ลดปัญหาเด็ก (ช่าง) ตีกัน กิจกรรมช่วยได้
ถอดบทเรียนเหตุทะเลาะวิวาท ‘เด็ก’ (ช่าง) ตีกัน กับแนวคิด ใช้กิจกรรมนำทาง ลดความรุนแรง เชื่อความสัมพันธ์-ปลูกฝังความคิดที่ดี ช่วยแก้ปัญหาได้ วอนสื่อนำเสนอข่าวดี ‘อาชีวะ’ ไม่ผลิตซ้ำกระตุ้นอารมณ์ฮึกเหิม
ข่าวเด็กตีกันปรากฎบนหน้าสื่อบ่อยครั้ง โดยเฉพาะ “เด็กอาชีวะ” หรือ “เด็กช่าง” ทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ พยายามหาวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อหวังลดการก่อเหตุทะเลาะวิวาท ซึ่งการจัดให้มีกิจกรรมอาสา เพื่อสร้างความสัมพันธ์และปลูกฝังที่ดีระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง ถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแบบอย่าง
โดยมีการนำเสนอในเวที ถอดบทเรียน ความรุนแรง “เด็กช่าง” สร้างโอกาสก่อนวิกฤต ซึ่งมีเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ร่วมกันจัดขึ้น ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ
ภายในงานเริ่มต้นด้วย ‘นายเอ’ (นามสมมติ) เยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวคำว่า “ขอโทษ” ก่อนจะเชิญให้ผู้เข้าร่วมลุกขึ้นยืนไว้อาลัยแก่เหยื่อจากเหตุการณ์ทะเลาะวิวาท ซึ่งมีตัวเองร่วมก่อเหตุด้วย เขายอมรับว่า นั่นคือความผิดพลาดในชีวิตที่เคยทำมาในสมัยเป็นนักเรียนอาชีวะ
“ปี 2557 เป็นห้วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงชีวิตมากที่สุด จำได้ว่า ปาระเบิดส้มโอใส่คู่อริ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก” เขาบอกเล่าให้ฟัง ก่อนจะยืนยันว่า ตัวเองอยู่ในกลุ่มที่ก่อเหตุเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้ปาระเบิดส้มโอ
นายเอ กล่าวภาพนั้นเป็นฝันร้ายที่จำได้แม่นยำ เขาเล่าว่า เมื่อปาระเบิดส้มโอไปแล้ว จำเสียงร้องนั้นได้ เสียงร้องที่เจ็บปวดของผู้เสียชีวิต ตอนนั้นยอมรับไม่มีความรู้สึกเห็นใจ หรือรู้สึกใด ๆ เพราะทุกครั้งที่ตีกัน ไม่มีตำรวจมายุ่ง ที่สำคัญ ตีกันบ่อย และไม่เคยรุนแรงถึงขั้นในครั้งนี้
กระทั่งวันนั้นเมื่อสื่อพากันนำเสนอข่าว รุ่นพี่ถูกจับทั้งหมด และเวลานั้น เขาบอกว่า ต่างคนต่างพากันเอาตัวรอด คนที่โดนจับไปก่อนต่างซักทอด
“ตอนนั้นผมไม่มีใครเลย นอกจากแม่ แต่แปลกมากคือเมื่อโดนจับมาแล้ว และเข้ามาอยู่ในสถานแรกรับ ซึ่งมีรวมกันอยู่หลายสถาบัน แต่ก็ไม่ได้ตีกันเหมือนอยู่ข้างนอก ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก” นายเอ กล่าว
ผู้เข้าร่วมต่างพากันยืนไว้อาลัยให้เเก่เหยื่อความรุนเเรงจากการตีกันของเด็กช่าง
กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์และปลูกฝังที่ดีจะช่วยแก้ปัญหา ‘ปัณณวิชญ์ คงศิลปะ’ ประธานสภาศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เชื่อเช่นนั้น
