'โฆษก พม.' รับ “กม.คุมกิ๊ก” อยู่ระหว่างการพิจารณาใน สนช.
โฆษก พม.รับ “กฎหมายคุมกิ๊ก” อยู่ระหว่างการพิจารณาใน สนช. ภายใต้ชื่อ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ. ... มี 'กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว' เป็นหน่วยงานยกร่าง เผย ครม.รับหลักการไปตั้งแต่ 24 ม.ค.ปีที่แล้ว ระบุ เพื่อคุ้มครองเยียวยาภาวะของภริยาที่ถูกคู่ของตนทำร้าย ส่วน “14 องค์กรผู้หญิง” เคยเสนอรื้อกฎหมายเหตุมีปัญหาเยอะ
เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2560 มีรายงานจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่า นายณรงค์ คงคำ โฆษกกระทรวง พม. ออกมาระบุว่า ขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ. ... ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้จัดทำ เพื่อใช้แทนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
“การมีกิ๊ก อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนทางจิตใจ และเป็นเหตุให้เกิดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง เข้าข่ายความรุนแรงในครอบครัว โดยถือว่าการกระทำใด ๆ ของบุคคลในครอบครัวโดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายหรือน่าจะเกิดอันตรายแก่จิตใจ ดังนั้น ร่างพ.ร.บ. จึงกำหนดให้มีการคุ้มครองเยียวยาผู้ถูกกระทำซ้ำจนได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรงจนกลายเป็นผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเสียเองโดยใช้หลักภาวะของผู้หญิงที่ถูกคู่ของตนทำร้าย (Battered Woman Syndrome) หรือ ภาวะของภริยาที่ถูกคู่ของตนทำร้าย (Battered Wife Syndrome)" นายณรงค์ กล่าว
มีรายงานว่า แม้เมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จะออกมาปฏิเสธว่าเป็นเพียงการพูดเล่นกับชาวบ้าน เนื่องจากเห็นว่าตอนนั้นแม่บ้านเริ่มจะง่วงนอน แต่สื่อกลับเอาเรื่องพูดเล่นไปออกข่าวพร้อมกล่าวว่า ตนเองเป็นคนตลก ร่าเริง แล้วก็ใจดี ไม่อยากให้คนมาฟังตนพูดยาวๆ ง่วง
“อย่ามัวแต่สนใจข่าวดาราจะรักจะเลิกกัน ไม่ได้เกี่ยวกันเลย อยากให้เขากลับมาคืนดีกัน แต่ตัวเองผัวยังทิ้งอยู่เลย ใครผัวทิ้งมาบอกผม เรื่องนี้ผิดกฎหมายไม่ได้ กฎหมายให้มีเมียเดียว จะมีกิ๊กก็ไม่ได้ กฎหมายกำลังออก” ประโยคที่นายกฯ กล่าวระหว่างพบปะประชาชนในช่วงการประชุมครม.สัญจร ที่ จ.นครราชสีมา
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวง พม. ยังย้ำว่า เดิมประเทศไทยมีการออกพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 แต่ภาครัฐคิดว่ายังไม่เพียงพอ จึงมีการพัฒนาและยกร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ. .... เพื่อคุมครองการถูกกระทำความรุนแรงทางด้านจิตใจของคนในครอบครัวด้วย อาทิ การกระทำด้วยวาจา การนอกใจคู่สมรส เป็นต้น ที่มีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. เป็นเจ้าพนักงานรับเรื่องร้องทุกข์ และสอบข้อเท็จจริงว่ามีมูลหรือไม่ หากมีมูลก็จะทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป
มีรายงานว่า ร่างฉบับดังกล่าว คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2559 มีสาระสำคัญคือ ยกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวพ.ศ. 2550 ทั้งฉบับ และยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ. .... ขึ้นแทน เพื่อ แก้ไขปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ กำหนดแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัว การให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว การบำบัดฟื้นฟู และวิธีปฏิบัติต่อบุคคลในครอบครัว รวมทั้งกำหนดมาตรการทางสังคมเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว ตลอดจนมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพ
ทั้งนี้ เบื้องต้นร่างพ.ร.บ.จะครอบคลุมสามี ภรรยา ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แต่อาจจะมีการเปิดเพิ่มให้ดูแลคู่สามี ภรรยาทางพฤตินัยด้วยก็ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับบางศาสนาที่อนุญาตให้สามีสามารถมีภรรยาได้หลายคนนั้นจะได้รับการยกเว้นตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เบื้องต้นกฎหมายนี้เจตนารมณ์เพื่อเป็นการป้องปรามมากกว่า สำหรับการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายโดยตรง หรือการทำร้ายด้านจิตใจซึ่งอาจจะนำสู่การทำความรุนแรงทางร่างกายต่อไปนั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มีรายงานด้วยว่า อย่างไรก็ตาม กฎหมายลักษณะนี้ มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ระบุว่า ความรุนแรงในครอบครัว หมายถึง การกระทำใด ๆโดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพหรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจหรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดทำนองคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ
"ดังนั้นกรณีที่ผู้หญิงและผู้ชายถูกสามีหรือภรรยาตัวเองนอกใจ โดยไม่เต็มใจย่อมถือเป็นการทำร้ายจิตใจด้วยสามารถใช้สิทธิ์ฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายนี้ได้ โดยโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับโดยสำนักงานกิจการสตรีฯจะเร่งหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อกำหนดนิยามของความรุนแรงด้านจิตใจให้ชัดเจนว่าต้องมีระดับความรุนแรงอย่างไรหรือส่งผลกระทบกับผู้ถูกกระทำมากน้อยเพียงใด จึงจะเข้าข่ายตามกฎหมายนี้"
มีรายงานด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ และเครือข่ายองค์กรที่ทำงานป้องกันแก้ไขความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ประกอบด้วย สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม มูลนิธิพิทักษ์สตรีและเด็ก สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย และมูลนิธิผู้หญิง ได้จัดทำข้อเสนอมาถึงกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว โดยระบุถึงปัญหาและอุปสรรคจากการที่ไม่มีกระบวนการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวตามหลัก Family Life Cycle
ล่าสุด เมื่อ 10 ส.ค.2560 เครือข่ายองค์กรป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และ 14 องค์กร เช่น สมาคมเพศวิถีศึกษา มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ฯลฯ ได้เสนอ สนช. ให้รื้อ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ... บางมาตราขัดต่อ “อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ” ของสหประชาชาติ ที่รัฐบาลไทยเป็นภาคีอยู่ แถมยังขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่ระบุว่า การออกกฎหมายใหม่ต้องมีกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและทั่วถึง
มีรายงานด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ... ยังไม่มีการบรรจุเข้าระเบียบวาระของ สนช.แต่อย่างใด