ภาษาไทย มลายู อังกฤษ และจีน กับประชาคมอาเซียน (2)
สารคดีชุด "ภาษาอาเซียน" ตอนที่ 2 นี้ กัณหา แสงรายา เจาะไปที่บทบาทของสาธารณรัฐประชาชนจีนในฐานะ "พี่เบิ้ม" แห่งเอเชีย และย้อนกลับมาพูดถึงความสำคัญของ "ภาษาไทย" ซึ่งมีคนในอาเซียนใช้สื่อสารไม่น้อยเหมือนกัน
จีนกับประชาคมอาเซียน
ภาษาจีนใช้กันมากจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในประเทศต่างๆ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ฯลฯ คนจีนเป็นทั้งผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า พ่อค้าคนกลาง พ่อค้ารายย่อย รวมทั้งเป็นนายหน้า (Broker) กล่าวกันว่า คนจีน (และคนเชื้อสายจีน) มีบทบาทเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว
เราจะเห็นได้ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยที่มีปริมาณการค้าเพิ่มสูงขึ้นทุกปี รวมทั้งมีการเอื้อความสะดวกสำหรับสองฝ่ายมากขึ้นภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.2548-2553 ได้มีการลดภาษีสินค้าระหว่างอาเซียนเดิม 6 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน) กับจีน และในอีก 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2558) สำหรับอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) โดยกำหนดอัตราภาษีปกติลดลงปีสุดท้าย (มี 2 อัตรา) คือ 0 เปอร์เซ็นต์ และ 5 เปอร์เซ็นต์
เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต หลังไทย-จีนเปิดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าของทั้งสองประเทศนับวันยิ่งทวีความสำคัญ โดยเฉพาะหลังจากที่จีนเริ่มนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจในสมัย นายเติ้ง เสี่ยวผิง ในปี ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไทย-จีนเรียกได้ว่าได้พัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ในด้านการค้า มูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีนเพิ่มขึ้นจากปีแรกที่เปิดสัมพันธ์ทางการทูตที่ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 31,062 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2007 (พ.ศ.2550)
ด้านการลงทุน ไทยนับเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้าไปลงทุนในจีนตั้งแต่ ค.ศ. 1979 (พ.ศ.2522) ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 ไทยเป็นประเทศที่อยู่ใน 10 อันดับแรกที่ลงทุนในจีน
ปัจจุบันตัวเลขของทางการจีนระบุว่า ไทยยังคงมีการลงทุนในจีนนับพันโครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมนับพันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่จีนมีการลงทุนในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ทั้งสองประเทศยังได้ตั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจร่วมกันว่า จะเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีให้แตะระดับที่ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้จงได้ ส่วนมูลค่าการลงทุนสองฝ่ายให้แตะระดับที่ 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐให้ได้เช่นกัน
ส่วนทางด้านการท่องเที่ยว ในแต่ละปีคนจีนกับคนไทยไปมาหาสู่กันในรูปของการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี จากปีละไม่กี่แสนคนในแต่ละฝ่ายเป็นปีละนับล้านคน คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ การแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวร่วมกันจะเพิ่มเป็น 4 ล้านคนต่อปี
จึงเป็นที่แน่นอนว่า ภาษาจีนย่อมทวีความสำคัญอย่างมากไม่แพ้ภาษาอังกฤษ
อย่าคิดว่าภาษาไทยไม่สำคัญ
ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันทุกตรอกซอกซอยในประเทศไทย ยังใช้กันในประเทศลาว และกำลังมาแรงในกัมพูชา สำหรับเมียนม่านั้น ปัจจุบันคนพม่านับล้านคนสามารถพูดภาษาไทยได้ จากสาเหตุแรงงานพม่าในไทย การค้าชายแดน บวกกับคนไทยหรือ "พี่ไทย" ในชานสเตท (รัฐฉาน) ซึ่งพูดภาษาไทยสำเนียงเหนืออยู่แล้ว เชื่อว่าอานิสงส์จากการท่องเที่ยวในเมืองสำคัญๆ ของพม่าก็จะมีคนที่พูดภาษาไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้
ภาษาไทยจะเป็นที่นิยมไม่น้อยในเวียดนามอีกเช่นกัน
ในมาเลเซีย ศูนย์ภาษาหรือสถาบันภาษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ล้วนเปิดสอนวิชาภาษาไทย เช่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia) ที่บางี รัฐสลางอร์ และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์มาเลเซีย (Universiti Sains Malaysia) ที่ปีนัง มีการเปิดให้มีการเรียนการสอนภาษาไทยมาหลายสิบปีแล้ว และมีนักศึกษาสนใจเรียนกันอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์มาเลเซีย
ประเทศไทยโชคดีที่ทางด้านภูมิศาสตร์เป็นจุดศูนย์กลางโดยธรรมชาติหรือเป็น “ฮับ” (hub) ของสุวรรณภูมิหรืออินโดจีน ซึ่งทำให้กลายเป็น "ฮับ" (hub) ของอาเซียน โดยเฉพาะด้านการคมนาคม-ขนส่ง การกระจายสินค้า การบริการและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปโดยปริยาย
และที่สำคัญ เนื่องจากลักษณะพิเศษดังกล่าวจึงช่วยไม่ได้ที่ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์สูงสุดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็คือไทย
ปัญหามีอยู่ว่า ทั้งๆ ที่รู้ว่าประเทศไทยมีความสำคัญและภาษาไทยก็ต้องมีความสำคัญตามไปด้วย แต่คนเราก็เหมือนใกล้เกลือกินด่าง หลายคนไม่เอาไหนกับภาษาปู่ย่าตาทวดของตนเอง
คนไทยนี่แหละ พูดไทยมาตั้งแต่เกิด เรียนหนังสือในโรงเรียนก็ใช้ภาษาไทย แม้เรียนภาษาอังกฤษครูก็ยังอุตส่าห์บรรยายด้วยภาษาไทย (หลายคนบ่นว่านี่แหละคือสาเหตุที่ทำให้เยาวชนไทยไม่เก่งภาษาอังกฤษสักที) เวลาติดต่อกับราชการทุกครั้งก็ใช้ภาษาไทยอีก
สรุปแล้วไม่ว่าคนไทยจะพูด จะคิด หรือจะฝัน ก็พูด คิด ฝันเป็นภาษาไทย แต่ก็ใช่ว่าคนไทยจะรู้จักที่มาที่ไปของภาษาที่เรียกกันว่า "ภาษาแม่" ของตนสักกี่มากน้อย เวลาสอบวิชาภาษาไทย นักเรียนหลายคนอารมณ์บ่จอย จำนวนไม่น้อยไม่เก่งและสอบตกวิชาภาษาไทย แถมยอมรับอย่างหน้าตาเฉย
เป็นคนไทย รู้จักภาษาไทยมากขึ้นอีกนิด ไหนๆ ใครๆ ในอาเซียนก็หันมาเรียนภาษาไทย ไม่ว่าลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งมังค่าอีกหลายประเทศทั่วโลกเขากำลังขมีขมันเรียนภาษาไทยจนหูตาแฉะ เจ้าของภาษาเองอย่ายอมเสียศักดิ์ศรีเสียล่ะ
อดีตและปัจจุบันของภาษาไทย
"ภาษาไทย" ที่เราพูดและใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เมื่อย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปแล้ว นักภาษาศาสตร์จัดภาษาไทยเป็นภาษาในกลุ่มภาษาไต-ไท (Tai-Dai languages) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของตระกูลภาษาไท-กะได (Tai Kadai) สันนิษฐานว่า ภาษาในตระกูลนี้มีถิ่นกำเนิดจากทางตอนใต้ของประเทศจีน นักภาษาศาสตร์บางคนเสนอว่า ภาษาไทยน่าจะมีความเชื่อมโยงกับ ตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก (Austro Asiatic) ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน (Austronesian) และตระกูลภาษาจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan)
ล่าสุดนักภาษาศาสตร์จัดภาษาไทยอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ออสโตรนีเซียน (Sino Austronesian) แต่นักภาษาศาสตร์ไทยในประเทศไทยจัดภาษาไทยอยู่ในตระกูลภาษาของตัวเอง คือ ภาษาตระกูลไท
สำหรับ "ภาษาไทย" ซึ่งหมายถึงภาษาไทยมาตรฐานหรือภาษาไทยกลาง ในที่นี้นักปราชญ์ส่วนมากเชื่อว่ามีวิวัฒนาการมาจาก "ภาษาไทยถิ่นอยุธยา" เมื่อหลายร้อยปีก่อน ส่วน "ภาษาไทยถิ่นใต้" จากการศึกษาของ ดร.มาวิน บราวน์ บอกว่ามีวิวัฒนาการมาจากภาษาไทยสาขาสุโขทัย ดร.ประเสริฐ ณ นคร เห็นสอดคล้องกับนักวิชาการกลุ่มหนึ่งว่า ภาษาไทยสุโขทัยมาจากภาษาไทใหญ่ ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉานหรือชานสเตทในสหภาพพม่า
ภาษาไทยกลาง
"ภาษาไทยกลาง" หรือ "ภาษาไทยภาคกลาง" ถือว่าเป็นภาษาไทยมาตรฐานซึ่งใช้กันในวงราชการและถือเป็นภาษาประจำชาติ แม้ว่าภาษาไทยถิ่นต่างๆ ก็มีความสำคัญ แต่ไม่ถือว่าเป็นภาษาราชการ ราชบัณฑิตยสถานก็ดูแล รวบรวมและจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยกลางเป็นหลัก เพราะถือเป็นภาษาไทยมาตรฐาน
นักภาษาศาสตร์เชื่อว่า "ภาษาไทยภาคกลาง" หรือถ้าจะกล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไปก็คือ "ภาษาไทยถิ่นอยุธยา" (Ayutthaya dialect) สืบทอดมาจากภาษาไทสาขาเชียงแสน (กลุ่มภาษาไทใหญ่และไทล้านนา) ต่อมาภาษาไทยถิ่นอยุธยาได้รับอิทธิพลจากนานาภาษาของชาติต่างๆ ที่เข้ามาค้าขายและใกล้ชิดกับราชสำนักฯ ได้แก่ ฝรั่งเศส โปรตุเกส อังกฤษ เปอร์เซีย รวมทั้งจาม-ชวา-มลายู จีนและญี่ปุ่น
ภาษาที่ใช้ในราชสำนักนี้เริ่มแพร่หลายตั้งแต่ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2200 – พ.ศ.2231) ออกไปสู่หัวเมืองภาคกลางกลายเป็น "ภาษาไทยภาคกลาง" (Central Thai) พอถึงสมัยรัตนโกสินทร์ภาษาไทยอยุธยาก็วิวัฒนาการเป็น "ภาษาไทยกรุงเทพฯ" อย่างสมบูรณ์
ภายหลังสงครามกู้ชาติจากพม่าในสมัยธนบุรีและสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ไทยทรงพยายามกระชับอำนาจรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯมากขึ้น "ภาษาไทยกรุงเทพฯ" จึงเป็น "ภาษากลาง" (lingua franca) ในการติดต่อสื่อสารกับหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปมากขึ้นโดยลำดับ การยอมรับ "ภาษาไทยกรุงเทพฯ" ในฐานะ "ภาษากลาง" และ "ภาษาราชการ" มีมากที่สุดตั้งแต่กลางรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงริเริ่มระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง แบ่งหน่วยราชการออกเป็นกระทรวงต่างๆ เมื่อ พ.ศ.2435 โดยทรงโปรดฯ ให้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ดูแลจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ยกเลิกการปกครองแบบพระยาเมือง (หัวเมืองประเทศราชทั้งหมด) ได้เป็นผลสำเร็จตั้งแต่ พ.ศ.2437 - พ.ศ.2449 โดยทรงใช้เวลาประมาณ 12 ปี
