กสม. เปิด 'ห้องสมุดเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชนแห่งแรกของประเทศไทย'
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดให้บริการ 'ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน' ห้องสมุดเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชนแห่งแรกของประเทศไทย ศูนย์กลางความรู้และแหล่งข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน ภายใต้แนวคิด “สานสร้าง” หรือ “Sync.Space” (Synchronizing Space) สานความรู้ สานเครือข่าย สร้างคน สร้างสิทธิมนุษยชน
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. มีหน้าที่ “สร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน” ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนนั่นคือการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้โดยง่าย
กสม. จึงได้ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน” เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้และแหล่งข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการให้บริการสารสนเทศด้านสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรสารสนเทศด้านสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน จัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิด ‘สานสร้าง’ หรือ ‘Sync.Space’ (Synchronizing Space) สานความรู้ สานเครือข่าย สร้างคน สร้างสิทธิมนุษยชน พูดง่าย ๆ คือศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชนแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่เราจะร่วมมือกันสร้างสรรค์และแบ่งปันข้อมูลความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนผ่านเครือข่าย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุน เพื่อให้มีความรวดเร็ว มีประสิทธิผล และเข้าถึงได้ง่าย
ข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ในศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชนนี้ กสม. ได้รับความร่วมมือจากองค์กรสารสนเทศด้านสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เครือข่ายความร่วมมือห้องสมุดและศูนย์ข้อมูลสำหรับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ห้องสมุดสถาบันราอูลวอลเลนเบิร์ก ว่าด้วยกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม (RWI) และเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุดกฎหมาย การเมืองและการปกครอง ในการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน จึงทำให้ข้อมูลต่าง ๆ มีความทันสมัย ตรงกับความต้องการใช้งานของผู้ค้นหาที่ครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน จึงเป็นแหล่งรวบรวมความรู้และแหล่งข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะการสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รวมทั้งผลงานสำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วน ทั้งในส่วนของรายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎข้อบังคับต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี รายงานการวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน รายงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เช่น รายงานคู่ขนานตามพันธกรณีระหว่างประเทศ รายงานตามกระบวนการ UPR รายงานกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้เราได้รวบรวมทั้งประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์และมัลติมีเดีย และสื่อสารสนเทศออนไลน์ ให้เรียนรู้มากกว่า 12,000 รายการ ที่จะช่วยให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้โดยง่าย นอกจากนี้ ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชนยังทำหน้าที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ด้วย
“ภายในศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน ได้จัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้เอื้ออำนวยความสะดวกต่อผู้มาใช้บริการในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการสืบค้นข้อมูล อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้สามารถสืบค้นสารสนเทศจากอินเทอร์เน็ต หรือผู้ที่ต้องการคำแนะนำ ก็มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษา ซึ่งรองรับการใช้บริการของผู้พิการด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เพื่อตอบโจทย์ยุคดิจิทัล และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จึงได้เปิดให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีทั้งเว็บไซต์ ไลน์ ยูทูป และเฟซบุ๊ก ในการกระจายองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่มีข้อจำกัดด้านการเข้าถึง และสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง”
ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน เปิดให้บริการตามวันและเวลาราชการ วันจันทร์ - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.30 น. การเดินทางมาด้วยตนเอง ตั้งอยู่ที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ชั้น 7 ถนนแจ้งวัฒนะ และสามารถใช้บริการออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านช่องทาง http://library.nhrc.or.th, www.facebook.com/Nhrclibrary, www.youtube.com/LibraryNhrct และ Line: @NHRCLibrary สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2141-3844, 0-2141-1987, 0-2141-3881
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชนฯ แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางความรู้ และแหล่งข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนเพราะเราเชื่อว่าความรู้เป็นพลังสำคัญที่จะช่วยปกป้องสิทธิมนุษยชน” ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย