยู่ 4 ส่วน คือ ส่วนตัวเรือเหาะ ใช้วงเงินจัดหา 66.8 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนมูลค่า19%) ส่วนที่สอง คือระบบกล้องตรวจการณ์คุณภาพสูง 2 ชุด พร้อมระบบควบคุมและส่งสัญญาณ วงเงิน 87 ล้านบาท ส่วนที่สามคือระบบสถานีรับสัญญาณ แบบสถานีประจำที่ และสถานีเคลื่อนที่ด้วยรถหุ้มเกราะ วงเงิน 40 ล้านบาท ส่วนที่สี่คือ โรงเก็บเรือเหาะและอุปกรณ์บริภัณฑ์ภาคพื้น วงเงิน 9 ล้านบาท
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า สำหรับรายการที่สองคือ ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยอากาศยาน (ฮ) ใช้วงเงิน 131 ล้านบาท มีระบบกล้องตรวจการณ์คุณภาพสูง 3 ชุด พร้อมระบบควบคุมและส่งสัญญาณ 3 ชุด เพื่อใช้ติดตั้งกับอากาศยานที่มีอยู่แล้วในอัตราปกติของกองทัพบก
"โดยที่ผ่านมาภาพรวมของระบบมีเพียงตัวเรือเหาะที่มีปัญหาขลุกขลักบ้างในระยะแรกๆ รวมถึงเคยมีการชำรุดหนักเนื่องจากการลงจอดฉุกเฉินรุนแรงด้วยสภาพอากาศแปรปรวน เมื่อช่วงปลายปี 54 แต่กองทัพบกได้ดำเนินการจนกระทั่งเรือเหาะสามารถกลับใช้งานได้ แต่ด้วยตัวเรือเหาะ มีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่แต่งต่างจากเครื่องบิน หรือ ยูเอวี ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น เช่นมีความเงียบ หรือ สามารถลอยตัวได้นาน และวัสดุใช้ประกอบเป็นตัวเรือเหาะมีลักษณะเป็นผ้าใบ จึงมีข้อจำกัดในเรื่องของอายุการใช้งาน โดยเฉพาะเจอสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งในอนาคตกรณีมีการงดใช้เรือเหาะในภารกิจของระบบตรวจการณ์และติดตามเป้าหมายแล้ว ตัวระบบหลักที่เหลือมีสัดส่วนอีก 80% ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้ โดยอาจเน้นไปใช้ระบบตรวจการณ์และติดตามเป้าหมายโดยทางอากาศยานเป็นหลัก" พ.อ.วินธัย กล่าว