เช็คอินปัตตานี...เศรษฐกิจที่นี่ไม่หวั่นไฟใต้?
หากพูดถึงจังหวัดปัตตานี หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนคงนึกถึงแต่ภาพความรุนแรงที่ปรากฏตามข่าวแทบจะรายวัน อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งมีปฏิบัติการปล้นรถกระบะ 7 คันเพื่อทำคาร์บอมบ์
แต่หากใครได้ลงไปสัมผัสพื้นที่จริงๆ แล้วจะพบเรื่องน่าประหลาดใจว่า เหตุการณ์ร้ายๆ และข่าวแง่ลบเหล่านั้น ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของเมืองแย่ลง โดยเฉพาะ "ปัตตานี" ที่มีอัตลักษณ์พิเศษทั้งประเพณี วัฒนธรรม อาหารพื้นเมือง และธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรรม
ที่น่าทึ่งก็คือบรรยากาศในตัวเมืองที่มีร้านรวงใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด หลายแห่งชูจุดขายเรื่องการนำสินค้าท้องถิ่นมาจำหน่าย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่อีกแรง
อย่างเช่น G.PA Supermart ศูนย์การค้าใหม่ถอดด้ามที่เพิ่งเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตั้งอยู่ใจกลางเมืองปัตตานี ถือเป็นห้างท้องถิ่นน้องใหม่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าของมีแนวคิดอยากเปิดห้างให้กับคนท้องถิ่น โดยชูจุดเด่นนำสินค้าพื้นเมืองมาจำหน่าย
โนรธารมิน บินเจ๊ะเอาะห์ ผู้ช่วยผู้จัดการ G.PA Supermart เล่าว่า จุดเริ่มต้นจริงๆ ของห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ คือการที่เจ้าของห้างฯ ชอบทานไก่ทอด
"เริ่มจากเจ้าของชอบไก่ทอด เมื่อก่อนมีแบรนด์ดังใน 3 จังหวัด แต่ปิดตัวลง (หมายถึงไก่ทอดเคเอฟซี) จึงไปกินที่มาเลเซีย และเห็นว่าปัตตานีเป็นเพชรเม็ดหนึ่งที่ยังไม่เจียระไน จึงมองหาว่าทำไมคนข้างนอกไม่กล้าลงทุนที่ปัตตานี ทั้งๆ ที่ปัตตานีมีสถานที่ท่องเที่ยว มีเศรษฐกิจ มีท่าเรือ มีทุนหมุนเวียนเยอะ แต่ทำไมคนข้างนอกไม่กล้าลงทุน ก็เริ่มมาจากตรงนี้ อยากให้คนในพื้นที่มีงานทำ ไม่อยากให้คนในพื้นที่ออกไปทำงานที่มาเลเซีย จึงมีแนวคิดเปิดห้าง"
"ทุนในการเปิดเป็นของเจ้าของห้าง 100% มาจากการขายอาหารนก เริ่มจากทำห้างเล็กๆ เริ่มซื้อที่ และมีความริเริ่มที่จะเปิดร้านไก่ของตัวเอง เพราะเป็นคนชอบกินไก่ จึงเริ่มคิดค้นสูตรของตัวเองขึ้นมา คือ GFC แล้วเริ่มทำเป็นซุปเปอร์ฯ โดยเริ่มนำสินค้าโอท็อปของคนท้องถิ่นที่ขายในห้างอื่นไม่ได้ เราก็นำมาขาย เพื่อให้คนในพื้นที่อุดหนุนกันเอง"
"ส่วนไก่เราใช้ซัพพลายเออร์ของคนในพื้นที่ นโยบายคือใช้วัตถุดิบของคนในพื้นที่ ไม่อยากให้เงินออกไปข้างนอก เป็นไก่สดที่ทำวันต่อวัน คนมากินก็จะมาเป็นกลุ่ม มากินเป็นครอบครัว และวัยรุ่น โดยเน้นความสดของวัตถุดิบเป็นหลัก ซึ่งเป็นฮาลาลหมดเลย มุสลิม 100%"
เมื่อถามว่ากลัวสถานการณ์ความรุนแรงในปัตตานีหรือไม่ โนรธารมิน ตอบตรงๆ "ถามว่ากลัวไหมก็กลัว แต่เราอยู่ในพื้นที่ บางทีคนที่เสพข่าวไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ก็จะมีความคิดอีกแบบหนึ่ง แต่ว่าเราอยู่ในพื้นที่ ก็จะสามารถวิเคราะห์ได้ ไม่ใช่ว่าไม่กลัว เพียงแต่เราก็สามารถทำงานได้"
นอกจากห้างสรรพสินค้าที่น่าเดินไม่แพ้จังหวัดใดในประเทศไทยแล้ว ปัตตานียังมีร้านกาแฟที่ตกแต่งสวยงามอลังการจนดูเผินๆ คิดว่าเป็นร้านกาแฟในกรุงเทพฯด้วยซ้ำ
ร้านกาแฟเปิดใหม่ที่กลายเป็นสถานที่ "เช็คอิน" ของใครหลายคน คือ ร้านอาวลี่ คาแฟ (Owly Cafe) หรือ "เจ้านกฮูกตาโต" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของร้าน จุดเด่นของร้านกาแฟแห่งนี้ คือการออกแบบร้านที่มีแนวคิดทันสมัยสไตล์อินดัสเทรียล
อาวลี่ คาเฟ่ ตั้งอยู่ริมถนนเจริญประดิษฐ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ถนนสาย ม.อ." เป็นเส้นทางจากหอนาฬิกามุ่งสู่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ถนนสายนี้เรียกได้ว่าเป็นถนนไม่เคยหลับ เพราะมีผู้คนพลุกพล่าน และเกือบจะไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงเลยตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
รณชัย เรืองอักษร เจ้าของร้าน บอกเล่าถึงแนวคิดในการทำร้านกาแฟ และการตัดสินเลือกเปิดที่ปัตตานี
"เริ่มต้นมาจากเป็นคนชอบดื่มกาแฟ และชอบร้านน่ารักๆ โดยเฉพาะภรรยาจะชอบมาก พื้นที่ตั้งร้านตรงนี้เป็นที่ดินของครอบครัว เราเห็นว่ายังว่างอยู่เลยทำร้านกาแฟเล็กๆ เพื่อจะให้คนในท้องถิ่นได้มีบรรยากาศที่เหมือนเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต หัวหิน เพื่อให้ดูชิคๆ แต่พอทำไปทำมาก็ได้สเกลค่อนข้างใหญ่"
แม้ร้านจะใหญ่โตไม่น้อย แต่ลูกค้าที่มาอุดหนุนก็จัดว่าเนืองแน่น...
"ร้านเปิดวันที่ 24 ธันวาคมปีที่แล้ว จึงอยู่ในช่วงของความโศกเศร้า และต่อมาเจอเดือนรอมฎอน ทำให้ช่วงแรกๆ เงียบ แต่พอมหาวิทยาลัยเปิด โรงเรียนเปิด ก็ทำให้ลูกค้าเริ่มกลับเข้ามาใช้บริการ ที่นี่มีลูกค้าประจำค่อนข้างเยอะ ส่วนนักท่องเที่ยวแทบจะไม่ค่อยมี ส่วนมากเป็นวัยทำงาน แต่ก็มีน้องๆ นักศึกษามาใช้บริการ และข้างบนเปิดเป็นห้องประชุม มีที่ให้นั่งติว เลยมีนักศึกษามาใช้บริการเยอะ"
รณชัย บอกด้วยว่า งบประมาณในการเปิดร้านเป็นของครอบครัวทั้งหมด ทั้งก่อสร้างและตกแต่ง เพราะเห็นด้วยที่จะทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในปัตตานี แม้จะมีเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
"ในมุมการทำธุรกิจมีความเสี่ยงในตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่นี้ เราไม่ได้มองว่าการจะทำธุรกิจอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง จะต้องไปมองในเรื่องของความไม่ปลอดภัย เรื่องความไม่สงบอีก เพราะทุกวันนี้ถ้าเราไม่ชวนกันผลักดัน แล้วเราคาดหวังคนข้างนอกจะเห็นภาพสวยๆ งามๆ คงยาก เพราะฉะนั้นเราพยายามสร้างสรรค์สิ่งที่มันดี สวยงาม สิ่งที่บ่งบอกความเจริญ ศิวิไลซ์ดีกว่า เพราะเราทำได้ด้วยตัวเอง"
"ฉะนั้นคนในพื้นที่ควรจะทำก่อน ตอนที่ทำ เราไม่ได้มองว่าจังหวัดนี้ไม่ปลอดภัย แต่เราอยากสื่อสารภาพดีๆ ให้คนข้างนอกได้เห็น ถ้าเป็นไปได้อยากทดแทนให้คนข้างนอกได้เห็นนอกเหนือจากภาพความเลวร้าย จริงๆ ร้านกาแฟแบบนี้ก็มีอยู่หลากหลายพื้นที่ หลากหลายรูปแบบในจังหวัด ร้านเราก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่อยากจะสื่อสารภาพดีๆ ออกไปให้สังคมรับรู้"
เขาบอกว่าทุกวันนี้มีความสุขมากที่ร้าน Owly Cafe เป็นสถานที่เช็คอินแห่งใหม่ของปัตตานี
"ต้องบอกว่ามีความสุขมากเวลาเราได้เห็นคนถ่ายรูป เห็นคนยิ้มสุนกสนาน กับร้าน กับไฟ กับเครื่องดื่ม กับขนม ดูเป็นภาพที่น่าประทับใจ เราตั้งใจตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะไม่นำแบรนด์เข้ามา จะไม่เน้นเรื่องของแฟรนไชส์ เพราะเรามองว่าจะพยายามใช้วัตถุดิบที่มีในพื้นที่ทั้งหมด เพราะเราอยากสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ หรือทำให้คนในพื้นที่มีรายได้ จะหาวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นขนม หรืออาหารที่คนในพื้นที่นำมา หรือเราเข้าไปหา แต่วัตถุดิบบางอย่างหาซื้อไม่ได้จริงๆ ก็จำเป็นต้องเอาสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดเข้ามา เช่น เมล็ดกาแฟ ซึ่งในพื้นที่แทบจะหาไม่ได้" รณชัย บอก และยืนยันว่าคนพื้นที่ไม่ได้อยู่กันด้วยความเคยชิน ดังนั้นต้องช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
