ป่าบ้านเขามุสิ เริ่มจากฝายสู่แหล่งรายได้ชุมชน ก้าวต่อเป็นหมู่บ้านปลอดหนี้
ลงพื้นที่ ป่าเขามุสิ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี ดูหมู่บ้านตัวอย่าง พลิกฟื้นป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาเขียวขจีอีกครั้ง สานต่อที่พ่อทำ ด้วยการน้อมน้ำ แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน อย่างการสร้าง ฝายชะลอน้ำในชุมชน ที่ผู้ใหญ่กล้าพูดว่าอีก 2 ปี เราจะเป็นหมู่บ้านปลอดหนี้
แน่นอนครับว่า เมื่อพูดถึงจังหวัดกาญจนบุรี เรามักนึกถึง สถานที่ท่องเที่ยวป่าเขาสีเขียว น้ำตกสวยๆ แต่ใครจะคิดว่าพื้นที่ในจังหวัดนี้ ก็มีพื้นที่ห่างไกล ที่คนในพื้นที่เคยขนานนามว่าเป็น อีสานแห่งเมืองกาญจน์
เป็นคำเปรียบเปรยว่า พื้นที่ตรงนี้ มีแต่ความแห้งแล้ง แต่นั้นเป็นชุดคำที่คนในพื้นที่เคยใช้ มาวันนี้ไม่ใช่อย่างนั้นอีกแล้ว
ที่อ.หนองปรือ คือสถานที่ที่กล่าวมาข้างต้น วันนี้ถ้าได้ลองไปเยี่ยมชมป่าชุมชนต้นแบบอย่าง ป่าเขามุสิ จะสัมผัสได้ถึงความเขียวขจีและชุ่มชื้นที่ลบภาพเดิมของพื้นที่แห้งแล้งออกไปจนหมดสิ้น แต่กว่าที่จะผลิกพื้นให้ป่ากลับมาเขียวได้อีกครั้งนั้น คนในชุมชนก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมามากมาย
พลิกฟื้นผืนป่า
เดือน คงมณี ผู้ใหญ่บ้านบ้านเขามุสิ เล่าว่า แต่เดิมพื้นที่ป่าชุมชนบ้านเขามุสิถูกรุกล้ำ ตัดไม้ ไปทำถ่าน จนกลายเป็นเขาหัวโล้นแห้งแล้ง ด้วยความกลัวว่า จะไม่มีป่าไว้ให้ลูกหลาน ผู้นำชุมชนจึงเริ่มรักษาป่าที่เหลืออยู่ ต่อมากรมป่าไม้จึงเข้ามาช่วยดูแล เมื่อไม่ตัดต้นไม้ ธรรมชาติก็เริ่มฟื้นตัว เมื่อได้มารับหน้าที่ดูแลต่อ จึงตั้งใจสืบทอดภารกิจพลิกฟื้นป่าชุมชน กว่า 2,860 ไร่ ร่วมกับชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์รวมถึงคืนความชุ่มชื้นให้กับป่า
ผู้ใหญ่เดือน เล่าอีกว่า ตอนทำฝายชะลอน้ำแรกๆ เราก็ทำตามที่เข้าใจ ลองผิดลองถูก ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนเมื่อเอสซีจีเข้ามาให้ความรู้ต่างๆ เพิ่มเติม เรื่องการปรับระยะและความสูงของฝายให้เหมาะสมกับพื้นที่ และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ไปดูงานสร้างฝายชะลอน้ำกับเอสซีจีที่ลำปาง ก็ฉุกคิดตอนที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล บรรยายว่า “ต้องสร้างฝายจากบนลงล่าง” เลยนำมาปรับใช้ เพราะเดิมฝายเราทำจากล่างขึ้นบน พอน้ำไหลลงมากระทบฝาย ฝายก็พัง ตอนนี้ฝายชะลอน้ำ เมื่อฝนตก ข้างล่างไม่เป็นไร ข้างบนก็อยู่ดี เพราะน้ำมันจะล้นจากข้างบนลงมา
“ชุมชนเราสมบูรณ์ขึ้นมาก ชีวิตป่าคืนกลับมา ป่ามีความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ มีผลผลิตจากป่า ชาวบ้านก็มีรายได้เสริมจากการเก็บหน่อไม้ เห็ดโคน ผักหวาน ไปขายตามฤดูกาล หรือกินกันในครัวเรือน ผลคือสามารถลดรายจ่ายลงได้ จากเคยยากจนไม่พอกินไม่พอใช้ ตอนนี้ชาวบ้านก็ออมมากขึ้น เราพึ่งพาตัวเองได้อย่างมั่นคง” ผู้ใหญ่เดือนเล่าทิ้งท้าย ด้วยความภาคภูมิใจ
มีป่ามีชีวิต
เมื่อความร่วมมือจากสำนึกของคนในชุมชน จากฝายชะลอน้ำเล็กที่ช่วยกัน เริ่มออกดอกผล กลายเป็นสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า ทำให้พื้นที่ป่าชุมชนบ้านเขามุสิ ฟื้นฟูสภาพ จากเขาหัวโล้นร้อนแล้ง กลับเต็มไปด้วยพืชพรรณอุดมสมบูรณ์ จนทำให้ป่าชุมชนบ้านเขามุสิ ได้รับรางวัลป่าชุมชนต้นแบบ โดยกรมป่าไม้ โดยในปี 2555 ได้รับรางวัลดีเด่นระดับภูมิภาค และ ปี 2554 ได้รับรางวัลชมเชยระดับจังหวัด โดยปัจจุบันมีพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 2,860 ไร่
