นักวิชาการถก “เขื่อนโขง” สร้าง-ไม่สร้าง ข้อมูลต้องแน่น ประชาชนตัดสินใจไม่ใช่รัฐ
เวทีวิชาการถกโครงการผลิตไฟฟ้าลุ่มน้ำโขง วิศวกรน้ำชี้เขื่อนไม่เลวร้าย ชาวบ้านต้านเพราะติดภาพโครงการรัฐในอดีตไร้การเยียวยา สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยบอกค้านเขื่อนจุดประเด็นจากเอ็นจีโอ ถ้าข้อมูลแน่นตอบคำถามสังคมได้ว่าควรสร้างหรือไม่ ดร.สันต์ ฟันธงเขื่อนโขงบั่นทอนวิถีชุมชนข้ามพรมแดน การตัดสินใจต้องเป็นของคนทั้งประเทศ
เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ศึกษาสันติวิธีและความขัดแย้ง ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายจุฬานานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดบรรยาย “การบริโภคพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยกับประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” โดย ดร.สมฤดี นิโครวัฒนยิ่งยง ผู้อำนวยการอาวุโสสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า มองโดยรวมประเด็นคัดค้านการสร้างเขื่อนมักเกิดขึ้นโดยเอ็นจีโอ ซึ่งตนมองว่าเอ็นจีโอไม่ใช่ไม่เอาเขื่อน เพียงแต่ยังไม่พอใจระบบบริหารจัดการที่สร้างปัญหาเหมือนในหลายประเทศ
“ปัญหาสำคัญของไทยคือโครงการพัฒนาไปไกลและเร็วกว่าการพัฒนาด้านสังคมสิ่งแวดล้อม การตัดสินใจสร้างหรือค้าน ควรนำกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง ผลกระทบ ประโยชน์ทุกมิติชัดเจน เพื่อลดปัญหาการโต้แย้ง ที่สำคัญคือต้องตอบคำถามสำคัญให้ได้ว่าจะใช้เขื่อนเพื่อการพัฒนาด้านใดและระดับไหนบ้าง”
รศ.ชัยยุทธ สุขศรี หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาตามโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีความคาบเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและมีผลกระทบข้ามพรมแดน จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรศึกษาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ โดยเฉพาะผลที่เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่ ปัญหาสำคัญคือชาวบ้านเคยได้รับผลพวงจากโครงการพัฒนาในอดีตที่ขาดกระบวนการที่ดี ทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบ ทรัพยากรถูกทำลาย ทำให้ไม่ไว้ใจโครงการพัฒนาต่างๆของรัฐและต่อต้านในที่สุด จึงจำเป็นต้องสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดข้อมูลรอบด้านถึงประโยชน์ โทษ และกำหนดมาตรการดูแลผลกระทบที่ชัดเจน ทั้งนี้เป็นบทบาทที่สำคัญของนักวิชาการและสถาบันการศึกษา
“ต้องยอมรับว่าเขื่อนไม่ใช่สิ่งเลวร้ายที่สุด ที่ผ่านมาเรามองเฉพาะบทเรียนที่ไม่ดี เช่น กรณีของเขื่อนปากมูล ทั้งที่ความจริงเป็นปัญหาที่วิธีและเทคนิคการจัดการ ส่วนตัวยังเห็นว่าน้ำมีมิติทางกายภาพที่จำกัดการตัดสินใจ เพราะไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ถ้าไม่มีเขื่อนกักเก็บไว้ก็ต้องปล่อยให้ทิ้งไปโดยไร้ประโยชน์”
ด้าน ดร.สันต์ สัมปัตตะวนิช คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาการตัดสินใจดำเนินโครงการพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐหรือทุน แต่ต้องหมายรวมถึงทุกคนในประเทศ จึงไม่ควรมีเพียงโมเดลระยะสั้นที่อ้างแค่การพัฒนาประเทศ แต่ต้องมองถึงผลกระทบระยะยาวที่เกิดกับชาวบ้าน
“สมมติว่าเขื่อนเกิดขึ้น แน่นอนว่าระยะสั้นอาจทำให้ความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น แต่ถ้าไม่มีมาตรการดูแลอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านต้องได้รับผลกระทบแน่นอน วิถีชีวิตเปลี่ยน อาชีพการงานเปลี่ยน รัฐบาลอาจต้องสร้างทางเลือกให้เขามากขึ้น ไม่ใช่มองแค่โมเดลสั้น”
ดร.สันต์ กล่าวว่า โครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นเรื่องสำคัญเพราะ เพราะไม่เพียงกระทบวิถีชุมชนในประเทศไทย แต่ยังรวมถึงวิถีชุมชนระหว่างพรมแดนหรือชาวบ้านในประเทศเพื่อนบ้านด้วย หากมองเชิงนโยบายรัฐบาลต้องวางแผนกำหนดทิศทางให้ชัดว่าต้องการให้ประเทศพัฒนาไปทางใด ระหว่างอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้พลังงานต้องใช้ไฟฟ้ามา ซึ่งชุมชนยังไม่ยอมรับ กับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานน้อย .