ขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคงเผย 7 ตระกูลครองที่ดิน 30 % ของประเทศ จี้รัฐเร่งปฏิรูปที่ดิน
พอช.เปิดเวทีรับวันที่อยู่อาศัยโลกที่มุกดาหาร เผยเมืองไทยมี 7 ตระกูลครอบครองที่ดิน 30 % คน 10 % ครอบครอง 90 % อีก 90% ครอบครองที่ดินไม่ถึง 10 % แนะทางรอดการจัดการที่ดินต้องเปลี่ยนทัศนะจากคิดเชิงมูลค่าเป็นคุณค่า
วานนี้(7 ต.ค. 53) ที่โรงเรียนบ้านโนนยาง ต.โนนยาง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ขบวนองค์กรชุมชนในโครงการบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)จัดงานรณรงค์เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้การจัดการที่ดินแนวใหม่"ปฏิรูปที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยโดยชุมชนและท้องถิ่น" เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก 2553 (Word habitat day 2010) โดยมีชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยทั่วประเทศเข้าร่วม และมีการเสวนา"ชุมชนท้องถิ่นคือพลังการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน" เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยจากเครือข่ายต่างๆพร้อมทั้งเสนอทางออกของการจัดการที่ดินให้เกิดความเป็นธรรมและยั่งยืน
นายสุรพร ชัยชาญ ประธานคณะอนุกรรมการสวัสดิการชาติ เปิดเผยว่า เรื่องที่ดินเป็นปัญหาใหญ่มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยขณะนี้ประเทศไทยมีที่ดินอยู่ 230 ล้านไร่ ขณะที่ประชากรมีอยู่ 60 กว่าล้านคน ซึ่งแน่นอนว่าอีก 20 - 30 ปีข้างหน้า ประชากรเราจะเพิ่มขึ้นอาจจะเป็น 70 ล้านคน แต่ที่ดินยังคงเท่าเดิมไม่งอกเพิ่มขึ้นมา ดังนั้นถ้าเราไม่คิดเรื่องการจัดการที่ดินในขณะนี้อนาคตจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย เพราะขณะนี้คนเพียง 10 % ของประเทศครอบครองที่ดิน 90 % แต่คนอีก 90% ครอบครองที่ดินไม่ถึง 10 % และปัญหาหลักของประเทศไทยมี 3 อย่างคือปัญหาดินกระจุกตัวอยู่กับคนส่วนน้อย ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะเจอปัญหารัฐประกาศพื้นที่อนุรักษ์ทับที่ นี่เป็นปัญหาของการจัดการที่ดินที่ไม่ธรรมในขณะนี้
“วันนี้ต้องมาสำรวจดูว่าในชุมชนมีที่ดินเท่าไหร่ ครอบครองไปแล้วเท่าไหร่ มีที่ทำเลเลี้ยงสัตว์กี่ไร่ ป่าช้ากี่ไร่ คนในชุมชนที่ไม่มีที่ดินทำกินจะช่วยเหลืออย่างไร ชุมชนจัดการให้เขาได้ไหม คนมีร้อยไร่ ทำไม่หมดแบ่งให้คนอื่นทำด้วยได้ไหม ที่สาธารณะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มีเท่าไหร่จัดเป็นโฉนดชุมชนได้ไหม เราต้องหันหน้ามาคุยกันไม่อย่างนั้นที่ดินจะไปอยู่ที่ธนาคารหมด" นายสุรพร กล่าว
นายสมภพ พร้อมพอชื่นบุญ ที่ปรึกษาโครงการบ้านมั่นคง พอช. กล่าวว่า ปัจจุบันเมืองไทยมีอยู่ 7 ตระกูลที่ครอบครองที่ดินเกิน 30 % ของประเทศ ดังนั้นเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องไม่มีที่ดิน แต่มีปัญหาเรื่องการจัดการที่ไม่เป็นระบบ ทำให้เกิดปัญหา 2 อย่างคือ ประชาชนพิพาทกับรัฐบาล และ ประชาชนพิพาทกันเอง แต่ในชนบทปัญหาเรื่องที่ดินคือการพิพาทกับภาครัฐแบ่งเป็น 2 ปัญหาคือ รัฐรุกพื้นที่เราที่เคยทำกินมาหลายสิบปี แต่มาประกาศอุทยานทับที่ดินชาวบ้าน และอีกปัญหาคือรัฐเขาประกาศพื้นที่อุทยานแล้วเราไปรุกเขา ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการจัดการที่ดินที่ไม่เป็นธรรมนั่นเอง
นายสมภพ เสนอทางออกของการจัดการปัญหาที่ดินทำกินว่า ต้องเปลี่ยนแนวคิดการจัดการที่ดินจากการคิดเป็นมูลค่าเป็นตัวเงินที่คิดว่ามีกี่ไร่ๆละเท่าไหร่ ถ้าวันไหนเดือดร้อนขาย ต้องคิดใหม่เป็นเชิงคุณค่าว่าที่ดินจะรักษาชีวิตของคนในครอบครัวคนในชุมชนอย่างไรให้อยู่รอด สมมุติถ้าขายไปได้เงินมา 1 ล้านบาทใช้ไม่นานก็หมด หมดแล้วจะไปซื้อคืนก็ไม่ได้แล้ว จากนั้นก็จะขาดแคลนที่ดินสุดท้ายก็จะเข้าไปในเมืองสร้างปัญหาตรงนั้นอีก แต่ถ้าคิดเป็นคุณค่าต้องบอกว่าต้นไม้ต้นนั้นต้นนี้เป็นของเรา ทำนาเลี้ยงครอบครัวไม่ได้ทำนาขายข้าวแล้วต้องมาซื้อข้าวกิน เราต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ไม่อย่างนั้นที่ดินจะหลุดมือคนจนไปอยู่กับคนรวยมากขึ้นทุก.
ที่มา : http://prachatham.com/detail.htm?code=n6_08102010_01