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คณะรัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนของ "คณะราษฎร" ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2476 มีผลให้ "ภาษาไทยกลาง" กลายเป็น "ภาษากลาง" (lingua franca) และ "ภาษาประจำชาติ" (national language) ของไทยทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยอย่างแท้จริงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงราวปลายปี พ.ศ.2488 ด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา บทบาทของสหรัฐอเมริกาบนเวทีโลกเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง วิชาการและวัฒนธรรม ทำให้ภาษาไทยได้รับเอาวงศัพท์ภาษาอังกฤษเข้ามาใช้จำนวนมาก โดยเฉพาะศัพท์แสงทางการทหาร การเมือง การปกครอง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา และวัฒนธรรม ฯลฯ จนกระทั่งทางราชบัณฑิตยสถานต้องบัญญัติศัพท์ภาษาไทยขึ้นเทียบใช้ เพื่อให้รองรับความคลี่คลายขยายตัวของสังคมแห่งชาติที่เปลี่ยนแปลงก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเพื่อสร้างมาตรฐานให้กับภาษาไทยในฐานะ "ภาษาประจำชาติ" ของชาวไทยทุกคน
ภาษาไทยปัจจุบันจึงสามารถทำหน้าที่ในการ "สื่อสาร" ได้อย่างกว้างขวางครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคมและวิถีชีวิตของปัจเจกชนชาวไทย ไม่ว่าในฐานะที่เป็นหน่วยหนึ่งของสังคมประเทศชาติหรือสังคมนานาชาติ โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ (globalization) ซึ่งองค์คุณของมันกำลังพุ่งมาปะทะชาวไทยอย่างจังในปัจจุบันนี้ และในอนาคต ที่แน่ๆ ก็คือ "ประชาคมอาเซียน" (Asean Community) ในปี 2558 นี้!
ภาษาไทยถิ่นต่างๆ ภาษาไทยกลาง และภาษาราชการ (ภาษากลาง)
มีรายงานว่า ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีราวกลางพุทธทศวรรษที่ 2500 คนไทยที่ใช้ภาษาไทยภาคกลาง (หรือภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ) มีประมาณ 32% ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น ในขณะที่ชาวอีสาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ซึ่งใช้ภาษาไท-ลาวมีจำนวนถึง 30% และหากนับรวมกับประชากรในประเทศลาวที่พูดภาษาเดียวกันด้วย ก็มีคนใช้ "ภาษาไท-ลาว" หรือที่พวกเขาเรียกว่า "ภาษาลาว" มากกว่าประชากรที่พูด "ภาษาไทย (ภาคกลาง)" เสียอีก
นี่ยังไม่นับที่ทางภาคเหนือใช้ "ภาษาไทเหนือ" หรือ "คำเมือง" (ซึ่งใกล้เคียงกับภาษาไท-ลาว ภาษาเงี้ยว หรือภาษาไทใหญ่ในรัฐฉานของพม่า ภาษาไตลื้อในสิบสองปันนาของจีน) อีกนับล้านคน และทางภาคใต้ของประเทศไทย (มีประชากรราว 12.2%) ซึ่งพูด "ภาษาไท-ใต้" หรือ "แหลงต้าย" (ซึ่งมีความสัมพันธ์กับภาษาไท-สุโขทัย โดยเฉพาะเสียงวรรณยุกต์ดังที่ปรากฏในจารึกสุโขทัยหลักที่ 1) รวมกันทั้งหมดอีกประมาณ 35%
-----------------(โปรดติดตามต่อตอนที่ 3) ------------------
หมายเหตุ :
-คำว่า ไต/ไท Tai/Dai หมายถึงไทยทั้งในและนอกประเทศไทยทุกเผ่า
- การสะกดคงตามต้นฉบับเดิม
บรรยายภาพ :
1 แผนที่รัฐฉานจาก http://prachatai.com/journal/2009/08/25436
2 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
3 ศิลาจารึกหลักที่ 1 (พ่อขุนรามคำแหง)