เขาบอกว่า ย้อนกลับไป 30 ปีก่อน สมัยที่เป็นนักศึกษา ‘ค่ายอาสา’ ของอุเทนถวาย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นำวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาช่วยเหลือสังคม โดยร่วมมือกันระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง ในลักษณะ ‘พี่สอนน้อง’ ช่วยสานสัมพันธ์ได้
เมื่อถามว่าอะไรที่เป็นส่วนทำให้ปัญหาเด็กช่างตีกันไม่หมดไป ‘ปัณณวิชญ์’ ให้คำตอบว่า อาจจะขึ้นอยู่กับสังคม เริ่มจากที่บ้าน เป็นต้นทุนระดับหนึ่ง พอเข้ามาอยู่อาชีวะก็ถูกปลูกฝังโดยรุ่นพี่ ซึ่งถ้าไปเจอรุ่นพี่ไม่ดี ก็จะไปคนละทิศทาง แต่ถ้ารุ่นนี่ดีก็จะไปอีกทาง
อีกส่วนหนึ่ง คือ สื่อมวลชน มีบทบาทสำคัญ เพราะเมื่อปรากฎข่าวเด็กช่างตีกันบนหน้าสื่อ จะเกิดความคิด “ต้องเอาคืน”
“เมื่อมีข่าวออกมาเรื่องเด็กช่างตีกัน ทำให้ยิ่งกระพือ จนกลายเป็นทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เด็กกลุ่มนั้นฮึกเหิม จากที่เศร้าๆ ไม่อยากทำอะไร เปลี่ยนเป็นอยากแก้แค้น แค้นกันไปกันมา และยิ่งแก้ปัญหาแบบให้เด็กสามคนมานั่งคุยกัน มีผู้ใหญ่เป็นสักขีพยาน ถ่ายรูปจับมือกัน สิ่งที่เกิดขึ้น เรียกว่า จอมปลอม”
เขาจึงมองต่างว่า การจะทำให้เด็กช่างตีกันกลับมาคืนดีเป็นมิตรกันได้ ต้องใช้ ‘กิจกรรม’ เป็นตัวขับเคลื่อนความสัมพันธ์ เพราะเมื่อพวกเขาเป็นเพื่อนกัน ถามว่า จะตีกันให้เจ็บตัวไปทำไม ที่เห็นทุกวันนี้ว่าตีกัน เพราะไม่รู้จักกัน
ทั้งยังขอร้องไปยังสื่อมวลชนทุกแขนงว่า สื่ออาจต้องตระหนักก่อนจะเผยแพร่ข่าวสารออกไปสู่สาธารณะ สิ่งใดเปิดเผยได้ สิ่งใดเปิดเผยไม่ได้ เพื่อบางครั้งไม่ให้เกิดตัวอย่าง อย่าลืมว่า เด็กเหล่านั้นไม่กลัว แต่กลับยิ่งกระตุ้นให้เกิดความฮึกเหิม เพราะฉะนั้นไม่อยากให้เผยแพร่ภาพความรุนแรงออกมา หวั่นจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
ทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกเเละอบรมเด็กเเละเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก
สอดคล้องกับแนวคิดของ ‘ทิชา ณ นคร’ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก เห็นว่า สื่อมีส่วนทำให้ปัญหานี้ยังมีต่อไป ซึ่งทำให้เด็กที่อ่อนแอออกมา กลายเป็นโศกนาฏกรรมของสังคม โดยย้ำว่าการขึ้น ‘หน้าหนึ่ง’ ของเด็ก เป็นเสมือนใบการันตี นำไปสู่อาชญากร
จึงเป็นเหตุผลให้หลายประเทศไม่นำเสนอข่าวความรุนแรงเด็กตีกันขึ้นหน้าหนึ่ง ตราบใดที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จะต้องไม่มีการผลิตซ้ำ แต่เปลี่ยนประเด็นข่าวมานำเสนอข่าวที่ดีของเด็กอาชีวะ ส่วนข่าวเด็กตีกันให้ลงเป็นกรอบเล็ก ๆ เพียงพอแล้ว
...ความอยากโต อยากโชว์ อยากช่วย อยากมีพื้นที่ให้การยอมรับ ล้วนเป็นความรู้สึกที่มีในวัยรุ่น หากทุกฝ่ายร่วมกันตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ เชื่อมั่นเหลือเกินว่า ปัญหาเด็ก (ช่าง) ตีกัน จะลดลง จนค่านิยมตีกันแล้วเท่หมดไปถาวร.
ภาพประกอบ:เว็บไซต์หนังสั้นออนไลน์