เครือข่ายเยาวชนจี้ 'มหาดไทย' คลอดกฎคุมกิจกรรมเสี่ยงโชคมอมเมา ปชช.
นักวิชาการ “ชี้” กฎหมายเสี่ยงโชคไทยไม่เท่าทัน ทำสังคมเผชิญความเสี่ยงปัญหาพนัน ด้านหมอเด็กระบุ กระตุ้น ลุ้น ถี่ กระทบหนักต่อสมอง ขณะที่เครือข่ายเยาวชน “วอน” มหาดไทย “เร่ง” ปรับกฎคุมเข้ม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนาสาธารณะการลดผลกระทบจากการพนัน เรื่อง “แนวทางการกำกับดูแลกิจกรรมการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค และผลกระทบของร่างกฎหมายเสี่ยงโชค” ณ ห้องบุษบา โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดมาตรการควบคุมการเสี่ยงโชค
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อ กล่าวถึงนิยามการเสี่ยงโชคว่า นานาประเทศนิยามชัดเจนว่าการเสี่ยงโชคเป็นการพนัน กรณีการจัดกิจกรรมการเสี่ยงโชคจากสินค้าประเภทเครื่องดื่มชาเขียว โดยใช้ข้อความในการโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง ผู้นำเสนอหรือพรีเซ็นเตอร์เป็นคนดัง มูลค่าของรางวัลสูงมาก และมีความถี่สูงในการจัดกิจกรรมเหล่านี้ อีกทั้งค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศ เช่น ในประเทศอเมริกา กฎหมาย BCAP/CAP -ของสมาคมโฆษณาแห่งอเมริกา กำหนดชัดเจนในการใช้เนื้อหาหรือข้อความในการโฆษณาต้องไม่อวดอ้างเกินจริง “ยิ่งส่งมาก ยิ่งมีสิทธิ์มาก” ไม่สามารถใช้ได้
ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น กำหนดมูลค่าของรางวัลสูงสุดต่อชิ้นไม่เกิน 20เท่าของมูลค่าสินค้า อีกทั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบคือกรมการค้าพาณิชย์ เพราะเพ่งกิจกรรมเสี่ยงโชคเป็นช่องทางการกำกับธุรกิจที่เป็นธรรม
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีร่างพระราชบัญญัติการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคยังขาดการควบคุมที่ชัดเจนและครอบคลุม ดังนั้น ควรมีกำหนดนิยามการเสี่ยงโชคให้ชัดเจน สินค้าบางประเภทไม่ควรให้มีการจัดกิจกรรมเสี่ยงโชค กำหนดความถี่ในการจัดกิจกรรมและการส่งข้อความร่วมกิจกรรม เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถทำการระงับ ยับยั้ง ยกเลิก หรือแทรกแซงกิจกรรมได้ นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยควรทบทวนร่างพระราชบัญญัติพนันและร่างพระราชบัญญัติการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค โดยเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศ และศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบทางนโยบายของกฎหมายต่อสาธารณะและการทำประชาพิจารณ์ ตามรัฐธรรมนูญไทย 2560 มาตรา 77
ด้าน รศ.พญ.พรจิรา ปริวัชรากุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ในทางการแพทย์การพนันและการเสี่ยงโชคมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองเหมือนกัน โดยเฉพาะสมองที่เกี่ยวข้องกับความสุขและรางวัล ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า เมื่อมีสิ่งกระตุ้นเกี่ยวกับการพนัน สารเสพติด และความเศร้า คนที่ติดพนันจะเกิดความอยากเล่นพนันมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า ดังนั้น คนติดพนันจึงรักษายากกว่าคนติดยาเสพติด และโรคติดพนันไม่มียารักษา ยิ่งไปกว่านั้น การจัดกิจกรรมเสี่ยงโชคเป็นการกระตุ้นสมองให้ลุ้นและตื่นเต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการสมองและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน เพราะสมองของเด็กกลุ่มเหล่านี้กำลังเจริญเติบโต ทำให้สมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ การควบคุมตัวเอง และการตัดสินใจ การยับยั้งชั่งใจชะลอการเติบโตได้อย่างเหมาะสม อีกทั้ง กิจกรรมดังกล่าวมีผลต่อการทำลายโครงสร้างทางสมองอย่างถาวร และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจิตเวชในอนาคต การป้องกันเยาวชนให้ห่างไกลจากกิจกรรมเหล่านี้จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดพนันที่ได้ผลโดยตรง
ขณะที่ ผศ. ดร.ศรัณยพงศ์ เที่ยงธรรม อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เสริมว่า กิจกรรมเสี่ยงโชคทางการตลาดหรือลอตโต้มาร์เก็ตติ้งเป็นกิจกรรมที่พึงระวังในการดำเนินการ นอกจากนี้ การส่งเสริมการขายด้วยการลด แลก แจก แถม ชิงโชค เป็นผลพลอยได้จากการซื้อผลิตภัณฑ์ช่วยเพิ่มความคุ้ม ข้อมูลวิชาการยืนยันว่า ผู้บริโภคที่มีทัศนคติที่ดีต่อกิจกรรมเสี่ยงโชคทางการตลาด เช่น เป็นคืนกำไร ปลดหนี้ ให้แก่ผู้บริโภค มีแนวโน้มจะเข้าร่วมกิจกรรมและมีความรู้สึกชื่นชอบการเสี่ยงโชคและการพนัน เพราะรู้สึกสนุกสนานและตั้งใจเข้าร่วมกิจกรรมเสี่ยงโชคและการพนันในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรป้องกันกลุ่มเปราะบางในสังคม เช่น เด็กและเยาวชนจากกิจกรรมการเสี่ยงโชค การสื่อสารให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจว่ากิจกรรมเสี่ยงโชคมีโอกาสสร้างผลกระทบได้แบบเดียวกับการเสพติดการพนัน และควรกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ละเมิดหรือกระทำผิดในอัตราที่สูง ในส่วนของผู้ประกอบการควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และระงับการจัดกิจกรรมเสี่ยงโชค เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มอิ่มตัวกับกิจกรรมเหล่านี้และเกิดความไม่เชื่อมั่นผู้ประกอบการว่ามีความจริงใจกับผู้บริโภคหรือไม่
นายไพศาล ลิ้มสถิต ศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวย้ำว่า การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายด้วยการเสี่ยงโชค ถือเป็นการพนันประเภทหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 สอดคล้องกับกฎหมายต่างประเทศที่ควบคุมหรือกำกับดูแลกิจกรรมการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค โดยถือว่าการเสี่ยงโชคถือเป็นการพนันประเภทหนึ่ง เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบของร่าง พ.ร.บ.การให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค พ.ศ. .... ฉบับผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 168/2559 พบว่า หลักการของร่างพระราชบัญญัติที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ไม่สอดคล้องกับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. เนื่องจากการแถมพกหรือการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพไม่ใช่การเสี่ยงโชคในลักษณะที่เป็นการพนัน แต่เป็นกิจกรรมทางการตลาด นอกจากนี้ บทนิยามคำว่า “เสี่ยงโชค”/ “รางวัล” ขาดความชัดเจน ไม่สอดคล้องกับหลักสากล การขาดกลไกของหน่วยงานผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย เช่น ไม่มีคณะกรรมการตามกฎหมาย หน่วยงานผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย คือ กระทรวงมหาดไทย เพียงหน่วยงานเดียว ทำหน้าที่ออกใบอนุญาต แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแลธุรกิจด้านส่งเสริมการขาย และการคุ้มครองผู้บริโภค และไม่มีการคานอำนาจหรือตรวจสอบการปฏิบัติงาน หากกระทรวงมหาดไทยไม่ปรับปรุงและแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเกิดผลเสียที่จะส่งผลทำให้ประชาชนหลงมัวเมาในการพนันและการเสี่ยงโชคเพิ่มขึ้น เพราะเป็นกฎหมายที่ทำให้คนในสังคมเกิดความเข้าใจผิดว่า การเสี่ยงโชคไม่ใช่การพนัน เป็นเรื่องปกติธรรมดา กระตุ้นให้เกิดความโลภ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบธุรกิจด้วยการเสี่ยงโชคเฟื่องฟู ไม่มีมาตรการควบคุมการโฆษณาการทำตลาด อาจเป็นช่องทางให้มีการหลอกลวงประชาชน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากการบริโภคเครื่องดื่มสำเร็จรูปที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บและเป็นปัญหาสุขภาพของประชากรทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ดังนั้น เนื้อหาของร่างพ.ร.บ.นี้ จึงเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นอย่างมาก แต่ภาครัฐและประชาชนแทบจะไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เลย
นายรวิศุทธ์ คณิตกุลเศรษฐ์ รองประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงข้อเสนอว่า เด็กและเยาวชนเหมือนเป็นเหยื่อการทำการตลาดของสินค้าที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะเด็กและเยาวชนยังขาดความรู้เท่าทันการทำการตลาดในลักษณะนี้ และไม่คิดว่าการเสี่ยงโชคคือการพนัน รวมทั้งขาดความรู้และความเข้าใจถึงผลกระทบของการเสี่ยงโชคที่มีต่อตนเอง การมีกฎหมายควบคุมการเสี่ยงโชคจึงถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ดังนั้น ในระยะสั้นกระทรวงมหาดไทยควรมีการออกระเบียบควบคุมกิจกรรมการเสี่ยงโชค เช่น การจำกัดความถี่ในการจัดกิจกรรมและการให้รางวัล เพื่อควบคุมกิจกรรมการเสี่ยงโชคที่กระตุ้นให้คนในสังคมไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนลุ่มหลงมอมเมา และในระยะยาวควรเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ.นี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง .