ฟ้าฝนไม่เป็นใจ...ลองกองชายแดนใต้ขาดตลาด!
แม้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะสถิติเหตุรุนแรงลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะ จ.นราธิวาสที่ไม่มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่มานานแล้ว แต่ดูเหมือนพี่น้องประชาชนที่นั่นจะยังไม่หมดทุกข์หมดโศก
เนื่องจากปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้ง ตามด้วยฝนที่มาเร็วก่อนกำหนด ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจได้รับความเสียหาย ก่อนหน้านี้ผลผลิตทุเรียนก็ตกต่ำลงถึง 40% ขณะที่ราคายางพาราไม่ต้องพูดถึง เพราะดิ่งลงตลอด
เมื่อราคายางตกต่ำ เกษตรกรก็โค่นต้นยาง และหันมาปลูกทุเรียน ข้อมูลจาก สุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา บอกว่า พื้นที่ขอปลูกทุเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะที่ขอเพิ่ม ตัวเลขพุ่งไปที่ 3,845 ไร่ แยกเป็น จ.ยะลา 2,796 ไร่ จ.ปัตตานี 90 ไร่ และ จ.นราธิวาสประมาณ 959 ไร่
"ปีที่ผ่านมา ภาคใต้เกิดภาวะภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้สวนทุเรียนของชาวบ้านตาย 2,000 กว่าไร่ ปีนี้ทุเรียนที่ออกผลผลิตจึงมีแค่ 40% แต่ปัญหาคือหลังจากนี้ ถ้าปีไหนไม่มีปัญหาเรื่องฟ้าฝน ผลผลิตก็มีโอกาสล้นตลาด ทำให้ราคาตก เพราะพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเพิ่มสูงขึ้นมาก" สุรชัย บอก
ทว่าปัญหาเรื่องผลิตผลทางการเกษตรไม่ได้มีแค่ทุเรียน แต่ล่าสุดยังลามไปถึง "ลองกอง" พืชเศรษฐกิจสำคัญอีกตัวหนึ่ง โดยเฉพาะ "ลองกองตันหยงมัส" ของดีเมืองนราธิวาสที่มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ยังแทบไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาด
ที่สวนของ ลุงผิน วงษ์น้อย ใน ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส มีต้นลองกองกว่า 200 ต้น บนเนื้อที่ 10 ไร่ ปรากฏว่าปีนี้แทบไม่มีลองกองออกผลเลย
ลุงผินเล่าว่า ปลูกลองกองมา 40 ปีแล้ว ปีนี้เกิดวิกฤติหนักที่สุด เพราะตั้งแต่เดือน เม.ย.มีฝนตกหนัก น้ำเยอะ ทำให้ลองกองไม่ออกดอกออกผล ถึงมีก็เพียงเล็กน้อย ไม่สามารถเก็บขายออกสู่ท้องตลาดได้
"หลายปีที่ผ่านมา ฝนตกตามฤดู แต่ปีนี้ไม่เป็นแบบนั้น ทำให้ผลไม้ก็ไม่ค่อยออกผล ถึงออกก็น้อยมาก ไม่ถึง 10% อย่างสวนของลุงแค่ 1% เอง ขายไม่ได้นะ แค่เอาไว้กิน ปีนี้น้ำเยอะเกิน รู้มาก่อนว่าจะเป็นแบบนี้เพราะช่วง เม.ย.ฝนตก จากประสบการณ์มันบอกเรา แต่การเตรียมตัวรับมือกับธรรมชาติมันยาก แม้จะพยายามตัดหญ้า ใส่ปุ๋ย เร่งดอก ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยทำ แต่ก็ไม่ได้ ไม่ออกผล เพราะฝนตก" ลุงผิน ระบายความในใจ
ปีที่แล้ว สวนของลุงผินเก็บลองกองส่งขายได้ถึง 5,000 กิโลกรัม เป็นลองกองเกรดเอ 3,000 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท แต่ปีนี้แม้แต่จะเก็บกินเองยังไม่มี ผลผลิตก็ไม่ค่อยดีนัก ปกติลองกองจะออกเป็นช่อสวย ขึ้นเต็มต้น มีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเลย ที่สำคัญลองกองตันหยงมัสยังขึ้นชื่อเรื่องกลิ่นหอมและรสชาติหวาน แต่ลองกองสวนลุงผินปีนี้คงเป็นได้แค่อาหารให้นกและค้างคาว
