กสทช.ผนึก มธ.ทำระบบข้อมูลตรวจจับใบหน้าผ่านวงจรปิด
สำนักงาน กสทช. ชูความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ผนึก มธ. ทำระบบจัดเก็บข้อมูลตรวจจับใบหน้าผ่านกล้องวงจรปิด นำร่องจ.สระแก้ว หวังใช้นวัตกรรมลดปัญหาสังคม
พล.อ.อ. ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาด้านความมั่นคงและความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงปัญหาอาชญากรรมได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้หลายประเทศนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการป้องกันภัยต่าง ๆ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จึงร่วมกับสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยโครงการสร้างพื้นฐานอัจฉริยะเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ หรือ Smart Infrastructure for Public Safety (SIPS) เป็นการเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ผ่านกล้องวงจรปิดด้วยระบบตรวจจับ และจดจำใบหน้า ซึ่งที่ผ่านมาระบบกล้องวงจรปิดแต่ละชนิดจะไม่สามารถเชื่อมข้อมูลถึงกัน และดูได้เพียงภาพในกล้อง แต่ไม่มีการแจ้งเตือนอัตลักษณ์ของบุคคล
“การทำงานของระบบ SIPS จะบันทึกอัตลักษณ์ของบุคคล หรือวัตถุโดยอัตโนมัติ เช่น หากมีบุคคลแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่ ระบบจะตรวจจับความผิดปกติ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นผู้ต้องสงสัย ก่อนแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันเหตุร้ายได้ทันท่วงที ผมเชื่อว่าระบบนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานได้ง่ายขึ้น หากเกิดเหตุความมั่นคง และสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชนได้ในระดับหนึ่ง” พล.อ.อ.ธเรศ กล่าว
พล.อ.อ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรคลองลึก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โรงพยาบาลอรัญประเทศ กรมทหารพรานที่ 12 ค่ายทหารพรานสระแก้ว และโรงพยาบาลค่ายสุรสิงหนาท สาเหตุที่เลือกพื้นที่ในจังหวัดสระแก้วทั้งหมด เนื่องจากเป็นพื้นที่ชายแดนด้านตะวันออกของประเทศ มีผู้ที่เดินทางเข้าออกระหว่างประเทศในแต่ละวันจำนวนมาก และยังเป็นพื้นที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจ
สำหรับพื้นที่ต่อไปที่จะนำระบบ SIPS ไปใช้ คือ จังหวัดปัตตานี ซึ่งถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีกล้องวงจรปิดติดตั้งตามสถานที่ต่าง ๆ จำนวนมาก และถือเป็นพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ภาครัฐต้องการให้เกิดความมั่นคง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี