ยูนิเซฟชี้กว่า 180 ล้านคนในประเทศที่เสียหายจากความไม่สงบ ไร้น้ำดื่มสะอาดบริโภค
เด็กที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง มีโอกาสเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดน้อยกว่าคนทั่วไปถึงสี่เท่า
นิวยอร์ก/สต็อกโฮล์ม วันที่ 29 ส.ค. 2560 ประชากรกว่า 180 ล้านคนทั่วโลกในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ความรุนแรง และความไม่มั่นคง ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด – องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ได้ออกมาเตือนวันนี้ในช่วงสัปดาห์น้ำโลก (World Water Week)
“การเข้าถึงน้ำดื่มน้ำใช้ที่ปลอดภัยและการสุขาภิบาลที่ดีของเด็ก โดยเฉพาะท่ามกลางความขัดแย้งและเหตุการณ์ฉุกเฉิน เป็นเรื่องของสิทธิ ไม่ใช่อภิสิทธิ์” นายสัญชัย วิเจษกิรา ผู้บริหารโครงการน้ำ สุขาภิบาลและสุขอนามัยของยูนิเซฟ กล่าว “สำหรับประเทศที่ถูกรุมเร้าไปด้วยปัญหาความรุนแรง การถูกขับไล่ออกจากถิ่นฐาน ความขัดแย้งและความไม่มั่นคง น้ำมีความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดต่อการอยู่รอดของพวกเด็ก ๆ”
ผลวิเคราะห์เมื่อเร็ว ๆ นี้ของยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลกชี้ว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เปราะบางมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนน้ำดื่มสะอาดมากกว่าคนทั่วไปถึงสี่เท่า โดยคาดการณ์ว่าในจำนวนประชากร 484 ล้านคนที่ตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์เปราะบางในปี 2558 นั้น 183 ล้านคนไม่ได้รับบริการด้านน้ำดื่มสะอาด
ประเทศเยเมนได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่ดำเนินมากว่าสองปี เครือข่ายน้ำประปาที่แจกจ่ายน้ำให้กับเมืองใหญ่ ๆ ภายในประเทศมีความเสี่ยงต่อการพังทลายอันเนื่องจากความเสียหายอย่างหนักจากภัยสงครามและขาดการซ่อมบำรุงรักษา โดยชาวเยเมนราว 15 ล้านคนได้ถูกตัดขาดจากการเข้าถึงน้ำและการสุขาภิบาลที่เคยได้รับ
สำหรับประเทศซีเรียที่ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเป็นปีที่เจ็ดแล้วนั้น ประชาชนราว 15 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่ามีเด็กราว 6.4 ล้านคน ต้องการน้ำสะอาด บ่อยครั้งที่น้ำถูกใช้เป็นเสมือนอาวุธในการทำสงคราม แค่เฉพาะในปี 2559 มีการจงใจตัดการเข้าถึงน้ำอย่างน้อย 30 ครั้งรวมทั้งในเมืองอเลปโป ดามัสกัส ฮามา รักกา และดารา ด้วยการทำลายปั๊มน้ำและทำให้แหล่งน้ำเกิดการปนเปื้อน
ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไนจีเรีย ร้อยละ 75 ของโครงสร้างพื้นฐานของระบบน้ำและสุขาภิบาลได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย ส่งผลให้ประชาชน 3.6 ล้านคนไม่มีแม้กระทั่งน้ำดื่มสะอาด
ส่วนประเทศเซาท์ซูดานที่มีการต่อสู้ลุกลามต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสามปี เกือบครึ่งหนึ่งของจุดที่ให้บริการน้ำทั่วประเทศเสียหายหรือไม่ก็ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง
นายวิเจษกิรากล่าวอีกด้วยว่า “ระบบน้ำและการสุขาภิบาลนับไม่ถ้วนที่ถูกโจมตี ได้รับความเสียหาย หรือไม่ก็ถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมจนใช้การไม่ได้ เมื่อเด็กไม่มีน้ำดื่มที่ปลอดภัยและระบบบริการด้านสุขภาพล้มเหลว ภาวะขาดสารอาหารและโรคร้ายแรงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตอย่างเช่นอหิวาตกโรคก็ย่อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ตัวอย่างเช่นในประเทศเยเมน มีรายงานว่าในขณะนี้ ในจำนวนของผู้ที่สงสัยว่าป่วยเป็นโรคอหิวาต์และโรคท้องร่วงแบบถ่ายเป็นน้ำเฉียบพลันซึ่งมีจำนวนกว่าครึ่งล้านนั้น เป็นเด็กถึงร้อยละ 53 และโซมาเลียเป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับการระบาดของอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงห้าปีที่ผ่านมาโดยมีจำนวนผู้ที่สงสัยว่าป่วยเป็นโรคอหิวาต์/โรคท้องร่วงแบบถ่ายเป็นน้ำเฉียบพลันกว่า 77,000 คน ส่วนในเซาท์ซูดานซึ่งมีการระบาดของโรคอหิวาต์รุนแรงที่สุดเท่าที่ประเทศเคยประสบมา ก็มีผู้ป่วยมากกว่า 19,000 คนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2559 เป็นต้นมา
ในพื้นที่หรือประเทศที่ถูกความอดอยากคุกคาม เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย โซมาเลีย เซาท์ซูดาน และเยเมน ประชาชนเกือบ 30 ล้านคน รวมทั้งเด็ก 14.6 ล้านคนกำลังต้องการน้ำสะอาดอย่างเร่งด่วน เด็กมากกว่า 5 ล้านคนขาดสารอาหารซึ่งจำนวน 1.4 ล้านคนอยู่ในภาวะขาดสารอาหารรุนแรง