ลุงผิน บอกว่า รู้สึกเสียใจ แม้จะมีเกษตรจังหวัดมาให้คำปรึกษา แต่ก็แก้อะไรไม่ได้ ทำให้ต้องเก็บผลไม้อย่างอื่นในสวนขายแทน
"ทางเกษตรจังหวัดก็มาช่วยดูแล หาทางแก้จากหลายฝ่าย ช่วยกันดูแล ถางหญ้าให้แดดส่องลงมา แต่ก็เจอฝน รู้สึกเสียใจที่เป็นแบบนี้ เคยได้เงินแต่ต้องหาอย่างอื่น เช่น สละ กับกล้วย มาช่วย ก็พออยู่ได้" ลุงผิน บอก
เมื่อต้นทางที่เป็นแหล่งผลิตแทบจะไม่มีผลผลิต ย่อมส่งผลกระทบไปถึงตลาดที่ขายสินค้า และความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อลงพื้นที่สำรวจร้านขายผลไม้ในตลาดสดเทศบาลเมืองนราธิวาส ก็พบว่าไม่มีลองกองวางขายเลย แม่ค้าในตลาดบอกว่า ปีนี้ลองกองขาดตลาด แม้จะมีออเดอร์ แต่ไม่สามารถหาลองกองให้ลูกค้าได้
ลองกองตันหยงมัสถือเป็น "ของดี" ประจำจังหวัดนราธิวาส ในงานแถลงข่าวการจัดงานของดีเมืองนราฯ ประจำปี 2560 แม้จะมีการจัดงานวันลองกอง และประกวดผลผลิตทางการเกษตร แต่ปีนี้อาจไม่มีลองกองตันหยงมัสในปริมาณมากเหมือนปีก่อนๆ
พ่อเมืองนราธิวาส นายสิทธิชัย ศักดา บอกว่า ต้องยอมรับว่าลองกองตันหยงมัสปีนี้แทบไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาด แตกต่างจากปีที่แล้ว ทำให้ทางจังหวัดเตรียมแผนรองรับ โดยให้เกษตรกรในพื้นที่เก็บผลผลิตอย่างอื่นขายแทน เช่น ทุเรียน มังคุด สละ เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจากเกษตรจังหวัดนราธิวาสระบุว่า ปริมาณผลผลิตลองกองในปี 2559 มีถึง 5,783 ตัน แต่จากการสำรวจและประมาณการผลผลิตในปี 2560 ทั้ง 3 ครั้ง พบว่าลดลงเรื่อยๆ ตอนนี้เหลือเพียง 37 ตัน ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ นอกจากนี้สถานการณ์ของผลไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ ทั้ง เงาะ มังคุด และทุเรียน ก็มีปริมาณลดลงเช่นกันจากปัจจัยของฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง
"สมมติผลไม้ล้นตลาด อย่างปีที่แล้ว ผลผลิตทุกตัวเราหาตลาดภายนอกได้หมด อย่างลองกอง สามารถจำหน่ายในท่าอากาศยานนราธิวาส โดยที่ทางสายการบินให้การสนับสนุน ทำให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงพอสมควร และระบายออกไปสู่ภายนอกได้อย่างรวดเร็ว" ผู้ว่าฯนราธิวาส บอก และว่า
"วันนี้มีบริษัทของคนนราธิวาสไปจับมือกับนักธุรกิจชาวมาเลซีย นำผลผลิตไปแปรรูป เช่น ลองกอง ทุเรียน โดยเฉพาะทุเรียน ทำเป็นทุเรียนแช่แข็ง ส่งไปมาเลย์ สิงคโปร์ ซึ่งเรามีตลาดกลางที่สามารถส่งออกได้ที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ถือว่าเรามีความพร้อมพอสมควร เพียงแต่ให้ผลผลิตออกมาตามฤดูกาลก็แล้วกัน"
ถือเป็นความหวังและความฝันในวันหน้า เพราะเมื่อเสียงปืน เสียงระเบิดเริ่มเบาบางลง ก็ถึงเวลาค้าขาย เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ลืมตาอ้าปากได้เสียที...
----------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : เนื้อแพร พงษ์สุวรรณ ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี / นาซือเราะ เจะฮะ ศูนย์ข่าวอิศรา
ภาพ : เนชั่นทีวี เอื้อเฟื้อภาพ