CAC เผยเอกชนอีก 34 รายรวม 264 บ.ผ่านการรับรองระบบป้องกันทุจริต
เลขาธิการ CAC เผยมีบริษัทผ่านการรับรองระบบป้องกันทุจริตเพิ่มอีก 34 บริษัท เป็น 264 บริษัท
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2560 ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ CAC ได้มีมติให้การรับรองบริษัทที่ผ่านกระบวนการประเมินตนเองว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นอีก 34 บริษัท รวมเป็น 264 บริษัท โดยในปัจจุบัน มีจำนวนบริษัทเอกชนที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่รับ ไม่จ่ายสินบนในการทำธุรกิจตามโครงการ CAC รวมทั้งสิ้น 846 บริษัท
“บริษัทที่ผ่านการรับรองในรอบนี้มีความหลากหลาย มีทั้งธุรกิจในภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ มีทั้งบริษัทจดทะเบียนและบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงบริษัทในเครือของธุรกิจข้ามชาติด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธุรกิจต่างๆ ในภาคเอกชน ต่างก็ตื่นตัวและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางระบบป้องกันการทุจริต และต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบการทำธุรกิจในประเทศไทยให้โปร่งใส ปราศจากการคอร์รัปชัน” ดร. บัณฑิต กล่าว
CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัท ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ดังนั้น การรับรองโดยโครงการ CAC เป็นการรับรองว่าบริษัทมีนโยบาย และระบบป้องกันคอร์รัปชันและการให้สินบน แต่ไม่ได้เป็นการรับรองพฤติกรรมของตัวบุคคลในบริษัท
รายชื่อ 34 บริษัทที่ผ่านการรับรองในไตรมาสที่ 2/60
1. บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท โอเชียนกลาส จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท อีซี่บาย จำกัด (มหาชน)
4. บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน)
9. บริษัท เอเชีย เสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
10. พี.ซี.เอส. แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
11. บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน)
12. ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
13. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
14. บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)
15. บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)
16. บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน)
17. บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
18. บริษัท ค้าเหล็กไทย จำกัด (มหาชน)
19. บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)
20. บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด
21. บริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน)
22. ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)
23. บริษัท ไทยฮา จำกัด (มหาชน)
24. บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
25. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
26. บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด
27. บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)
28. บริษัท ทีเอ็ม โบรคเกอร์ จำกัด
29. บริษัท เอ็มที เซอร์วิส 2016 จำกัด
30. บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)
31. บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)
32. บริษัท จอห์นสัน คอนโทรลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
33. บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน)
34. บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ CAC และรายชื่อบริษัทที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ และผ่านการรับรองได้ที่: http://www.thai-cac.com
ที่มาของโครงการ
CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ บทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชน ด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิดและคู่ขนานไปกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT)
โครงการ CAC จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ CAC ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจาก Center for International Private Enterprise หรือ CIPE จากสหรัฐอเมริกา UK Prosperity Fund จากสหราชอาณาจักร และมูลนิธิมั่นพัฒนา โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