สวรส. โชว์ 4 ผลงานด้านสุขภาพ ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560
มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 หรือ Thailand Research Expo 2017 ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ที่จัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ร่วมกับผู้บริหารเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.)
โดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มี นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการ สวรส. ร่วมเปิดการประชุมในครั้งนี้ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ นับเป็นงานใหญ่ประจำปีของเครือข่ายหน่วยงานวิจัยและผู้คนในแวดวงงานวิจัย โดยมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติปี 2560 นับเป็นครั้งที่ 12 มีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัย” นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างสรรค์ และสร้างแรงขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาให้เกิดการนำองค์ความรู้ ผลผลิต เทคโนโลยี และนวัตกรรม จากการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการวิจัยของไทยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ระดับประเทศและนานาชาติ ทั้งนี้มีสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน ร่วมกับเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน พาณิชย์ และอุตสาหกรรม ซึ่งแต่ละผลงานล้วนเป็นผลจากการลงทุนทางด้านการวิจัยของประเทศทั้งสิ้น
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ศาสตร์พระราชา : วิจัยและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ภายในงานว่า งานวิจัยเป็นกลไกส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาของประเทศมีอยู่จำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในกระบวนการคลี่คลายปัญหาคือ กระบวนการวิจัย การวิจัยนำไปสู่การกำหนดนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ความรู้จากงานวิจัยทำให้เกิดปัญญาและความคิดที่เป็นระบบ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างผลผลิตที่เป็นประโยชน์ได้ ทั้งนี้แบบอย่างแห่งการวิจัยที่สำคัญคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบิดาแห่งการวิจัย โดยพระราชวังสวนจิตรลดา ถือเป็นตัวอย่างศูนย์วิจัยที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ภายในงานยังมีการแสดงผลงานวิจัยสำคัญๆ ของประเทศ โดย สวรส. ได้คัดผลงานวิจัยมุ่งเป้าด้านสุขภาพของประเทศ จำนวน 4 ผลงานมานำเสนอภายในโซนนิทรรศการของ คอบช. โดยมีทีมนักวิจัยมาร่วมให้ข้อมูล ซึ่งทั้ง 4 ผลงานวิจัย ได้แก่
1) การศึกษาการใช้ขนาดของเกร็ดเลือดในการพยากรณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นการศึกษาถึงอิทธิพลของเกร็ดเลือดต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในประชากรไทย โดยใช้ขนาดของเกร็ดเลือด (mean platelet volume, MPV) ในการพยากรณ์การเกิดโรคฯ ทั้งนี้การตรวจขนาดของเกร็ดเลือดสามารถทำได้ในโรงพยาบาลและสถานบริการทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นการตรวจที่ราคาถูก ทราบผลรวดเร็ว และไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการแปลผล โดยขนาดของเกร็ดเลือดจะได้จากการส่งตรวจ complete blood count (CBC) ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ขนาดเกร็ดเลือดใช้ในการพยากรณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดีในกลุ่มผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับทำการขยายหลอดเลือดหัวใจ
2) การทำนายการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ อายุมากกว่า 35 ปี เป็นการศึกษาวิจัยที่ช่วยวางแผนการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะครรภ์เป็นพิษตั้งแต่ระยะแรกของโรค ซึ่งช่วยลดโอกาสการเกิดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ โดยการตรวจด้วยวิธีการใช้ Doppler ultrasound และสารบ่งชี้ ซึ่งสามารถทำนายภาวะครรภ์เป็นพิษได้ก่อนจะเกิดการแสดงอาการของโรค
3) การพัฒนาเครื่องต้นแบบและซอฟแวร์เพื่อช่วยในการสื่อสาร ทางเลือกสำหรับผู้บกพร่องทางการพูดแบบไม่เป็นความ (dysarthria) เป็นการพัฒนาเครื่องต้นแบบและซอฟแวร์ที่สามารถตรวจจับสถานะรูปแบบของดวงตาหรือปากของผู้บกพร่องทางการพูด เพื่อนำไปใช้ในการควบคุมโปรแกรมสำหรับเลือกข้อความจากหน้าจอเพื่อสื่อสารหรือขอความช่วยเหลือกับผู้ดูแล โดยได้มีการทดสอบการใช้งานจริงกับอาสาสมัครปกติ อาสาสมัครผู้สูงอายุ ผู้บกพร่องทางการพูดไม่เป็นความและผู้ดูแลแล้ว พบว่า อาสาสมัครทุกกลุ่มสามารถใช้งานได้และมีความพึงพอใจในประสิทธิภาพการใช้งานค่อนข้างสูง โดยผู้บกพร่องทางการพูดสามารถสื่อสารออกมาชัดเจนและตรงกับความต้องการมากขึ้น
4) การพัฒนาเก้าอี้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ขึ้นลงพื้นต่างระดับอัตโนมัติสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นการพัฒนาเก้าอี้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ที่มีความสามารถในการเคลื่อนที่ผ่านพื้นต่างระดับได้แบบอัตโนมัติ สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการเดิน เช่น คนพิการหรือผู้สูงอายุ โดยผู้ใช้งานเพียงป้อนพิกัดของตำแหน่งที่จะเคลื่อนที่ไปเท่านั้น เก้าอี้หุ่นยนต์เคลื่อนที่จะทำการวางแผนการเคลื่อนที่ แล้วเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางที่วางแผนไว้ สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ด้วยตัวเอง และหากระหว่างทางต้องผ่านพื้นต่างระดับหรือบันได เก้าอี้หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ผ่านพื้นต่างระดับได้เองโดยอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม สวรส.ยังมีผลงานวิจัยอีกจำนวนมากทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยท่านที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดข้อมูลงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ คลังข้อมูลและความรู้ระบบสุขภาพของ สวรส.และองค์กรเครือข่าย http://kb.hsri.or.th หรือติดตามข้อมูลความรู้ระบบวิจัยสุขภาพได้ที่ เว็บไซต์ สวรส. www.hsri.or.th โดย สวรส.มีความมุ่งมั่นและเร่งผลักดันให้งานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ที่เกิดผลต่อการพัฒนาระบบสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง