“วิถีคนกับป่า ปะทะ พืชเชิงเดี่ยว” จากต้นน้ำอุ้งผาง สะเทือนถึงอ่าวแม่กลอง
คนและป่าอุ้มผาง กำลังถูกท้าทายจากพืชเชิงเดี่ยว และสิ่งที่เรียกว่าความเจริญจากภายนอก “เครือข่ายต้นทะเล” เป็นการรวมตัวเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำชั้นเลิศ และยืนหยัดไว้ซึ่งวิถีความเชื่อว่า “ป่าอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้
..............................
“ต้นทะเลอยู่ที่อุ้มผางบ้านเรา เกี่ยวข้องกับคนกลางน้ำปลายน้ำ ปลาทูแม่กลองอร่อยเพราะสารอาหารสมบูรณ์จากบ้านเรา หากข้าวโพดเข้ามาก็พาสารเคมีมาด้วย พื้นที่นี้ยังไม่ถูกรุกจากไร่ข้าวโพด เพราะเอาข้าวเป็นตัวตั้ง” ต้นทะเลนี้คือพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1A ในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ต้นกำเนิดแม่น้ำแม่กลอง
ลุงสมหมาย ทรัพย์รังสิตกุล ปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงฤาษี ผู้นำเครือข่ายต้นทะเล ตอบคำถามกลับอย่างรวดเร็ว เมื่อมีคนถามถึงสาเหตุการบุกรุกทำลายป่า ว่า“เราอยู่ต้นน้ำ เรายอมรับว่าทำลายป่า แต่ก็เพื่อทำกิน เรามีที่ดินทำกินกันสูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ เมื่อก่อนทำไร่หมุนเวียน 3 ปีเราหมุนกลับมาทำแปลงเดิม สภาพดินต้นไม้อุดมสมบูรณ์ เดี๋ยวนี้ต้นไม้ ดินยังไม่ฟื้นเลยไผ่ตายสนิท ต่างจากเมื่อก่อนยังไม่ทันเกี่ยวข้าวก็มีหน่อไม้ให้กินเยอะมาก ตอนนี้ไม่มีแล้ว เมื่อก่อนปีนึงขี้ไส้เดือนกองเป็นภูเขา เดี๋ยวนี้ใช้สารเคมี ไม่มีไส้เดือนเลย”
ลุงสมหมาย ให้ข้อคิดต่อ “ถ้าเรื่องสารเคมี เราไม่ได้ทำใครเป็นคนทำ ไร่ข้าวโพดสักผืนทำเสร็จแล้วใครจะซื้อ ลงทุนไร่ข้าวโพดผืนหนึ่งลงทุนเป็นแสน คนกะเหรี่ยงที่นี่มีเงินลงทุนไหม เงินแสนก็มาจากคนข้างล่าง ยิ่งมีลูกไร่เยอะยิ่งได้เงินเยอะ หมายความว่าคนในเมืองทำลายป่ามากกว่า หรือคนในป่าทำลายมากกว่ากัน”
“ป่าอยู่ได้คนจึงอยู่ได้” : “ป่าชุมชนแม่กลองใหม่” มิติเศรษฐกิจดับไฟป่า
ป้ายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง บ่งบอกว่าที่นี่เป็นดินแดนแห่งความผาสุกของสัตว์ป่าและมหาชน นายมงคล คำสุข หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ให้ข้อมูลว่าเขตรักษาพันธุ์มีพื้นที่ 1,619,280 ไร่ และพื้นที่ป่าสงวนอีก 317,324 ไร่ คนอาศัยในเขตฯ 1,526 ครัวเรือน 7,772 คน และรอบแนวเขต 2,120 ครัวเรือน 12,149 คน
“ปัญหาการทำลายทรัพยากรเกิดจากมนุษย์ แต่มนุษย์อยู่ได้ท่ามกลางความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เราต้องให้ความสำคัญกับขบวนการมีส่วนร่วมคือการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการทำงานของเขตฯนี้ จึงร่วมมือกับมูลนิธิสืบฯ ทำโครงการต่างๆอย่างอนุรักษ์หมู่บ้านในเขตฯ 27 ชุมชนที่ “หนึ่งบ้านสัตว์ป่า หนึ่งวังปลา หนึ่งป่าชุมชน”ปัจจุบันมีชุมชนร่วมจัดทำวังปลา 30 แห่ง ร่วมสำรวจแนวเขตป่าชุมชนกับชาวบ้าน 8 แห่ง อย่างป่าชุมชนบ้านแม่กลองใหม่ ที่เศษใบไม้ใบตองตึงสามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน ปี 54 ได้ถึง120,000 บาท
นายสมคิด อินตา ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 บ้านแม่กลองใหม่ เล่าว่าป่า “ชุมชนบ้านแม่กลองใหม่” เกิดจากการปรับทุกข์ผูกมิตรทำความเข้าใจเรื่องการจัดการป่าชุมชน จนประชุมตั้งกฏกติกา เป็นต้นว่าไม้ที่ใช้ได้คือไม้ล้มหมอนนอนไพร สมุนไพรห้ามเพื่อการค้า ฯลฯ และตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน ออกสำรวจจับพิกัด GPS นำมาทำแผนที่ GIS จัดทำป้ายแนวเขต และเดินลาดตระเวณร่วมกับเจ้าหน้าที่
“ประโยชน์ที่เราได้จากป่าชุมชนพื้นที่ 1,790 ไร่ มีแหล่งน้ำซึมน้ำซับ 7 แห่ง ใช้ประโยชน์ร่วมกันใน 3 หมู่บ้าน นอกจากไม้ใช้สอย และอาหารการกินอย่าง หน่อไม้ หรือเห็ดแล้ว ใบจากต้นตองตึงสามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้ถึงปีละ 120,000 บาท นำมาทำเป็นตับมุงหลังคาจะมีความทนทานอยู่ได้ 4-5 ปี กระท่อมที่มุงด้วยใบตองตึงอยู่สบายไม่ร้อนกลมกลืนกับธรรมชาติเมื่อผุพังก็ย่อยสลายไม่ก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม”
ผู้ใหญ่บอกว่า แม้ปีนี้จะ “เอาไฟป่าไม่อยู่” แต่ที่นี่ไม่เคยกลัวไฟป่า ชาวบ้านทุกคนมาช่วยกันทำแนวกันไฟ เพราะต่างคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วม สินทรัพย์ที่ได้จากป่า เป็นการใช้มิติเศรษฐกิจดับไฟป่า
ผ้าทอกี่เอวแลกข้าว และ ตลาดสดต้นทะเลที่ไม่ได้มีไว้ขาย
“กุยเล่อตอ” ภาษากะเหรี่ยงคือ “วังหินตั้ง” ปัจจุบันเป็นเขตอนุรักษ์วังปลาใกล้หมู่บ้าน ห้ามทำการล่าปลา ในช่วงมีนาคมของทุกปีจะมีปรากฏการณ์ปลาตะพาบปากหนวดมาวางไข่ขึ้นเต็มลำห้วย ซึ่งคนที่นี่ร่วมกันอนุรักษ์ดูแลอย่างดี “บ้านกุยเล่อตอ” ยังมีองค์กรชุมชน กลุ่มสตรีทอผ้าย้อมสีธรรมชาติทำผ้าทอกี่เอวดั้งเดิม
ผ้าทอกี่เอว ทำยากแต่มากคุณค่า กว่าจะเป็นผ้าสักผืน คนปกาเกอะญอต้องปลูกฝ้าย 1 ฤดูกาลใช้เวลา 1 ปี เมื่อเก็บผลผลิตได้ก็มาอีดฝ้ายคือเอาเมล็ดออก ตามด้วยการตี หลังจากได้ที่ก็ดึงฝ้าย จากนั้นนำไปย้อม สีที่ใช้มาจากธรรมชาติ อย่างเปลือกประดู่ผสมน้ำปูนจะให้สีน้ำตาล หรือเปลือกมะม่วงกับสารส้มจะได้สีเขียว เมื่อผ่านขั้นตอนการย้อมด้ายก็จะนำมาม้วน จบลงด้วยการขึ้นด้าย ถึงจะทอได้ ปัจจุบันเส้นด้ายซื้อได้จากภายนอก
ซึ่งในการทอผ้าจะมีประเพณีข้อห้ามต่างๆ เช่น การขึ้นด้ายต้องทำให้เสร็จในวันนั้น ห้ามทอผ้าในวันที่มีคนเสียชีวิต และการรักษาลวดลายก็มีการสืบทอดต่อรุ่น ผ้าที่ได้จากการทอนอกจากไว้ใส่ในครอบครัว ยังแลกพริกกับเกลือและข้าว จากกองทุนกลางของชุมชนได้ หาก ไม่นําไปแลกข้าวบรรดาผู้นําหญิงจะรวบรวมผ้าทอนําไปขายนํารายได้มาเลี้ยงครอบครัว โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นสื่อกลางรับซื้อและส่งเสริม
ตลาดพืชผักสวนครัวรวมปลอดสารพิษ ที่มีไว้แบ่งปันไม่ต้องใช้เงินซื้อกิน เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีทุกอย่าง เกิดจากความร่วมแรงใจของสมาชิกเครือข่ายต้นทะเลที่ช่วยกันเพาะปลูก ดูแล และช่วยกันกิน
ประวัติ ศรีกนกสายชล สมาชิกเครือข่ายต้นทะเล ผู้พลิกผืนดินตนเองเป็นสวนเกษตร 4 ชั้น ให้กลับมามีความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ไม้ เป็นแหล่งเรียนรู้ของสมาชิกเครือข่าย มีสถานที่สำหรับประชุม โดยแบ่งพื้นที่บางส่วนเป็นแปลงผักไว้สำหรับสมาชิกจะมาปลูกพืชผักสมุนไพรไว้กินร่วมกัน เขาเล่าถึงเครือข่ายว่า….
“เรายึดความสามัคคีเป็นผู้นำ ข้าวมีป่าสวย เงินมีป่าหมด ผิวดินบริสุทธิ์ ถูกมนุษย์ทำลาย เรารักษาป่าเพื่อความรู้ พึ่งตนเองเพื่อลูกหลาน รักป่าเหมือนรักชีวิต ทำลายป่าเหมือนฆ่าตัวตาย”
“มาบุโค๊ะ” สืบสานประเพณี เพื่อรักษาวิถีชุมชน
“มอทะ” แปลว่า “สบห้วยโป่ง” เป็นศูนย์กลางเพอเจะที่นำโดยลุงพินิจพ่อปู่ที่ได้รับมอบหมายจากฤาษีให้สืบทอดต่อประเพณีกับลูกหลานให้ยึดมั่นวิถีของกะเหรี่ยงฤาษี วิถีการอนุรักษ์ผืนป่าอุ้มผาง ศรัทธาความเชื่อที่เคารพธรรมชาติ งานปีใหม่ทุกปี เพอเจะชาวปกากะญอตลอดจนสายแม่จันจะมาเข้าร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง
“พิธีมาบุ๊โคะ” หรือ บาโคะ คือการทำบุญไหว้เจดีย์ เป็นบุญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยงฤาษีที่บ้านมอทะ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง ปีนี้จัดระหว่าง 29 กุมภาพันธ์-8 มีนาคม ที่ผ่านมา พิธีกรรมศักดิ์สิทธินี้เป็นการสานต่อมิติวัฒนธรรมในการดูแลรักษาป่า ดิน น้ำ ฟ้า เคารพธรรมชาติ เช่นกันในปีนี้เจดีย์องค์ใหม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากการรวมพลังมุ่งมั่นรักษาธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าธรรมชาติจะกลับมาดูแลพี่น้องอุ้มผางที่นี่
ฤาษีคือคนรักษาป่า พิธีกรรมไหว้เจดีย์ ดูแลผืนแผ่นดิน ต้นน้ำ ป่าไม้ สายน้ำ อากาศ เป็นพิธีกรรมทางจิตวิญญาณที่เคารพธรรมชาติ และขอพรให้ทุกสรรพสิ่งบนโลกอยู่เย็นเป็นสุขยึดโยงกับธรรมชาติ ทำบุญให้เจ้าป่าเจ้าเขาเจ้าที่เจ้าทาง ด้วความเชื่อว่าป่าอยู่ได้คนอยู่ได้ ขอบคุณธรรมชาติที่ดูแล และดูแลธรรมชาติด้วย
ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เล่าวว่า พืชเชิงเดี่ยวที่กำลังบุกรุกเข้ามาตลอดเวลาจนเหลือเพียงไม่กี่แห่งที่ข้าวโพดยังเข้าไม่ได้เข้ามา พอข้าวโพดเข้ามา ภาวะของการอยู่กินจะเปลี่ยนไปหมด ไม่ต้องไหว้พระแม่ธรณี ไม่ต้องทำอะไร ทำให้คนขาดความเคารพต่อธรรมชาติ สภาพชุมชนต่างคนต่างอยู่
แต่ที่บ้านมอทะ กำลังพยายามรักษาฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมดีงามของบรรพบุรุษ การไหว้เจดีย์ การค้ำต้นโพธิ์ การถือฤาษี คือความเชื่อที่จะปฏิบัติตัวให้ดี กินเจถือศีลไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นในวันพระ มีศีลมีธรรม เป็นสิ่งโน้มนำจิตใจผู้คนให้เคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่อธรรมชาติ ซึ่งนับวันก็จะเลือนไป
“พิธีกรรมที่บ้านมอทะทำขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆได้มาร่วมพิธี ซึ่งที่อื่นๆไม่มีแล้ว ปู่พจน์พยายามถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อๆไป แต่ถนนและพืชเชิงเดี่ยวก็จ่อเข้ามาทุกทีแล้ว ไม่รู้จะสกัดกั้นความเปลี่ยนแปลงได้อีกนานแค่ไหน ปัจจุบันเด็กในชุมชนก็ออกไปเรียนข้างนอก นำเอาเรื่องข้างนอกเข้ามา ทำให้เกิดการปะทะทางความเชื่อที่เคารพต่อธรรมชาติ ศีลธรรม มูลนิธิสืบฯทำงานต่อเนื่องมา 7-8 ปี เห็นความเปลี่ยนแปลง วันนี้โลกาภิวัฒน์กำลังมาเยือนคนที่นี่ ไม่รู้ว่าเสาไม้ไผ่เหล่านี้จะสู้ได้อีกนานแค่ไหน”
………………
กะเหรี่ยงฤาษีวิถีวัฒนธรรม พิธีกรรม ความเชื่อ การอยู่ร่วมระหว่างคนกับป่า ชะตาของผู้คนต้นน้ำปราการด่านสุดท้ายของป่าอุ้มผางกำลังถูกท้าทายจากพืชเชิงเดี่ยวและสิ่งที่เรียกว่าความเจริญจากภายนอก พวกเขากำลังร่วมกันต้านทาน แต่หากอุ้มผางต้องเปลี่ยน จะสะท้านถึงอ่าวแม่กลอง .