ครม.ผ่านหลักการ “ภาษีมลพิษ” นำรายได้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ครม.อนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม ก.คลัง เผยผ่านรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน องค์กรสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ อปท. สาระสำคัญเก็บภาษีจากมลพิษ 5 หมวด ทางน้ำ ทางอากาศ นักท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ ค่าธรรมเนียม
วันที่ 12 ตุลาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ครม.อนุมัติหลักการที่จะให้มีกฎหมายมาตรการทางการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกฎหมายให้รัฐบาลมีเครื่องมือด้านการคลัง ไม่ว่าจะเป็นภาษี ค่าธรรมเนียม และมาตรการจูงใจต่างๆในการช่วยดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามร่างที่กระทรวงคลังเสนอมายังขาดบางส่วน เช่น เรื่องมาตรการภาษีเพื่อจูงใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงขอให้ไปเพิ่มเติมมาในส่วนนี้ รวมทั้งเรื่องกลไกที่เกิดขึ้นตามกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของคณะกรรมการและตัวกองทุน โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุขไปปรับปรุงและเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เสนอโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งเปิดเผยว่าได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน นักวิชาการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว และมีสาระสำคัญให้จัดเก็บภาษี 5 ประเภท ได้แก่ 1.ภาษีมลพิษทางน้ำ ปีละ 10,000 บาทต่อตันของปริมาณมลพิษ 2.ภาษีมลพิษทางอากาศ ปีละ 2,500 บาทต่อตันของปริมาณมลพิษ 3.ภาษีนักท่องเที่ยว 15%ของราคาค่าโดยสาร หรือ 1,000 บาทต่อคน 4.ภาษีผลิตภัณฑ์หรือค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 15%ของราคาผลิตภัณฑ์ หรือ 10,000 บาทต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ 5.ภาษีค่าธรรมเนียมอื่นๆ15%ของราคา หรือ 10,000 ต่อหน่วยของปริมาณมลพิษ
ทั้งนี้กำหนดให้เงินภาษีและค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้ ไม่ต้องส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดยให้จัดตั้งกองทุนและคณะกรรมการภาษีและค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อมภายใต้กระทรวงการคลัง .