ฤารัฐบาลใหม่จะมา คอร์รัปชั่นเก่ายังคงอยู่?
รัฐบาลใหม่ไม่รู้ว่าจะได้เห็นเมื่อไหร่ แต่ยังไงคอร์รัปชั่นจะใหม่ไปเรื่อยๆ นี่คือสิ่งบรรยง พงษ์พานิช มองกับคำถามว่า เมื่อเลือกตั้งเเล้ว เรายังจะมีคอร์รัปชั่นเก่าอยู่อีกหรือไม่ ไปหาคำตอบ หนทาง และความท้าทาย ข้อเสนอแนะเพื่อสังคมไทยจะหลุดจากวังวนเดิมๆ
พูดถึงปัญหาคอร์รัปชั่น เชื่อว่าทุกคนในประเทศไทย คงรับรู้กันว่านี่คือยาขมที่แก้ยากมาก ผลสำรวจครั้งล่าสุดพบว่าคนไทย 95% ตระหนักถึงปัญหานี้ แต่ที่สวนทางกลับกันคือ คะแนนความโปร่งใสของไทยที่ดูเหมือนจะยิ่งตกลงไป
ปัจจุบันองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ให้คะแนนความโปร่งใสประเทศไทยไว้ที่ 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลง 3 คะแนน ได้ลำดับที่ 101 เมื่อเทียบกับปี58ที่เราได้ 38 คะแนน อยู่อันดับ 76 จาก 168 ประเทศ
คะแนนที่ตกลงสะท้อนถึงอะไร แล้วความหวังที่ว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ ที่คณะกรรมการร่างฯบอกว่า บรรจุสรรพคุณปราบโกงมากมาย รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคตนี้จะเป็น รัฐบาลใหม่ในระบบคอร์รัปชั่นเก่าหรือไม่ ?
ในเวทีเสวนาหัวข้อคล้ายกัน “รัฐบาลใหม่ คอร์รัปชั่นเก่า” ซึ่งจัดโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่น เมื่อวันที่ 06 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา หยิบยกเอาประเด็นเหล่านี้ เพื่อเปิดมุมมองว่า ถ้าไม่อยากมีเป็นอย่างที่ว่า เรายังพอมีแนวทางไหนเพื่อขยับให้ความโปร่งใส ดัชนีคอร์รัปชั่นไทย หรือมากไปกว่านั้นคือการทำให้ประเทศปลอดการโกงได้ อย่างไม่ใช่ในทันที แต่คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ยังดี
"ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์" ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา สื่อมวลชนที่ทำงานด้านตรวจสอบความโปร่งใสมาโดยตลอด มองว่า หลังจากการยึดดอำนาจใหม่ๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ดูเหมือนตัวเลข อัตราการจ่ายสินบน จะชะงัก ลดลง หากลองวิเคราะห์เหตุผล จะพบว่า เพราะพวกที่เคยจ่ายสินบนหรือหากินบนผลประโยชน์เหล่านี้ ยังดูท่าทีว่า คสช.จะเอาจริงไหม แต่หลังจากที่เฝ้าดูสิ่งที่แถลงไปสักพักแล้วพบว่าไม่เอาจริง ก็เริ่มกระบวนการใหม่ อัตราสินบนเริ่มกลับมาในอัตราใกล้เคียงเดิม เมื่อรู้ว่าช่องทางอำนาจอยู่ตรงไหน
ผอ.สถาบันอิศรา มองว่า แม้มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และการใช้ม.44 ในการโยกย้าย พักงานราชการทั้งหมดกว่า 300 ราย จะเหมือนเป็นไม้ตาย แต่หากดูรายละเอียดจริงๆ จะพบว่า คนที่ถูกย้ายมีเฉพาะ ข้าราชการท้องถิ่น ไม่มีคนที่ทีสี คนในเครื่องแบบสีเขียวสักคน
คำถามคือทหารไม่คอร์รัปชั่นเลยหรือ หรือว่าไม่มีอำนาจตรวจสอบ สิ่งนี้สะท้อนอะไร
“ม.44 กระบวนการไม่ได้โปร่งใส เราไม่เคยรู้ข้อกล่าวหาเลย สื่อมวลชนต้องไปสืบเอาเอง สักพัก คนที่หาย ก็เกษียณไปเงียบๆ ไม่มีการสอบสวน เช่น อดีตเลขาธิการ กรรมการ สสส. 7 คนที่หายไป เรื่องก็เงียบ หรือกรณีที่มีการลงโทษไป 80 ราย ก็เงียบ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลโทษ ซึ่งสร้างความไม่มั่นใจว่า ท้ายสุดพวกกันเองไม่เล่น” ประสงค์กล่าวและยกตัวอย่างให้ดูว่า การองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ขุดคลองกินหัวคิว อผศ. รับงาน 4 พันล้านบาท หรือกรณีผูกขาดโซลาร์ฟาร์ม ให้เอกชนมาเสนองาน วางเงินเป็นล้าน ไม่มีการสอบสวน ปัจจุบันเงินอยู่ไหน
นอกจากนี้ยังมีกรณี อุทยานราชภักดิ์ ที่ผลสอบสวนออกมาว่าไม่ผิด ไม่ผิดเพราะอะไรรายละเอียดไม่มี หรือเรื่อง GT200 เสียหาย 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันคดียังไม่พ้นชั้นอัยการเลย มีการกล่าวว่าคนที่มีอำนาจในยุคนี้ คือคนที่เกี่ยวข้องในยุคโน้น
(อ่านประกอบ:เปลือยหมดเปลือก!พฤติการณ์-ผู้เกี่ยวข้องปมทุจริตขุดคลอง ฉบับกลุ่มธรรมาภิบาล, เทียบชัด! งบขุดคลอง อผศ. รบ.‘ปู VS บิ๊กตู่’ใครจัดให้มากกว่า?, ผลจับสลาก‘โซลาร์ฟาร์ม’ไม่เป็นทางการ อผศ.ได้ 11 โครงการ ‘บีซีพีจี’ด้วย, เส้นทาง อผศ.ก่อนได้โซลาร์ฟาร์ม บ.‘น้องบิ๊กป้อม’นั่ง กก.คว้าชัย-โครงการปริศนาโผล่?)
“เราเคยกล่าวว่า นักการเมืองเมื่อเข้ามามีอำนาจ ก็ส่งคนไปคุมรัฐวิสาหกิจ มาดูวันนี้ ใครดูเเลรัฐวิสาหกิจ และยิ่งมีการคุมอาจเยอะโดยไม่มีการตรวจสอบอันตรายที่สุดการใช้ม.44 โยกย้าย ข้าราชการท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นหลายราย สมควรโยกย้ายแต่ไม่มีการย้าย เพราะสภาท้องถิ่นมีความผุกพัน อุดหนุนกองทัพหลายร้อยล้านบาทเราถึงไม่มั่นใจว่าคอร์รัปชั่นลดลง” ประสงค์ กล่าว.
ผอ.สถาบันอิศรา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ไม่มีการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ อย่างท้องถิ่นชุดเดิมอยู่มา8ปี คือการสร้างฐานอำนาจในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง การย้ายนายก อบจ. นายกเทศมนตรี เช่นที่ อุบลราชธานี รองนายกฯก็เข้ามารักษาการต่อ พอย้ายรองนายกฯ ปลัดก็เข้ามาต่อ คนพวกนี้อยู่กันมานาน ทีมเดียวกัน ม.44 แก้อะไรไม่ได้เลย เพราะไม่ได้แก้ที่ฐาน ที่สำคัญคือว่า ข้อครหาในการส่งคนใกล้ชิดไปนั่งในองค์กรอิสระ ที่คาใจคือ ป.ป.ช. ดังนั้นถ้าจะเซ็ตซีโร่เอาให้ทุกองค์กร
“เราชอบคิดว่ากฎหมายเยอะๆ จะช่วยปราบโกง ดูวันนี้สถานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ออกกฎหมายมา 200กว่าฉบับแล้ว หวังกันว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นการแก้ปัญหา โครงสร้างกฎหมาย อย่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ที่ไปรวมศูนย์อำนาจการชี้ขาด ไว้กับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง การจัดซื้อจัดจ้างมี 1,040,000รายการต่อปี ไปกระจุกที่เดียวหมดทุกปัญหาไปหมกที่นั่นหมด ถ้าอุทธรณ์ ทุกอย่างหยุดชะงัก การรวมศูนย์อำนาจ เป็นการซ้ำเติมประเด็นคอร์รัปชั่นหรือไม่
ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด ต้องเปิดเผยข้อมูลในทุกๆ เรื่อง ยกเว้นว่าเป็นความลับจริงๆ เช่น ค่าเงินบาท เป็นต้น การเปิดเผยอย่างเป็นระบบและคนเข้าถึงได้ โอกาสในการโกงจะลดลง สิ่งที่ต้องแก้เพื่อไปยังจุดที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ 4 อย่างคือ
(1) กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง กรมบัญชีกลาง ทุกวันนี้เข้าถึงข้อมูลแย่ที่สุด ต้องรื้อกรมบัญชีกลาง ในเมื่อรวมศูนย์ข้อมูลทั้งประเทศ กลายเป็นว่ายิ่งทำE-bidding การเข้าถึงยิ่งแย่ลง คนชนะได้โครงการ แต่คู่แข่งไม่รู้รายละเอียดว่าเป็นใคร กลายเป็นว่ากรมบัญชีกลางเป็นแหล่งหาผลประโยชน์สูงสุด
(2) ระบบภาษี หน่วยงานที่ดูเเลบอกว่า เป็นความลับ ยกตัวอย่างการเก็บภาษีโรงเรือน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นใช้ดุลพินิจหมด เก็บภาษีเท่าไหร่ไม่บอก แต่ถ้าเกิดโชว์หมด จะไม่มีปัญหา
(3) งบประมาณ วันนี้เราเบิกจ่ายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำไมแต่ละหน่วยงาน เบิกแล้ว ไม่เอาขึ้นจอไปเลย ทำเป็นเรียลไทม์ สามารถดูได้ เช่น กรมทางหลวงเบิกเงินพันล้านบาทแล้วทำไมถนนไม่เสร็จ จะได้รู้กันไปเลย ทุกคนจะตรวจสอบได้
(4) กระบวนการยุติธรรม เป็นการใช้อำนาจ รัฐบาลบอกว่าจะปฏิรูปตำรวจ แต่ออกคำสั่งทำลายเสียเอง ยุบรวมอำนาจการโยกย้ายแต่งตั้งมาที่ ผบ.ตร.คนเเดียว
"มาตั้งกรรมการปฏิรูปตำรวจ ทุกวันนี้เราไม่รู้ว่าผลสอบสวน คำร้องที่เราไปฟ้องถึงไหน ไม่เปิดเผยกับประชาชน คดีถึงไหนตรวจสอบไม่ได้ กระบวนการพวกนี้ไม่ถูกเปิดเผย
เดินขึ้นโรงพัก ยังต้องไปพิมพ์สิบนิ้ว ทำไมเราไม่ทำแบบเดียวกับระบบพาสปอร์ต ใช้นิ้วเดียวขึ้นก็เลย ระบบแค่นี้ทำไมองค์กรตำรวจ ทำไม่ได้ ปฏิรูปเรื่องเทคโนโลยี เราสามารถบอกว่าซื้อเครื่องป้องกันการก่อการร้ายได้ แต่ซื้อเครื่องพวกนี้ไม่ได้ อย่างถ้า ป.ป.ช.การเปิดเผยบัญชีทรัพสิน นักการเมือง ก. ก็แค่กดที่เดียวได้เลย วันนี้ยังต้องไปคัดที่ละแผ่น โชคดีหน่อยที่มีโทรศัพท์ถ่ายมาได้ ดังนั้น4.0 ยังห่างไกล "
แต่ทั้ง 4 ข้อที่เสนอนี้ "ประสงค์" มองว่าถ้าทำได้ก็ช่วยลดความไม่โปร่งใสลงได้อย่างมาก ส่วนที่เหลือว่าประชาชนจะตื่นรู้มากน้อยแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่ต้องดูจัดการกันอีกที
ด้าน" ปริญญ์ พานิชภักดิ์ "กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกลไกในภาคธุรกิจ ภาคเอกชนที่มีต่อการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยมองว่า ประเด็นสำคัญที่จะต่อต้านคอร์รัปชั่นมองที่เราเปิดเผยข้อมูล ได้โปร่งใสแค่ไหน ยุคทุนนิยมมีข้อจำกัดความว่า เอาแต่กำไร ทำอย่างไรให้โตเต็มที่ เราเห็นเเล้วว่าไม่ยั่งยืน
พร้อมกันนี้เขายกตัวอย่างอินเดีย เป็นประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นสูงมาก มีค่าน้ำชา เป็นวัฒนธรรมในประเทศนั้น มาตอนนี้หลังจาก นเรนทรา โมดี ขึ้นมาเป็นนายกฯ เชาใช้หลายอย่างดึงเอกชนเข้ามา ทำให้คอร์รัชปั่นยากขึ้นอินเดียใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ
"วันนี้เราพูดไทยแลนด์ 4.0 แต่คนในภาคราชการยอมรับว่าราชการไทยอยู่ที่ 0.4 หรือติบลบ4 อินเดียจะเดินเกมปราบโกง นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ ไทยมีคนเขียนโปรแกรมเก่งๆ เยอะ แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน อินเดียใช้ระบบราชการจริงจังคือนำเอา เทคโนโลยีบล็อคเชนเข้ามา ทำให้เกิดบริษัทใหม่ๆ การโกงในระบบการเงิน การธนาคาร ทำยากขึ้นเพราะในระบบ บล็อคเชน ทำทุกอย่างรวดเร็วขึ้น ตรวจสอบประวัติ ได้เร็วขึ้น
บริษัท bajaj finance ซึ่งเป็นบริษัทด้านการเงินอินเดีย ใช้เวลาสองนาทีอนุมัติเงินกู้เพราะรัฐบาลมีข้อมูลในบล็อคเชนเเล้ว อนุมัติได้ทันที ไม่ต้องมา ถ่ายเอกสาร วันนี้อินเดียทำเเล้ว และมีประสิทธิภาพ เข้าถึงฐานราก และเมื่อประชาชนเข้าถึงเงินทุนในระบบได้ ก็ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ แถมช่วยหนี้ครัวเรือนได้ "
กลับมาดูประเทศไทย ปริญญ์กล่าวว่า ประเทศใดที่มีกฎหมายมากเกินไป คอร์รัปชั่นก็มากขึ้นไปด้วย แม้ตัวเลขออกกฎหมายของสนช. เพิ่มมากขึ้น เราอาจภูมิใจมากที่ออกกฎหมาย แต่ยิ่งกฎหมายเยอะ ภาครัฐเรียกค่าน้ำชาได้มากขึ้น อย่างตัวพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ที่วันนี้ไม่ได้ทำให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ไม่ต้องพูดเอกชนที่จะมาขอใบอนุญาต เอาแค่ประชาชนยังติดขัดมากมาย ความง่ายในขอใบอนุญาตมีจริงหรือเปล่า กลายเป็นว่า ถ้าอยากให้ใบอนุญาตเสร็จเร็วขึ้น ก็ต้องมีค่าน้ำชาให้
สิ่งสุดท้ายที่ ปริญญ์ มองถึงปัญหาคอร์รัปชั่นที่แก้ยาก คือความกลัว
เขากล่าวว่า เอาง่ายคือ เรากลัวว่าคู่แข่งอื่นทำแบบนี้ได้ประโยชน์ แล้วถ้าเราไม่ทำเราจะเสียผลประโยชน์ เช่น เข้าโรงเรียนดังๆ คนหนึ่งจ่ายเงินลูกได้เข้าเรียน อีกคนตั้งใจสอบแต่ไม่ได้เข้า เราก็กลัวก็ยอมจ่าย กลัวว่าลูกจะไม่ได้เข้า หรือความกลัวไม่ได้ทันคิวรักษาพยาบาล ก็จ่ายหมอให้ตรวจตัวเองก่อน
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดคอร์รัปชั่นขึ้นมา ซึ่งเราต้องเลิกกลัวกันก่อน แล้วคอยสอดส่อง ดูเเล เป็นคนเป่านกหวีด (whistle blower)
ด้าน ภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวถึงมาตรการใหม่ๆ ที่จะเอามาใช้ปราบคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญใหม่ โดยยกตัวอย่าง คำสั่ง 67/2557 ของคสช. ที่เขามองว่าเป็นคำสั่งที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นคำสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานรัฐทั้งหลายทำหน้าที่ในการไปดูเเล ตรวจสอบจัดการในหน่วยของตัวเอง และหากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ได้ให้อำนจ ป.ป.ช. ลงโทษหัวหน้าด้วย ไม่ใช่ลงโทษคนทำเท่านั้น โดยให้มีการตรวจสอบให้ ปปท.รายงานไปยังนายกฯ เรียกว่าเพิ่มแมวไปจับหนู
ตั้งแต่ออกคำสั่งมาในปี 2557 ภัทระ กล่าวว่า จนวันนี้ไม่มีแมวที่ไหนไปจับหนู ไม่มีการไปทำจริงจัง ทั้งๆ ที่แนวความคิดอันนี้สำคัญมาก กรรมการปฏิรูปแห่งชาติต้องการเพิ่มแมวไปจับหนูให้เพิ่มขึ้น ในอนาคตเรื่องนี้สำคัญ
ส่วนเรื่องอื่นๆ ภัทระ มองว่าข้อดีของ ม.44 คือทำเสียงตึงตังได้ แต่ก็ได้ขยาดในระดับหนึ่ง ในรัฐธรรมนูญมีการออกแบบหลายอย่าง หลายมาตรการไปแทรกอยู่ในหลายระดับ เช่นเรื่อง ก่อนเข้าสู่อำนาจ คุณสมบัติคนที่จะสมัคร ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) หรือ สภาผู้แทนราษฎร์(ส.ส.) คุณสมบัติ ถ้าเกิดว่าทุจริตเลือกตั้ง ไม่ใช่จะเอาคะแนนนิยมมาได้ ขาดไปเลย หลายคนที่ติดคุกวันนี้ ไม่มีทางกลับมาได้อีกต่อไป และถ้าเข้ามาเเล้ว ถ้าทำทุจริต ไม่ว่า นิติบัญญัติ ครม. ถ้าเอื้อกัน งบประมาณ ถ้าใครรู้เห็นเป็นใจ สภาไปทั้งสภา ครม.ไปทั้งครม. และคดีมีอายุความ 20 ปี เรื่องการหาเสียง ที่อาจมีการตราในกม.เลือกตั้ง ทำอย่างไรไม่ให้มีการชกกันใต้เข็มขัด ต้องมีเขียนไว้
หรือถ้ามีโครงการ ที่จะทำให้มีผลกระทบ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจแล้วว่าไม่สมเหตุสมผล คล้ายๆ โครงการข้าว ที่มีการเตือนเเล้ว แล้วยังทำก็จะโดน
การปฏิรูปตำรวจ เดิม 123/5 ของ ป.ป.ช. เรื่องการให้สินบนต่างประเทศพูดถึงนิติบุคคลที่ให้สินบน ถ้าไม่มีระบบตรวจสอบที่ดี นิติบุคคลผิดด้วย ป.ป.ช.มีกลไกจัดการเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง แต่การทุจิรตในภาคเอกชนไปไม่ถึง แต่กฎหมายใหม่ มีการระบุความผิดของเอกชน รัฐธรรมนูญ เขียนออกไปยาวกว่านั้นว่า ให้ส่งเสริมเรื่องการแก้ไขปัญหา ทุจริตในภาคเอกชน ประชาชนมีส่วนร่วม ตามม.63 รธน.นี้ การทุจริต ในภาคเอกชนถูกยกระดับขึ้นมา มีการแตะไปที่การทุจริตในภาคเอกชน ทุกวันนี้กำลังร่าง กม.ป?ป.ช. สะพานที่ว่าจะไปได้แค่ไหน
ทั้งนี้ ภัทระ กล่าวด้วยว่า วันนี้ต้องรื้อระบบใหม่ มีการบูรณาการใหม่ พยายามที่จะเขียนใหม่ให้มีบูรณาการซึ่งสำคัญมาก สตง. คตง. มาตรการในการวินิจฉัยไม่เหมือนกัน เป็นช่องทางในการคอร์รัปชั่นได้ แค่จะเขียนให้บูรณาการข้อมูลกัน อย่างหน่วยงานออกกฎหมายแค่นี้ ยังยากเลย คอมพิวเตอร์เราไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ต่อ โชคดีที่ กรธ. เขียนกฎหมายลูกเอง เอาที่เชื่อมโยงกัน เขียนให้ระบบต่อกัน
"วันนี้เอกชนตึกสองตึกเสียภาษีไม่เท่ากัน เปิดระบบให้เชื่อมกันจะทำได้ไหม"
ด้าน นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดัง ในฐานะประชาชนที่เฝ้ามองปรากฏการณ์ทางสังคม กล่าวว่า ไม่ว่าจะเรื่องทางกฎหมาย เรื่องทางเทคนิคอื่นๆ แต่เรื่องสำคัญที่สุด คือให้สำนึกของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กรุ่นใหม่ๆ ทำให้คอร์รัปชั่นเป็นสิ่งน่าอาย
นิติพงษ์ มองว่า คอร์รัปชั่นเริ่มมาจากความเป็นคนเอื้อเฟื้อมาจากเรื่องดี สินน้ำใจ มาจากจุดนั้น แต่จากสินน้ำใจ เริ่มเป็นสินบน จนติดเป็นนิสัย ฝังไปนานๆ จึงเกิดคำถามว่าแค่ไหนจะถูกแค่ไหนจะผิด หลายคนทำไปไม่รู้ว่าสิ่งไหนผิด
ยกตัวอย่าง เช่น มีคนลืมเงินในรถเมล์ 1ล้านบาท แล้วก็ให้ขนมไปสองชิ้นกับกระเป๋ารถเมล์ที่เก็บได้
จากเดิมการทำความดีคือความดี รางวัลอีกเรื่อง แต่สังคมไทยกลับเชื่อว่า อย่างน้อยต้องให้ สักหมื่นหนึ่ง กลายเป็นแบบนั้นไป หรือหลายๆ ครั้งที่ไปธนาคารไปทำอะไรก็ตาม จะเจอค่าธรรมเนียม เราก็เลยจ่ายโดยไม่ถามอะไร เป็นประชาชนที่งงๆ
“นี่คือสิ่งที่ทำให้เรายัง ไม่ค่อยรู้สึกว่าการให้สินน้ำใจ เป็นอะไรที่ผิดพลาดมากมาย บริษัทอกชนทุกบริษัท มีพันธบัตรไปก็เอาให้ราชการ เพื่ออำนวยความสะดวก ทำเป็นเรื่องปกติ นี่คือเป็นเรื่องที่ต้องทำให้รุ่นใหม่ ตระหนักว่าไม่ได้เเล้ว การรณรงค์ที่ได้ผลมากที่สุดคือ การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ กลายเป็นว่าพ่อที่เคยสูบก็อายลูก เพียงแต่ว่า คอร์รัปชั่น ไม่เป็นรูปธรรมพอที่จะบอกว่าเป็นสิ่งน่าอาย เพราะซับซ้อนมากกว่า ตราบใดที่เราเป็นแบบนี้ ไล่จับยาก เพราะเป็นกันทุกระดับทั้งราชการ เอกชนบริษัท องค์กรระดับชาติ”
นิติพงษ์ ยังมองว่า การแก้ต้องไปหา รูปธรรม เป็นเรื่องที่เราจะต้องตามไปว่ามันคืออะไร ไม่ค่อยมีความมั่นใจเท่าไรว่า มันจะเวิร์ก ตราบใดที่เรายังเปิดกระจกทิ้งขยะออกนอกหน่าต่างรถ เมื่อก่อนเป็นส่งธรรมดา แต่ปัจจุบันไม่มีคนทำ เพราะละอายใจ ถ้าเราหารูปธรรมให้รู้สึกละลายที่จะทำแบบนั้น คอร์รัปชั่นจะเป็นคดีแบบที่ทุกประเทศที่มีโจร มีขโมยเพียงแต่ว่าวันนี้ คอร์รัปชั่น คนยังมองว่าพอรับได้ ดังนั้นเราจะไปตั้งความหวังจากกระบวนการของคนรุ่นใหม่
ด้าน บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ไม่รู้ว่าจะได้เห็นเมื่อไหร่ แต่ยังไงคอร์รัปชั่นจะใหม่ไปเรื่อยๆดัชนีภาครัฐ เราแย่ลง แต่ถ้าถามรัฐบาล จะบอกว่าได้ผลมาก
บรรยง ชี้ว่า การที่เรารณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นในสามระดับทั้ง ปลูกฝัง ป้องกัน ปราบปราม แต่ก่อนได้พูดเรื่องมาตรการ ป้องกัน เรามาดูเรื่องปลูกฝังก่อน
เราทำงานมุ่งเน้น ปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรม ซึ่งถ้าไปศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้ว วาทกรรมคุณธรรมใช้น้อยมาก เพราะสิ่งที่เขาพูดกันคือทำให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ปกป้องผลประโยชน์ของตน คือใช้ความเห็นแก่ตัวไปสู้
ดังนั้นเวลาไปตัดสินว่า ใครโกงไม่โกง เรามักคิดเรื่องคนดีคนไม่ดี แต่ความจริงไม่มีคนโกงคนไหนคิดว่าเป็นคนเลว มีเหตุผลอธิบายสารพัด
บรรยงกล่าวถึงการรณรงค์ต่างๆ ไม่ใช่ไม่ดี แต่ต้องชี้ให้เห็นว่า ถ้าคุณปล่อยให้มีคอร์รัปชั่นเรื่อยๆ เราจะอยู่ในประเทศที่ไม่เจริญ ใช้คนที่มีส่วนได้เสีย ให้มีพลังมากขึ้น ที่สำคัญกว่าให้คนเหล่านั้นรู้จักผลประโยชน์ของตัวเอง และปกป้อง
“เวลาพูดเรื่องความดี เราคิดว่าปลูกฝังโตไปไม่โกง ซึ่งได้10% แบบนั้นไม่สำเร็จ ต้องปลูกฝัง โตไปไม่ยอมให้ใครโกง แค่มีคนคิดแบบนี้สัก 50% ก็ลดได้เยอะเเล้ว” บรรยง ให้มุมมอง และว่า อย่างเมืองไทย เรื่องของวาทกรรม ทางเดียวที่ต่อสู้ได้ ต้องแยกแยะ เรามักพูดว่าให้เอาประโยชน์ส่วนรวมมาก่อน แต่ลองพิจาณาดู ทำได้จริงไหมประเทศที่ประสบความสำเร็จ เขาหล่อหลอมประโยชน์ทั้งสองเข้าด้วยกัน
เรื่องป้องกัน ในแง่ทฤษฎี คอร์รัปชั่น ที่บอกว่า คอร์รัปชั่น คือ เมื่อผลผระโยชน์มากกว่าโทษที่ได้รับคูณด้วยโอกาสที่ถูกจับได้ คนก็จะโกงมากขึ้น ต่อให้มีคดีมากขึ้น ทุกคนก็รู้ดีว่าคดีนั้นไม่ถึงหนึ่งในล้านของการทุจริตที่มีอยู่
" คอร์รัปชั่นมีลักษณะที่ชัดเจนว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐ ดังนั้นต้องลดรัฐก่อน ทั้งขนาด บทบาทและอำนาจ ตลอดสิบปีที่ผ่านมา เราไปขยายรัฐตลอด
ประเทศเจริญเเล้ว งบประมาณแผ่นดินอยู่ที่ 50% ของจีดีพี(ผลิตภันฑ์มวลรวมของประเทศ) แต่ในรายละเอียดของเขา 70-75% เป็นเรื่องของสวัสดิการ แต่งบประมาณไทย 70% เทให้กับงบดำเนินการ เราขยายหน่วยงานราชการเพิ่มมา 50% มีข้าราชการและพนักงาน 2.2 ล้านคน เงินเดือนที่ให้ราชการ 1.1 ล้าน หรือ 30% ของงบประมารแผ่นดิน นี่ยังไม่นับรวมรัฐวิสาหกิจ ที่ขยายตัว ทำให้รัฐ เพิ่มทั้งขนาด บทบาท เข้าไปทำกิจกรรมที่ไม่ควรทำ สาเหตุหนึ่งรัฐอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ กลายเป็นเกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง รัฐไปทำเรื่องที่ไม่ควรทำ ไปทำค้าขาย เรื่องจำนำข้าวเป็นตัวอย่าง
หรือรัฐบาลปัจจุบัน เวลามีการแถลงผลงานบอกขายสินค้าจีทูจี นั่นไม่ใช่หน้าที่รัฐ เราทำไมต้องไปขายของถูกที่จีน ทั้งๆ ที่เขารวยแซงหน้าไปแล้ว"
เขายังระบุถึงเรื่องการขอใบอนุญาต ที่วันนี้เรามีใบอนุญาตที่เอกชนและประชาชนต้องขอมาก 3 พันฉบับ แต่ที่ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ) แนะนำต้องไม่เกิน 300 ฉบับ เพราะหากมาก ทำให้รัฐมีบทบาทเต็มไปหมด ล็อคโซ่ตรวน ในหลายๆ ส่วน ในอดีตเราเจอปัญหา ตั้งองค์กรเต็มไปหมด ประเทศที่ประสบความสำเร็จ โครงสร้างเชิงสถาบัน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เราจะเห็นว่าภาคประชาสังคมไทย ยังมีความอ่อนแอ ไม่ทรัพยากรไม่เพียงพอ ในสังคมที่พัฒนาเเล้ว สื่อมีเป็นร้อยแห่ง ที่ตรวจสอบรัฐ มีองค์กรทางความคิด เป็นพันแห่ง แต่ที่ไทยมีน้อยมาก เช่น ทีดีอาร์ไอ เป็นต้น
ถามว่าทำไมเรื่องเหล่านี้สำคัญ เพราะมันช่วยลดบทบาทของรัฐ ไม่งั้นทุกคนก็จะไปพึ่งรัฐอย่างเดียว
บรรยง กล่าวอีกว่า ในอีกมิติหนึ่ง กระบวนการที่สังคมใช้คือทุกคนมีส่วนร่วม หรือ TEPP
Tย่อมาจาก Tranperancy คือไม่ใช่แค่เปิดข้อมูล เรามี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ แต่อยากได้ข้อมูลต้องไปขอ ระบบที่ดีไม่ต้องขอเป็นแบบ proactive ในรัฐบาลนี้มีคำสั่งว่า รัฐวิสาหกิจ ต้องเปิดเผย ให้เท่ากับมาตรฐานบริษัทจดทะเบียน แต่ความจริงมาตรฐานรัฐวิสากิจจะต้องเปิดเผยมากกว่า บริษัทเอกชนด้วยซ้ำ
ส่วน E ย่อมาจาก Expertist คือผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรมาจากกภาครัฐเท่านั้น ต้องมีภาคประชาสังคมที่ดีด้วย
P ย่อมาจาก การมีส่วนร่วม paticipation ต้องมีทั้งรัฐ เอกชน ภาควิชาชีพ ผู้เชี่ยวชาญ
และ P ตัวสุดท้าย ย่อมาจาก public คือ สาธารณะ
ทั้งหมดนี้ เราพอจะเห็นประเด็นใหญ่ๆ ชัดๆ ว่า คอร์รัปชั่นในเมื่อเกิดมาจากระบบที่เอื้อให้แสวงหาผลประโยชน์ การแก้จึงต้องเริ่มจากระบบ ในเมื่อการจัดซื้อจัดจ้างมีปัญหาไม่โปร่งใส วิธีการเดียวคือเปิดเผยข้อมูลออกมา การมีกฎหมาย ข้อบังคับ ขั้นตอนที่ยุ่งยากก็กลายเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เราเลือกจ่ายสิ่งที่เรียกว่าค่าน้ำชา เพื่อดำเนินการขั้นตอนวุ่นวายให้น้อยลง
คุณธรรมอย่างเดียวอาจไม่พอเหมือนที่ บรรยงกล่าว สิ่งที่ต้องปลูกฝังคือ วันนี้เราจะโตไปไม่ให้ใครโกง อาจฟังดูเห็นแก่ตัว แต่ถ้าทุกคนรู้ว่าผลประโยชน์อะไรบ้างที่ต้องเสียไปจากการถูกโกง เราจะปกป้องมัน
ก็ได้แต่หวังว่า นี่อาจเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แม้จะยังดูไกลเหลือเกิน แต่ถ้าจะไม่มีหวังเลยก็คงไม่ได้ และหวังสุดท้ายคือหวังว่า เมื่อได้รัฐบาลใหม่มาแล้ว เราไม่ต้องมาพูดกันว่า นี่คือคอร์รัปเก่า แล้วมาแก้กันอีก