“โมเดลเด็กหนองฮี” ชี้มือถือเหตุเสี่ยง-เสื่อม ระดมสมองรับมือภัยสื่อยั่วยุ
เด็กพิบูลย์ เมืองอุบลฯ ชี้โทรศัพท์มือถือนำไปสู่ความเสี่ยงและความเสื่อมของเยาวชน ทั้งทางวัฒนธรรม การศึกษา สุขภาพ โรคจิต การล่อลวง อาชญากรรม โดยเฉพาะภัยทางเพศ เตรียมช่วยกันรณรงค์ขยายผลผ่านเสียงตามสายหมู่บ้าน และเสาธงหน้าโรงเรียน
เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ประสานงานกลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาหนองบัวฮี อุบลราชธานี(ศสอ.): โครงการพัฒนาศักยภาพมือปราบไร้สาย โดยการสนับสนุนของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “โทรศัพท์มือถือกับความเสี่ยงทางเพศ” ที่โรงเรียนหนองบัวฮีวิทยาคม อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โดยมีตัวแทนเยาวชนจากสี่โรงเรียนในอำเภอกว่า 50 คน เข้าร่วม
นายคิด แก้วคำชาติ ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาทางเพศกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆทั้งการล่อลวง ทำอนาจาร มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ทำแท้งหรือแม้แต่การขายบริการทางเพศ ซึ่งต้นตอของปัญหาส่วนใหญ่มาจากสื่อยั่วยุ เช่น หนังโป๊ เกมลามก เว็บไซต์ลามก และที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มเด็กและเยาวชนมากที่สุดคือจากโทรศัพท์มือถือ
นายคิด ยังกล่าวต่ออีกว่า เวทีอบรมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นการร่วมกันวิเคราะห์ระดมแนวคิด และพบว่าในบรรดาสื่อทุกประเภท โทรศัพท์มือถือเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและมีอัตราการเสี่ยงต่อกลุ่มเด็กและเยาวชนมากที่สุด เช่น เสี่ยงต่อการถูกล่อลวง ความเสื่อมของวัฒนธรรม อนาคตการศึกษาของวัยรุ่น อันตรายด้านสุขภาพ การเป็นโรคจิต การเกิดอาชญากรรม วินาศกรรม และที่สำคัญเสี่ยงต่อการละเมิดทางเพศ เพราะโทรศัพท์มือถือเป็นทั้งเครื่องฉายสื่อ เครื่องรับสื่อ และเครื่องมือสื่อสาร ที่สามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ปัญหาทุกอย่างเข้าหากันอย่างง่ายดาย เช่น ชายดูคลิปโป๊แล้วเกิดอารมณ์ โทรหาหญิง เพื่อนัดหลอกมาข่มขืน ทำให้หญิงมีท้องโดยไม่พร้อม นำไปสู่การทำแท้ง ทำให้เสียอนาคตเสียการเรียน พ่อแม่รู้แล้วเกิดความเสียใจ ฝ่ายชายหันไปพึ่งยาเสพติด ผิดทั้งศีลธรรมและวัฒนธรรม เป็นต้น
นายคิด กล่าวว่า จากการระดมความคิดของเยาวชนเพื่อหาทางออกให้กับตนเองและสังคม เพื่อไม่ให้ตกเป็นทาสของสื่อที่นำไปสู่ความเสี่ยงและความเสื่อม ได้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมหลายมิติ เช่น ปัญหาการล่อลวง มีแนวทางการแก้ไขคือหลีกเลี่ยงการคุยโทรศัพท์เป็นเวลานาน และไม่คุยกับคนแปลกหน้า ส่วนพ่อแม่ต้องไม่ปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพัง ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ แนวทางการแก้ไขคือ ปฏิเสธสิ่งยั่วยุต่างๆที่เห็นว่าจะไม่เหมาะสม ทางด้านครอบครัวควรจะให้คำปรึกษาลูกเมื่อเกิดปัญหา เปิดใจคุยกัน แล้วค่อยหาทางแก้ ปัญหาการทำแท้ง แนวทางการแก้ไข คือรู้จักป้องกันตนเอง หันหน้าปรึกษากันเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วร่วมกันหาทางออกที่ดี
ทั้งนี้เยาวชนที่ผ่านการฝึกอบรมจะนำข้อมูลความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์ ไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง และขยายสู่กลุ่มเพื่อนๆ และนำไปรณรงค์ในโรงเรียนเพื่อขยายผล เช่น เสียงตามสาย หน้าเสาธง ป้ายนิทรรศการ ส่วนโรงเรียนขยายผลที่เข้าร่วมกิจกรรม ก็จะนำรูปแบบกระบวนการของหนองบัวฮีโมเดลนี้ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนต่อไป .