ผลสำรวจบัตรทองปี 60 ประชาชนพึงพอใจ 95.66 %
ผลสำรวจ “บัตรทอง ปี 60” พบประชาชนพึงพอใจบัตรทองสูงถึง 95.66 % เพิ่มมากกว่าปี 59 ที่ได้ 91.86 % พร้อมแนะข้อเสนอส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม สร้างความเข้มแข็งการบริหารกองทุนสุขภาพตำบล
ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2560 ซึ่งมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุม ได้รับทราบ “ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผู้ให้บริการ และองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560” โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผู้ให้บริการ และองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากเป็นการดำเนินการตามคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนประจำปีบัญชีกำหนดกรอบการประเมินด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้สำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อสะท้อนการบริหารทุนหมุนเวียนแล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญที่นำมาสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า จากผลการสำรวจซึ่งได้นำเสนอต่อบอร์ด สปสช. มี 5 เรื่อง คือ 1.คะแนนความพึงพอใจ 2.การรับรู้ต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3.ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเมื่อเข้ารับบริการ 4.ประเด็นความไม่พึงพอใจ เหตุผลการไม่ใช้สิทธิและข้อเสนอแนะ และ 5.ข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยมีรายละเอียดดังนี้ การสำรวจความพึงพอใจประชาชน พบว่าปี 2560 กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจสูงถึงร้อยละ 95.66 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ได้ร้อยละ 91.86
การรับรู้ของประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการรับรู้ของประชาชนที่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ใช้บัตรประชาชนในการใช้สิทธิอยู่ที่ร้อยละ 92.39 คนไทยทุกคนมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ 90.18 และเมื่อเจ็บป่วยต้องไปใช้บริการที่หน่วยที่ลงทะเบียนสิทธิ ร้อยละ 86.39 ขณะที่การรับรู้ของประชาชนที่น้อยที่สุด คือ ใช้สิทธิคลอดบุตรโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ร้อยละ 57.00 สามารถเปลี่ยนหน่วยได้ปีละไม่เกิน 4 ครั้ง ร้อยละ 52.83 และทราบสายด่วน ร้อยละ 52.63 โดยกลุ่มประชาชนที่รับรู้น้อยที่สุด คือ กลุ่มอาชีพค้าขาย กลุ่มช่วงอายุ 25-39 ปี และกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ส่วนผลสำรวจค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเมื่อเข้ารับบริการ พบว่าจากประชากรตัวอย่างจำนวน 9,280 คน มีผู้ใช้บริการและใช้สิทธิจำนวน 3,404 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมร้อยละ 1,633 คน โดยเมื่อสำรวจค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม พบว่า เป็นค่าบริการ 30 บาท 928 คน หรือร้อยละ 56.83 รองลงมาเป็นค่าเดินทาง 814 คน หรือร้อยละ 49.60 จำนวน 5- 7,000 บาท
ส่วนของประชากรตัวอย่างที่ไม่ใช้สิทธิระบุเหตุผลว่า ขั้นตอนบริการตามสิทธิมีความยุ่งยาก รอนาน ร้อยละ 52.88, ไม่สะดวกในการเดินทางไปหน่วยบริการตามสิทธิ ร้อยละ 17.27, ไม่มั่นใจคุณภาพบริการ ร้อยละ 10.72, ไม่มั่นใจคุณภาพยา เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ร้อยละ 7.71, และอื่นๆ เช่น ซื้อยากินเอง, การใช้สิทธิ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นต้น ร้อยละ 6.02 นอกจากนี้ที่ระบุว่าไม่พอใจบริการของบุคลากรมีเพียงร้อยละ 5.40 ทั้งนี้เมื่อดูกลุ่มประชากรที่ไม่ใช้สิทธิ พบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพค้าขาย โดยให้เหตุผลการไม่ใช้สิทธิว่าการหยุดค้าขายเพื่อไปใช้สิทธิมีค่าเสียโอกาสสูงกว่า และกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือน 15,001-30,000 บาท ให้เหตุผลว่ามีทางเลือกอื่นจึงไม่ใช้สิทธิ
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายจากผลสำรวจครั้งนี้ คือ 1.เพิ่มการรับรู้ให้กับประชาชน ผู้ให้บริการและองค์กรภาคีเมื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายและรับรู้น้อย 2.ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ให้บริการทุกระดับในการพัฒนาการให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานบริการในมุมที่ประชาชนให้ความสำคัญเมื่อเข้ารับริการ 3.สร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพบริหารกองทุนให้กับประชาชนและภาคีที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นจัดสรรงบประมาณตรงไปหน่วยปฐมภูมิหลักเกณฑ์ขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ การลดภาระการบันทึกข้อมูล คุณภาพยา ความครอบคลุมสิทธิ และ 4.เสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนสุขภาพตำบล) แบบบูรณาการ