12 ก.ย. 60 กลุ่มภาคประชาสังคมฯ ยื่นรายชื่อ ปชช.กว่าครึ่งหมื่น เรียกร้องนายกฯ ขอให้สั่งการกรมศิลปากร ยุติบูรณะพุทธปรางค์วัดอรุณฯ ก่อนเสียหายมากกว่านี้ เหตุขาดการวิจัยบูรณะไร้ทิศทาง สูญเสียคุณค่าสุนทรียะ
ศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ในวันที่ 12 ก.ย.2560 เวลา 10:00 น. ภาคประชาสังคมศึกษาการบูรณะพุทธปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร จะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นรายชื่อของผู้หวงแหนมรดกของชาติกว่า 5,000 รายชื่อแก่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เรียกร้องให้นายกฯ สั่งการให้กรมศิลป์ดำเนินการตามนี้
1.ระงับยับยั้งและยุติการบูรณะตามสัญญาโครงการในทันที
2.ให้เปิดเผยสัญญาว่าจ้าง(TOR)แก่สาธารณชนตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ 2540 (มาตรา 7, 9 และ 11)
3.แต่งตั้งกรรมการระดับชาติที่มาจากภาคส่วนต่างๆ เข้าควบคุม ทบทวนกระบวนการ วิธีการบูรณะและอนุรักษ์พุทธปรางค์วัดอรุณราชวรารามฯ
ศาสตราจารย์สายันต์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจปัญหา ทางภาคประชาสังคมฯ ได้พบเห็นและสรุปปัญหา ทั้งในระดับการวางนโยบายบูรณะและระดับปฏิบัติการว่า กรมศิลปากรไม่ได้ทำการศึกษาวิจัย ประเมินสภาพศิลปกรรมโบราณโดยละเอียดก่อนการออกแบบบูรณะ ทำให้การบูรณะไร้ทิศทางและขาดมาตรฐานที่จะให้ผู้ควบคุมงานใช้การอ้างอิงเพื่อตรวจรับงาน ทั้งยังรื้อผลงานล้ำเลิศของครูช่างโบราณออก จากนั้นทำใหม่โดยเปลี่ยนแปลงจากของเดิม เช่น สีกระเบื้องของยักษ์ ลิง คนธรรพ์ รวมไปถึงลวดลาย ขนาด ซึ่งครูช่างโบราณได้ศึกษาไว้อย่างดีแล้ว ช่างที่ทำงานไร้ฝีมือ ขาดความประณีต และใช้วัสดุ(ปูนขาว) ที่ไม่ได้มาตรฐานใกล้เคียง หรือทัดเทียมกับของเดิม ทำให้วัสดุกระเบื้องถ้วยเคลือบเริ่มหลุดร่วง ๆ ทั้ง ๆ ที่เพิ่งบูรณะเสร็จไม่นาน
“วัดอรุณราชวรารามเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยที่ทั่วโลกรู้จักกันดี เป็นเพชรเม็ดงามของโบราณสถานแห่งหนึ่งในโลก แต่กรมศิลปากรกลับบูรณะจนสูญเสียคุณค่าทางสุนทรียะ เมื่อนั่งร้านที่ใช้ในการซ่อมแซมองค์พุทธปรางค์ถูกนำออกไปหมด งานบูรณะที่ดำเนินไปเป็นเวลา 5 ปี ก็เปิดเผยต่อสายตาสาธาณะชน ทำให้เกิดภาวะช็อค มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรมศิลปากรกว้างขวาง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ แต่กรมศิลปากรก็ยังคงนิ่งเฉย ทั้งๆ ที่ว่าจ้างบริษัทภายนอกทำการบูรณะด้วยงบกว่า 130 ล้านบาทซึ่งเป็นภาษีของประชาชน ทำให้เราไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้ และอยากให้ผู้เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่วัดอรุณฯเพื่อดูความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย เพราะวัดอรุณฯไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ” ศาสตราจารย์สายันต์ กล่าว
อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้นักวิชาการอาวุโส นักโบราณคดี อาจารย์ศิลปะจากหลายสถาบัน ศิลปิน ช่างศิลปหัตกรรม และประชาชนผู้หวงแหนมรดกของชาติทั่วประเทศ ต้องออกมาปกป้องสมบัติล้ำค่าของชาติ และหวังให้นายกรัฐมนตรีเป็นที่พึ่ง เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กรมศิลป์ฯถูกตั้งคำถามเรื่องการบุูรณะโบราณสถาน ดังนั้นต้องมีการแก้ปัญหาก่อนที่กรณีนี้จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายของสังคมไทย ทั้งนี้ในวันนั้นเราจะนำภาพพุทธปรางค์ก่อนและหลังการบูรณะฯไปให้นายกฯด้วย เพราะจะได้เห็นความแตกต่างและความเสียหายที่เกิดขึ้น ว่าการบูรณะของกรมศิลป์ฯทำให้พุทธปรางค์วัดอรุณฯเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริหารประเทศต้องรับรู้และแก้ไข เพราะสมบัติชาติเมื่อถูกทำลายไปแล้ว ไม่สามารถนำคืนกลับมาได้