สองข้างทางของถนนสาย ม.อ.ยังมีร้านรวงมากมาย ร้านหนึ่งที่เด่นสะดุดตาคือ "ร้านเบอร์เกอร์ควีน" ที่แฟนคลับบอกว่าเบอร์เกอร์ร้านนี้อร่อยไม่แพ้ยี่ห้อดังๆ แถมยังมีหลากหลายเมนูให้เลือก ไม่ได้มีแต่หมู เนื้อ ไก่ ปลา เหมือนเบอร์เกอร์ทั่วไป
สุมิตตา สะอะ เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า เธอเรียนจบที่ ม.อ.ปัตตานี ที่นี่นักศึกษาเยอะ เมื่อเรียนจบทางครอบครัวจึงสนับสนุนให้เปิดร้านขายเบอร์เกอร์บริเวณหน้ามหาวิทยาลัย เธอบอกว่าเปิดร้านมา 11 ปี สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและกิจการมากมายนัก
"เดิมเป็นคนนราธิวาส แต่มาเรียนที่ ม.อ.ปัตตานี พ่อแม่มาดูทำเล และเห็นว่านักศึกษาเยอะ ตอนนั้นที่เปิดเป็นร้านนั่งทาน ร้านอื่นยังไม่มี เมื่อมาเปิดตรงนี้ก็สามารถเรียกลูกค้าที่เป็นเด็กนักเรียนและนักศึกษาได้ ทุนที่เปิดร้านมาจากในครอบครัวเอง ไม่ได้กู้เงินมา ส่วนลูกจ้างในร้านจะเป็นคนในท้องถิ่น"
"จุดเด่นของร้านเราคือมีหลากหลายเมนู ทำให้สามารถเรียกลูกค้าได้เยอะขึ้น วัตถุดิบในร้านส่วนใหญ่มาจากมาเลเซีย แต่ ปู ปลา ไก่ เป็นวัตถุดิบในท้องถิ่น เมนูที่ขายดีที่สุดจะเป็น เบอร์เกอร์เนื้อ ไก่ และไก่ทอด"
"เรื่องสถานการณ์ความรุนแรง เราไม่ได้กลัว เพราะแม้จะมีเหตุการณ์บ้าง แต่ไม่บ่อย และส่วนใหญ่จะอยู่ชานเมือง ส่วนในตัวเมืองทั่วไปจะคึกคัก ไม่เหมือนตามข่าวที่ออก ถามว่าเทียบกับแรกๆ ที่เปิดร้านลูกค้าลดลงไหม ก็ลดลง แต่ไม่ได้มีผลพวงมาจากเหตุการณ์ แต่มาจากเศรษฐกิจ และมีร้านอื่นๆ เปิดมากขึ้น ทำให้ยอดขายลดลงบ้าง แต่ถามว่าอยู่ได้ไหม...ก็อยู่ได้ เหตุการณ์ไม่ได้ช่วยให้แย่ลง เศรษฐกิจมากกว่าที่ทำให้แย่ลงบ้าง"
เมื่อให้ฝากถึงคนนอกพื้นที่ สุมิตตา บอกว่า ปัตตานีไม่ได้น่ากลัวเลย ถ้าเทียบกับที่อื่น ที่นี่มีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะมาก มีทั้งน้ำตก ทะเล ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มัสยิดกรือเซะ ปัตตานีเป็นจังหวัดที่รวม 3 ศาสนา 3 วัฒนธรรม คือ จีน อิสลาม และไทยพุทธ จึงไม่มีอะไรน่ากลัว
ความคักคักของเศรษฐกิจที่่ชายแดนใต้สวนทางความรุนแรง ทำให้หลายคนแปลกใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ดร.กูมัจดี ยามิรูเด็ง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์อิสลาม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อธิบายว่า เศรษฐกิจชายแดนใต้พึ่งพาพืชผลทางการเกษตร การประมง การค้าชายแดน และการส่งออกแรงงานไปทำงานที่มาเลเซีย ขณะที่คนสามจังหวัดใช้ภาษามลายู ทำให้มีตลาดแรงงานรองรับกว้างกว่า และมีเงินหมุนเวียนในพื้นที่อยู่ตลอด
แม้เศรษฐกิจในเมืองปัตตานีจะยังคงคึกคัก แต่ผู้ประกอบการเองก็ยอมรับว่า เศรษฐกิจในภาพรวมของทั้งประเทศ และเศรษฐกิจโลกก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้วยเช่นกัน ดังนั้นคนในพื้นที่ต้องปรับตัวเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่ว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะจบหรือไม่จบก็ตาม
-----------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : เนื้อแพร พงษ์สุวรรณ ผู้สื่อข่าวทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี 22
ภาพ : เนชั่นทีวี