นอกจากนี้บริเวณป่าชายเขา ยังมีความชุ่มชื้นใต้ดิน ทำให้ทำการเกษตรปลูกพืชผลได้ดี จากเดิมเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ผลผลิตน้อย
ฝายชะลอน้ำยังส่งผลให้เกิดความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ป่าในระบบนิเวศ โดยในป่าชุมชนบ้านเขามุสิ พบความหลากหลายทางชีวภาพของไลเคนสูงที่สุด จำนวน 31 ชนิด และมีครัสโตสไลเคนเป็นกลุ่มที่มีการแพร่กระจายมากที่สุดสูงที่สุด (ข้อมูลอ้างอิง : การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของไลเคนเบื้องต้นในพื้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดกาญจนบุรี (2556))
นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในพื้นที่เรียนรู้ศึกษาธรรมชาติดูงานของ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ทั้งยังสามารถลดปัญหาน้ำท่วม โดยในช่วงที่ฝนตกหนักจนน้ำท่วมน้ำหลากในพื้นที่ ฝายชะลอน้ำได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ช่วยให้ปริมาณน้ำลดลง จากเดิมที่เข้าท่วมบ้านเรือนเสียหาย
ดอกผลสร้างชุมชนแข็งแรง
เมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านในชุมชนสามารถเก็บผลผลิตจากป่าในช่วงหน้าฝน อาทิ เห็ดโคน ผักหวาน หน่อไม้ มาเป็นรายได้เสริมหรือเก็บไว้กินในหน้าแล้ง โดยชาวบ้านบางคนสามารถเก็บเห็ดโคนไปขายได้ กิโลละ 500 หรือ 200-300 ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ หรือขายผักหวานได้ กิโลละ 100 บาท โดยที่ชุมชนบ้านเขามุสิ สามารถลดรายจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อครัวเรือน นอกจากนี้หมู่บ้านเขามุสิยังเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นด้วย โดยกลุ่มออมทรัพย์ฯ บ้านเขามุสิได้รับใบประกาศเกียรติคุณตามโครงการส่งเสริมสุขภาพทางการเงินกองทุนชุมชนด้านธรรมาภิบาล ระดับจังหวัดปี 2559 เป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีการบริหารจัดการดีเด่น
“ไม่น่าเกินอีก 2 ปี เราจะเป็นหมู่บ้านปลอดหนี้” ผู้ใหญ่เดือนพูดอย่างมั่นใจ ก่อนจะเล่าเท้าความกลับไปยังจุดเริ่มต้นของกุ่มออมทรัพย์ของหมู่บ้านที่ปัจจุบันมีเงินอยู่มากถึง 12 ล้านบาทว่า ความเข้มเเข็งมาจากคนกลุ่ม เมื่อก่อน คนไม่รู้จักสามัคคี ไม่มีการประชุมพูดคุยกับคนในหมู่บ้าน หน่วนงานของรัฐไม่เข้า ขาดการพัฒนา มายุคหลังๆ เริ่มมีการพัฒนา สืบเนื่องจากเราสร้างฝาย มีแรงบันดาลใจแต่ไม่มีเงิน ก็สร้างสะเปะสะปะ
“เราไปดูงานออมทรัพย์ที่เข้มแข็ง แล้วกลับมาจัดตั้งกลุ่ม จัดตั้งใหม่ๆ เราระดมหุ้น 50 บาท 100 บาท ได้ 3-4 พันบาท เราเริ่มมีแรงเงิน ให้ชาวบ้านกู้ตามความจำเป็น กู้ไปใช้ที่เป็นประโยชน์ ชาวบ้านก็เริ่มชักชวนกันมา เป็นกลุ่มใหญ่ เน้นว่าทุกบ้านให้มาเป็นสมาชิกกลุ่ม ก็เลยเติบโตมาเรื่อยๆ จากเงินหลักพัน มาหมื่นไปหลักแสน และล้าน” ผู้ใหญ่เดือนกล่าว
ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์มีสมาชิกรวม 700 ราย มีทั้งคนในตำบลและจากตำบลอื่นด้วย ผู้ใหญ่เดือนบอกว่า เราได้ช่วยเหลือทุกอย่าง ทำไร่ ค้าขาย ก็สามารถมากู้ยืมได้ ดอกเบี้ย 15% ก็ใกล้เคียงกับธนาคาร และง่ายมากในการกู้ ซึ่งจะมีการประชุมในทุกวันที่ 5 ของเดือน เช้าเก็บออมทรัพย์ เย็นประชุม มีกองทุนสวัสดิการ หากชาวบ้านประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิตจะได้รายละ 130,000 บาท เราประกันความเสี่ยงให้เขา ส่วนเงินค่าจัดการต่างๆ ในพื้นที่ก็มาจากกำไรของเงินออมทรัพย์ และก็ของกองทุนหมู่บ้าน สิ้นปีเราปันผลกลับให้ 7% และอีก 7% ก็นำมาพัฒนา
รัฐ เอกชน ชุมชน สามประสานประชารัฐที่แท้จริง
ธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง กล่าวว่า เราต้องการสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง โดยการให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เราอาจมีการพาชุมชนไปดูงาน ท้ายที่สุด สิ่งสำคัญคือการร่วมแรงร่วมใจกันกับชุมชน ในขณะที่เราเป็นคนที่เข้าไปร่วมประสานงาน ให้การสนับสนุนให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเองในระยะยาว
เมื่อชุมชนเข้มแข็ง ความเหลื่อมล้ำในสังคมก็จะลดลง บอสใหญ่แห่งเอสซีจีมองว่า การที่ทำให้ชุมชนสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง เช่น การที่ชุมชนนี้บอกว่า เวลาเกิดอะไรขึ้น ชุมชนจะช่วยตัวเองก่อน อันนี้แสดงถึงความเข้มแข็ง ถ้าทุกชุมชนสามารถทำได้ อยู่ได้ด้วยตัวเองประเทศก็จะเข้มแข็ง การมาช่วยแบบครั้งเดียวจบไม่เกิดผล ไม่ใช่การพัฒนา ประชารัฐเป็นความร่วมไม้ ร่วมมือ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ชุมชน การบูรณาการจะสร้างความยั่งยืน การที่เราทำฝาย ช่วยชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ ถึงจุดหนึ่งชุมชนยืนได้ด้วยตัวเอง มีขีดความสามารถในการผลิต รัฐน่าจะสนับสนุนในเรื่องนี้ในการสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง
สานต่อสิ่งที่พ่อทำ
ฝายชะลอน้ำช่วยหลอมรวมชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียว ทำให้เกิดพลังสมัครสามัคคี ชุมชนเข้มแข็ง ไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มผู้ใหญ่ แต่เยาวชนในพื้นที่ก็ได้เรียนรู้ทำงานร่วมกัน ได้รับปลูกฝังสำนึกรักป่า ให้ร่วมกันหวงแหนดูแล พร้อมพัฒนาสืบทอดการทำฝายชะลอน้ำจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป
นางสาวโยทกา ไหวไว เครือข่ายเยาวชนรุ่นใหม่บ้านเขามุสิ เล่าว่า ตอนแรกไปร่วมสร้างฝายชะลอน้ำเพราะสนุก จึงชวนเพื่อนๆ ไปร่วมกันสร้างฝาย จากนั้นจึงค่อยๆ เรียนรู้ เห็นประโยชน์ของการสร้างฝาย ที่ส่งผลกับเรื่องใกล้ตัว อย่างปัญหาน้ำท่วมที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ป่าไม้สมบูรณ์ชุ่มชื้นมากขึ้น
เธอจึงตั้งใจว่าจะช่วยสานต่องานเรื่องการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อช่วยให้ชุมชนยั่งยืนสืบไป “ทำฝายก็เหมือนได้ช่วยเหลือคนอื่น แล้วก็อยากอนุรักษ์ ตอบแทนป่าด้วยค่ะ เราอาศัยป่า ป่าอาศัยเรา” โยทกาเสริม
การสร้างฝายชะลอน้ำในชุมชน ไม่เพียงคืนความสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ แต่เป็นการร่วมสืบสานความยั่งยืนให้กับชุมชนรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกับเอสซีจีที่มุ่งมั่น “สานต่อที่พ่อทำ” น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ไปเผยแพร่ เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในชุมชนต่างๆ ต่อไป
ในปี 2559 เอสซีจีได้ร่วมกับชุมชนเครือข่ายโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” ทั่วประเทศ สานต่อการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริให้ครบ 70,000 ฝาย ซึ่งทำให้ปัจจุบันมีเครือข่ายชุมชนในโครงการฯ มากกว่า 80 ชุมชน ใน 12 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค